ยอมรับกันไหมครับว่าทั้งแบรนด์และคนทั่วไป เมื่อโพสต์อะไรลงไปในโซเชียลมีเดียก็ล้วนแล้วแต่แอบหวังว่าคนอ่านจะแชร์คอนเทนต์คุณจนไวรัล
แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับเพราะในบรรดา Engagement หรือปฎิสัมพันธ์บนโลกโซเชียลมีเดียทั้งหมด การ Share ถือเป็นกิจกรรมที่คนอ่านทำยากที่สุดเป็นอันดับสอง พูดง่ายๆ ว่าใครก็อาจเลื่อนนิ้วผ่านไปผ่านเพื่อ view หรือเห็นคอนเทนต์ของคุณได้ ชอบใจหน่อยก็กด Like หรือกดแสดงความรู้สึกใช่ ขึ้นมาอีกถึงกล้ากด share คอนเทนต์ให้พี่น้องพ้องเพื่อนเห็น ถ้าอินสุดๆ ถึงกล้าลงทุนใส่ comment ของตัวเองควบคู่ไปกับการ share คอนเทนต์
อยากให้คน share คอนเทนต์ดูเหมือนยากใช่ไหม? แต่ข่าวดีคือคนเรา share คอนเทนต์ด้วยเหตุผลร้อยแปดพันเก้า บางคนแชร์เพราะเป็นคอนเทนต์เกี่ยวกับดาราที่ตัวเองชอบ บางคนแชร์เพราะเนื้อหาเหมือนที่ตัวเองคิด บางคนแชร์เพราอยากระบายความอัดอั้น หรือบางคนแชร์เพราะอยากใช้คอนเทนต์นั้นแอบแซวเพื่อน เป็นต้น
สรุปง่ายๆ คือบนโลกโซเชียลมีเดียเรามีคนมากหน้าหลายตาที่จะแชร์คอนเทนต์ของคุณด้วยเหตุผลร้อยพ่อพันแม่ ถ้าอยากให้คอนเทนต์ไวรัลก็ไม่ยากอะไร ผลิตคอนเทนต์ให้จับใจคนสักกลุ่มดูก่อนสิ
นักแชร์คอนเทนต์ทั้ง 6 แบบ
การศึกษาของ The New York Times เรื่อง จิตวิทยาของการแชร์ (Psychology of Sharing) ค้นพบว่าการ share คอนเทนต์ของผู้อ่านนั้นส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานของอารมณ์ ไม่ใช่เหตุผล คิดง่ายๆ ว่าเวลาเราแชร์อะไร น้อยคนนักจะสูดหายใจลึกๆ และนั่ง คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ว่าคอนเทนต์ที่ตัวเองจะแชร์นั้นมีคุณภาพแค่ไหน
การศึกษาไฮไลท์ชัดๆ ว่าแรงจูงใจของการ share นั้นเกิดจาก 3 ตัวแปรหลักคือ หนึ่ง ความต้องการระบายอารมณ์ สอง ความต้องการพรีเซนต์ตัวเองว่าเป็นคนยังไง และสาม อยากเป็นคนแรกที่แชร์คอนเทนต์นี้ ซึ่งหากรวบรวมคุณสมบัติต่างๆ เข้าด้วยกันก็อาจแบ่งนักแชร์ออกได้ 6 แบบดังนี้
1. คนช่างคิด (Altruists)
มันต้องมีเพื่อนคนหนึ่งที่จริงจังกับทุกเรื่องที่คุณแชร์ไปและพวกเขาเหล่านั้นแหละคือกลุ่มคนช่างคิด (Altruists) คนกลุ่มนี้คือคนไว้ใจได้ และช่างคิดช่างเชื่อมโยงเนื้อหาต่างๆ ในคอนเทนต์อย่างเก่งกาจ หากมีคอนเทนต์ไหนไม่ชอบมาพากลพวกเขาจะรีบตรวจสอบความจริงของคอนเทนต์นั้นทันที การศึกษาของ NYT พบว่าหลังจากคนกลุ่มนี้ขบคิดหรือค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับคอนเทนต์ที่ตัวเองอ่านเสร็จแล้ว พวกเขาจะไม่รีรอที่จะ share ผลการค้นคว้าของตัวเองให้ชาวโลกรับรู้ทันที
คอนเทนต์ที่คุณควรผลิตให้คนกลุ่มนี้คือคอนเทนต์เกี่ยวกับผลวิจัยต่างๆ คอนเทนต์ทางการแพทย์ คอนเทนต์ที่ท้าทายให้พวกเขาได้ใช้สมองวิเคราะห์ ซึ่งการสร้างคอนเทนต์จับกลุ่มนี้ถือเป็นเรื่องดีมากเพราะส่วนใหญ่พวกเขาช่างคิดและจะช่วยสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ ที่แม้แต่คุณก็คิดไม่ถึง
2. นักธุรกิจ (Careerist)
คนกลุ่มนี้ไม่ชอบเรื่องไร้สาระ พวกเขาชอบบทวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยากรู้ว่าประท้วงฮ่องกงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทยอย่างไร สนใจใคร่รู้ว่าหุ้นตัวไหนร่วงตัวไหนรุ่ง คนกลุ่มนี้ชอบ share คอนเทนต์เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับคนในเครือข่ายและสร้างภาพให้เห็นว่าพวกเขานั้นช่างเป็นมืออาชีพแค่ไหน
