ในโลกธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนก่อให้เกิดกระแสดิสรัปชั่น (Disruption) ที่เรียกร้องให้องค์กรต่างๆ ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองในทุกด้านเพื่ออยู่รอดในสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป
และหนึ่งในด้านสำคัญที่จำเป็นต้องปรับตัวตามมากที่สุด คือ ด้านการตลาด (Marketing) ที่มีความอ่อนไหวต่อทั้งเทคโนโลยี สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ อีกทั้งการสลับสับเปลี่ยนของพฤติกรรมผู้บริโภค
ซึ่งทำให้ผู้ทำงานด้านการตลาดกลายเป็นหนึ่งในสายอาชีพที่เรียกร้องความสามารถในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาทักษะของตนเองให้สอดรับกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วเหล่านี้ตลอดเวลา
จากการวิเคราะห์ของนิตยสาร Forbes พบว่า ภายในปี 2023 ผู้ที่ทำงานด้านการตลาด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระดับบริหารและผู้นำในด้านนี้ขององค์กรจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ เช่น พฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นกว่าเดิม ความเลือนลางของเส้นแบ่งประสบการณ์ของผู้บริโภคในโลกจริงและโลกเสมือนจริง หรือแม้แต่พัฒนาการอันก้าวกระโดดของระบบปัญญาประดิษฐ์
ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของทาง Gartner ที่ออกมาเผยว่าปี 2023 นี้จะเป็นช่วงเวลาที่พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคผันผวนจนแทบคาดเดาไม่ได้
สิ่งต่างๆ เหล่านี้เรียกร้องให้เกิดการคิดใหม่และลงมือทำใหม่ในผู้บริหารและผู้นำด้านการตลาด ที่ต้องก้าวขาขึ้นมาเป็นด่านหน้าในการเผชิญกับโลกของธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเริ่มต้นติดอาวุธและเสริมทักษะด้านการตลาดของตัวเองจึงต้องทำอย่างเร่งด่วน
เพื่อไม่พลาดที่จะดำรงอยู่ในยุคสมัยที่ทุกบริษัทต่างต้องการผู้นำด้านการตลาดยุคใหม่ หรือ Next-Gen Marketing Leader
6 เทรนด์การตลาดที่ผู้บริหารการตลาดต้องรู้และเข้าใจหากไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
-
Speed over perfection – ความเร็วต้องมาก่อนความสมบูรณ์แบบ
ความรู้เรื่องการตลาดในโลกปัจจุบันมีอยู่อย่างมหาศาล ทำให้นักการตลาดหลายคนประสบปัญหากับขั้นตอนและกระบวนการเลือกหยิบใช้ความรู้เหล่านี้ส่งผลให้การลงมือทำช้าลงไป และไม่สอดคล้องกับโลกของการตลาดยุคปัจจุบันที่เรียกร้องการทำงานให้รวดเร็วมากกว่าการทำงานให้สมบูรณ์แบบ
โดยมีปัจจัยสำคัญที่ภูมิทัศน์ของสื่อ ช่องทางการขาย และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างสำคัญคือ การเผยแพร่แคมเปญในยุคก่อนหน้านี้ที่ต้องใช้เวลาหลักปีในการทำให้สำเร็จ แต่ในยุคปัจจุบันกลับใช้เวลาเพียงหลักอาทิตย์หรือแค่หลักวันเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนให้เห็นวิถีการทำงานของนักการตลาดยุคใหม่ที่ต้องให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ทันต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยความเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง
-
Become the customer-centric organization – องค์กรยุคใหม่ต้องให้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง
องค์กรยุคปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยนตัวเองสู่การมีลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการกำหนดทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้า รวมถึงมองพฤติกรรมลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเลือกสร้างผลิตภัณฑ์ใดๆ ขึ้นมา โดยไม่จำกัดความถนัดไว้เพียงอุตสาหกรรมเดิมที่ตนอยู่เหมือนก่อนหน้านี้
สำหรับนักการตลาดที่หน้าที่หลักคือการสร้างความต้องการ (Demand) ให้เกิดขึ้นในกลุ่มลูกค้า จึงต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจวิธีคิดและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และปรับกลยุทธ์รวมถึงกิจกรรมทางการตลาดให้เท่าทันกับสิ่งเหล่านี้
-
Transformation begins with the small things – จะเริ่มทรานส์ฟอร์ม ไม่จำเป็นต้องทำใหญ่
