Site icon Thumbsup

เกร็ดเล็กๆ ของ 7-Eleven ญี่ปุ่น ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน (ตอนที่ 1)

Photo Oct 16, 8 41 58 AM

หากจะพูดถึงร้านสะดวกซื้อ ชื่อ 7-Eleven น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นและติดปากคนไทยมากที่สุด และใครที่ได้เคยไปต่างประเทศ น่าจะได้เคยเข้าไปใช้บริการในร้านเพื่อดูว่ามีอะไรที่แตกต่างกันบ้างใช่ไหมครับ 1 ในประเทศที่คิดว่าคนที่ได้ไปท่องเที่ยวน่าจะเคยได้เข้าก็คงเป็นประเทศญี่ปุ่น และเข้าใจกันว่าญี่ปุ่นคือจ้าวแห่ง 7-Eleven ด้วยความที่มีสาขาเยอะมากทั่วประเทศ และเยอะที่สุดในโลก

เป็นโอกาสอันดีที่ทาง CP 7-Eleven ได้ชวน thumbsup ไปเยี่ยมเยือน 7-Eleven ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความรู้ที่น่าสนใจหลายๆ อย่าง จากคำบอกเล่าของผู้บริหาร CP 7-Eleven ที่ทำงานตั้งแต่การติดต่อการนำเอาแฟรนไชส์มาสู่บ้านเรา บางอย่างเป็นสิ่งที่ทีมงานเจออยู่บ่อยๆ แต่เพิ่งจะทราบความจริงที่น่าสนใจมากๆ

อย่ารอช้าครับ เรามาดูกันว่า 7-Eleven ที่ญี่ปุ่น เหมือนหรือต่างกันกับที่ไทยอย่างไรบ้าง

เนื่องด้วยข้อมูลมีเยอะมาก จึงขอแบ่งบทความออกเป็น 2 ตอน ตอนแรกจะเป็นความเป็นมาเป็นไป ส่วนตอนที่ 2 จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการภายในร้านครับ

จุดเริ่มต้น ไม่ใช่ญี่ปุ่นนะ

จริงๆ แล้วต้นกำเนิดของ 7-eleven ที่แท้จริงอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เมืองเท็กซัส เริ่มเปิดร้านเมื่อ 88 ค.ศ. 1927 โดยเป็นร้านขายน้ำแข็ง จนมาถึงเวลาหนึ่งที่ขายอยู่ ลูกค้าเริ่มมีการถามขึ้นมาว่า ทำไมไม่มีของอย่างอื่นขายด้วย อย่างไข่ไก่ ผัก ซึ่งลักษณะจะเป็นร้านของชำ นอกจากนั้นยังก็เปิดให้นานขึ้น เผื่อว่าตอนกลางคืนจะได้มาซื้อได้ ก็เลยเป็นไอเดียช่วงเวลาในการเปิดร้านด้วยเวลาเริ่มเปิด 7 โมงเช้า ปิด 5 ทุ่ม ซึ่งมันก็คือ 7am-11pm จนกลายเป็นชื่อ 7-eleven นั่นเอง

ต่อมาได้เริ่มมีการขยายแฟรนไชส์ ในอเมริกาเอง และเริ่มขยายออกต่างประเทศและขยายไลน์สินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น และเปลี่ยนมาเปิด 24 ชั่วโมงจนถึงปัจจุบัน

ภาพสาขาหน้าวัด Sensoji Asakusa

ที่ญี่ปุ่น เริ่มเมื่อ 42 ปีที่แล้ว

7-eleven ในประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นเมื่อปี 1973 โดยสาขาแรกเปิดในปีถัดมาโดยคุณโทชิคุมิ ซูซูกิ ที่ปัจจุบันเป็น CEO ของ 7 & i Holdings โดยในตอนนั้นได้รับมอบหมายจากหัวหน้าว่า ให้ลองไปหาธุรกิจใหม่ๆ ให้บริษัท ทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการค้าปลีก (Retail) หน่อยสิ จากนั้นคุณซูซูกิได้มีโอกาสไปที่สหรัฐอเมริกากับเพื่อน ก็ไปเจอร้าน 7-Eleven เปิดอยู่ เลยได้ความคิดว่า ร้านแบบนี้ดีนะกลางคืนมีร้านเปิดให้ซื้อของด้วย เลยไปถามหาว่า ใครเป็นเจ้าของ จะเอาร้านแบบนี้ไปเปิดที่ประเทศญี่ปุ่น จนสุดท้ายก็ได้เจรจาและซื้อแฟรนไชส์กลับมา

ร้านแรกที่ 7-eleven อยู่ที่ Kōtō โดยปัจจุบันยังเปิดร้านอยู่ (ข้อมูลจาก Wikipedia)