คอนเทนต์ที่คุณควรผลิตให้คนกลุ่มนี้คือคอนเทนต์วิเคราะห์ลึกซึ้ง มาเหนือเมฆ อ่านแล้วดูฉลาด ยิ่งแชร์ออกไปยิ่งดูล้ำลึก และอย่างดีไซน์คอนเทนต์ของคุณให้แฟนตาซีเกินไปเพราะคนกลุ่มนี้จะมองว่า “ไม่แพงเลยนะ”
3. เด็กแนว (Hipster)
อยากรู้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นใครให้ไปเดินสยาม ใช่แล้ว! คนกลุ่มนี้คือกลุ่มเด็กแนวยุค Millenials หรือ Gen Z พวกเขาเป็นคนสร้างสรรค์ ยังเด็ก อยากโด่งดัง และกำลังคว้านหาตัวตน จุดเด่นคือคนกลุ่มนี้มักไม่ชอบ share คอนเทนต์ผ่านทางอีเมล์แต่นิยมใช้โซเชียลมีเดียแฟลตฟอร์มใหม่ๆ อย่าง Instagram หรือ Snapchat เพราะอะไร? ก็เพื่อนๆ ใช้กันเยอะและมัน “คูล” มากถ้าเราใช้เหมือนเพื่อนๆ
คอนเทนต์ที่คุณควรผลิตให้คนกลุ่มนี้คือคอนเทนต์ตามกระแส อะไรมาใหม่ อะไรแปลกแตกต่าง รีบสร้างสรรค์เป็นคอนเทนต์เลยครับ จุดสำคัญของคอนเทนต์สำหรับกลุ่มนี้คือคอนเทนต์นั้นๆ ต้องสะท้อนความ “คูล” ในตัวพวกเขาออกมาซึ่งผู้ใหญ่เข้าใจเด็กแนวยากนิดนึง ดังนั้นลองจ้างเด็กรุ่นใหม่ๆ มาผลิตคอนเทนต์สำหรับคนกลุ่มนี้ดูดีกว่าครับ
4. คนติดจอ (Boomerangs)
เคยเป็นไหมเวลาโพสต์คอนเทนต์อะไรแล้วนอนไม่หลับกระซับกระซ่าย ต้องคอยลุกมาดูว่ามีใครมากด Like กด Share คอนเทนต์เราหรือเปล่า ถ้าใช่ก็ยินดีด้วย คุณคือกลุ่มคนติดจอ
คนกลุ่มนี้จะรู้สึกใจฟูทุกครั้งที่เห็นมีความเคลื่อนไหวในโพสต์ของตัวเอง พวกเขาชอบเชื่อมต่อกับผู้คนในเครือข่ายตลอดเวลา แฟลตฟอร์มที่นิยมใช้จึงเป็น Twitter และ Facebook ที่พวกเขาสามารถอัพเดทตัวเองได้ 24/7
คอนเทนต์ที่คุณควรผลิตให้คนกลุ่มนี้คือคอนเทนต์เกี่ยวข้องกับเรื่องไฮโซ มีภาพสวยๆ โปรดักชั่นอลังการ หรือการ Live สดวีดีโอต่างๆ ที่ทำให้พวกเขาร่วมพูดคุยกับคนอื่นได้แบบเรียลไทม์
5. เลขาฯ (Connector)
คนกลุ่มนี้คือคนที่คิดถึงคนรอบตัวตลอดเวลา พอเห็นตั๋วเครื่องบินราคาถูกก็จะนึกถึงน้องจ๋าที่บ่นอยากไปญี่ปุ่น พอเห็นดีลดินเนอร์ใต้แสงเทียนสุดโรแมนติกก็จะคิดถึงน้องเฟิร์นที่เพิ่งแต่งงานใหม่ คนกลุ่มนี้เปรียบเสมือนเลขาฯ ที่ชอบจัดแจงเรื่องต่างๆ ให้คนรอบตัวและคอยส่งต่อข่าวดีให้กับคนที่ต้องการผ่านอีเมล์หรือ Facebook อยู่เสมอ
คอนเทนต์ที่คุณควรผลิตให้คนกลุ่มนี้คือคอนเทนต์โปรโมชั่นทั้งหลาย พวกดีลดีราคาเด็ด มาสองจ่ายสาม สร้างสรรค์มาเลยครับ ข้อดีอีกอย่างคือเนื่องจากคนกลุ่มนี้ชอบช่วยเหลือเพื่อนๆ พวกเขาจึงมักเป็นที่รักและเพื่อนๆ ก็มักจะยอมซื้อสินค้าหรือบริการของคุณอย่างง่ายดาย
6. ช่างเลือก (Selectives)
กลุ่มคนช่างเลือกเป็นพวกใส่ใจรายละเอียด พวกเขาจะคิดอย่างระแวดระวังว่าคอนเทนต์ที่อยากแชร์จะรบกวนเพื่อนๆ ไหม ใครไม่ควรเห็นคอนเทนต์นี้ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่คุณผลิตคอนเทนต์เอาใจพวกเขายากที่สุดเพราะพวกเขาช่างใส่ใจคนอื่นมากเป็นพิเศษและชอบแชร์คอนเทนต์ผ่านอีเมล์เป็นหลัก
ทิ้งท้าย
แม้เราจะแบ่งคนออกเป็น 6 แบบตามนี้ แต่อย่าลืมหัวใจของการผลิตคอนเทนต์ที่ดียังคงเป็น “คุณภาพ” อยู่ดี เพราะถึงคุณจะสร้างสรรค์คอนเทนต์แบบที่คนแต่ล่ะกลุ่มต้องการ แต่เนื้อหาแย่ ภาพประกอบห่วย โพสต์ขึ้นมาตอนเที่ยงคืน แบบนี้ก็ไม่ได้ใจคนอ่านเหมือนกันนะครับ
ที่มา: The New York Times