หลายคนอาจมองว่าการทรานส์ฟอร์มองค์กรต้องเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ใหญ่ แต่ในความเป็นจริงสิ่งนี้สามารถเริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ได้ โดยในองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งเลือกใช้วิธีการแยกแบรนด์ย่อยออกมาเพื่อทดลองค้นหาน่านน้ำใหม่ๆ
เและสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ที่จะมาตอบโจทย์ในการขยายและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับบริษัท นักการตลาดซึ่งถือเป็นสายงานที่อยู่ส่วนหน้าของการเปลี่ยนแปลง จึงต้องมีความพร้อมรับมือการทรานส์ฟอร์มที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะเราไม่มีทางทำวิธีเดิมๆ เพื่อคาดหวังผลลัพธ์แบบใหม่ๆ ได้
-
Revenue is the real metric – รายได้ของบริษัทคือตัววัดผลที่สำคัญที่สุด
เป้าหมายสำคัญของงานด้านการตลาดคือการสร้างรายได้ให้กับบริษัท และในโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างมากเช่นทุกวันนี้ ประกอบกับแนวคิดในการทำให้ทุกอย่างเป็นดิจิทัล (Digitized) ให้มากที่สุด นักการตลาดจึงสามารถติดตามและประเมินยอดขายได้สะดวก ง่าย และทันต่อเวลามากขึ้น
รวมถึงกลายเป็นจุดวัดความสำเร็จที่เหนือกว่าแค่เพียงยอดผู้ติดตามหรือจำนวนผู้มีส่วนร่วมกับแบรนด์ที่เพิ่มขึ้น มาตรวัดทางการตลาดของโลกยุคนี้จึงเกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางธุรกิจมากขึ้นกว่าเดิม
-
Maintain balance and harmony of Art & Science – นักการตลาดต้องรู้จักใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์
แม้โลกยุคปัจจุบันจะมีเครื่องมือ เทคโนโลยี และข้อมูลจำนวนมากให้นักการตลาดได้เลือกใช้ ทำให้หลายครั้งนักการตลาดอาจเกิดความรู้สึกอัดแน่นด้วยข้อมูล จนสุดท้ายไม่สามารถมองหาจุดที่จะเอามาใช้ หรืออินไซต์จากข้อมูลเหล่านี้ได้
นักการตลาดจึงต้องอาศัยทั้งศิลปะในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค ความคิดสร้างสรรค์ในการสื่อสารให้ผู้บริโภคเห็นถึง Value หรือคุณค่าของสินค้าและบริการของเรา รวมถึงการเห็นมิติทางสังคมที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้
รวมถึงทักษะในการเข้าใจโมเดลธุรกิจของตนเอง และถอดเอารูปแบบการปฏิสัมพันธ์ของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ (Customer Journey) มาปรับกลยุทธ์และแผนการทำงานที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ได้ อาจสรุปได้ว่านี่คือโลกที่นักการตลาดต้องพึ่งทั้งทักษะในการวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างวิธีการทางการตลาดที่ประสบความสำเร็จ
-
Only paranoid marketer survived – นักการตลาดต้องพร้อมเรียนรู้และปรับตัวเสมอ
นักการตลาดเป็นตำแหน่งงานที่ต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัว เพราะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยก่อนหน้านี้นักการตลาดอาจมีบทบาทสูงในช่วงการสร้างผลิตภัณฑ์ (Product) ก่อนที่จะปรับบทบาทสู่ผู้ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการซื้อขายผ่านการเล่าเรื่อง (Storytelling) หรือการทำให้แบรนด์มีตัวตนในสายตาของผู้บริโภค
ก่อนที่ปัจจุบันจะปรับมาสู่การเป็นผู้มอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค (Consumer Experience) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต่างเรียกร้องทักษะการทำงานที่แตกต่างกันไป หน้าที่ของ
นักการตลาดจึงเป็นการวิ่งไล่ตามควาดคาดหวังของผู้บริโภคให้ทัน และปรับทักษะของตัวเองให้พร้อมต่อเป้าหมายนี้อยู่เสมอ ทำให้งานของนักการตลาดในยุคปัจจุบันต้องมีทั้งความรู้กว้างและความรู้ลึก หรืออาจเรียกได้ว่า ต้องเป็นผู้มีทักษะแบบ T-Shaped (T-Shaped Skill) เพื่อก้าวสู่การเป็นนักการตลาดที่ครบเครื่องและเท่าทันต่อพฤติกรรมของลูกค้าได้
สิ่งเหล่านี้ ยังส่งผลกระทบต่อการบริหารงานด้านการการตลาด ที่จะไม่สามารถทำตามรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป หากแต่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก กลมกลืนเข้ากันกับเป้าหมายขององค์กร และทำให้ตนเองกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในด้านกลยุทธ์และสร้างผลกำไรให้กับองค์กรเพื่อทะยานสู่อนาคตของธุรกิจ
ที่มา : Rise