เอามาทั้งหมด แต่สุดท้ายก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับคนญี่ปุ่น

การเปิดร้านครั้งแรกเป็นการยกทุกอย่างที่ขายในสหรัฐมาขายที่ญี่ปุ่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแซนด์วิช, แฮมเบอร์เกอร์, ฮอทดอก มาขาย ปรากฎว่าขายไม่ออก เพราะคนญี่ปุ่นไม่เคยกินของพวกนี้ สุดท้ายก็เลยมาคิดหาทางว่าจะขายได้อย่างไร เลยเป็นการแก้ทางด้วยการกลับมาขายอาหารของญี่ปุ่น ปั้นข้าวปั้นขายตั้งบน Shelf ปรากฎว่าขายดีมาก

ต่อมาก็เริ่มคิดว่าจะขายอะไรต่อดี เลยคิดว่าทุกบ้านทำโอเด้งขาย เลยคิดทำขึ้นมา ตอนแรกที่มีคนได้ยิน ได้เสียงหัวเราะกลับมาว่า อะไรกัน 7-eleven จะขายโอเด้งนี่นะ โอเด้งมันเป็นของอยู่ในบ้าน แม่เป็นคนทำ จะเอามาขายได้อย่างไร ปรากฎว่าโอเด้งก็ขายดิบขายดีเช่นกัน เพราะเหตุผลว่ามันเป็นสิ่งที่คนคุ้นเคย ซึ่งนี่เป็นสิ่งเล็กๆ และความฉลาดของ 7-eleven ญี่ปุ่นที่สนใจความต้องการของลูกค้าและตอบสนองได้อย่างถูกจุด ด้วยการเอาสิ่งใกล้ตัว ไม่ต้องเอาอะไรแปลกใหม่หรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาขาย เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ 7-eleven เติบโตได้ถึงตอนนี้

ไทยคืออันดับ 2 ที่มีสาขามากที่สุดในโลก

จำนวนสาขาของ 7-eleven ณ เดือนกรกฎาคม 2558 ทั่วโลกอยู่ที่ 56,677 สาขา ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนมากที่สุด มีมากกว่า 18,000 สาขา เมืองไทยได้ Licencee (ใบอนุญาต) จากญี่ปุ่น มีจำนวนสาขาเป็นอันดับสอง อยู่ที่ 8,510 สาขา ส่วนสหรัฐฯ มีใกล้เคียงกับไทยอยู่ที่ 8,113 สาขา (รวมกันทั้งไทยและอเมริกายังได้ไม่ถึงจำนวนสาขาของญี่ปุ่น)

อัตราการเปิดสาขาในญี่ปุ่นอยู่ที่ ปีละ 1,200 – 1,500 สาขา

คู่แข่งก็มี แต่ 7-Eleven ก็ยังนำโด่ง

7-Eleven บริเวณสถานีรถไฟใต้ดิน

ร้าน Convenience Store ในญี่ปุ่นมีเจ้าตลาดอยู่ 3 แบรนด์คือ 7-eleven, Lawson และ Family Mart โดยภาพรวมของตลาด Convenience Store ในญี่ปุ่นตอนนี้มีมูลค่ารวม 10,171,800 ล้านเยน ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดของทั้ง 3 แบรนด์ใหญ่ที่กินไปกว่า 80% แล้วโดยส่วนที่เหลือเป็นร้าน Circle K Sunkus, Ministop, Popular, Three-F

จำนวนสาขาในญี่ปุ่นของ Lawson และ FamilyMart ตอนนี้ยังห่างจาก 7-Eleven อยู่ราวๆ 4,000-5,000 สาขา

ยอดขายของ 7-Eleven เฉลี่ยต่อร้านต่อสาขาตอนนี้อยู่ที่ 664,000 เยน ส่วน Lawson และ FamilyMart อยู่ใกล้เคียงกันที่ 542,000 และ 541,000 เยนตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่าสาขาของ 7-Eleven ก็มากกว่า แต่ว่ายอดขายก็มีค่าเฉลี่ยมากกว่าเจ้าอื่นด้วย

จำนวนลูกค้า 7-Eleven ญี่ปุ่นเฉลี่ยต่อวันต่อสาขาอยู่ที่ 11,000 คน ส่วนของไทยอยู่ที่ 12,000 ต่อวันต่อสาขา ซึ่งมากที่สุดในโลก ณ เวลานี้


ในตอนหน้าจะพูดถึงสินค้าและบริการภายในร้าน 7-Eleven ที่บางอย่างเริ่มมีมาในไทยบ้างแล้ว รอติดตามครับ

ติดตามอ่านได้ที่นี่ >> เกร็ดเล็กๆ ของ 7-Eleven ญี่ปุ่น ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน (ตอนจบ)