Site icon Thumbsup

หลุมพราง 7 ประการที่ Startup มือใหม่ควรระวัง (7 Pitfalls That Can Kill Your Startup) โดย Jeffrey Char

profiles_272_fyfn

บทความนี้เป็นการสรุปประเด็นสำคัญมาจากการบรรยายในหัวข้อ 7 pitfalls that can kill your startup ซึ่งถือเป็นอีกไฮไลท์ของงาน True Incube Asia Pacific Mobile App Challenge 2014 เมื่อค่ำวันพุธที่ผ่านมา เป็นการบรรยายโดย Jeffrey Char ซึ่งมีตำแหน่งเป็น CEO ของ J-Seed Ventures มีประสบการณ์ก่อตั้งธุรกิจมาแล้ว 15 บริษัท เป็นอาจารย์สอนด้านการลงทุนและนวัตกรรมให้กับมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในญี่ปุ่น รายละเอียดเพิ่มเติมของการบรรยายสรุปได้ดังนี้ค่ะ

1. หลงใหลไอเดียของตัวเอง (Fall in love with your idea)

ผู้เริ่มต้นธุรกิจส่วนมากจะเริ่มมาจากการปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าอยากจะทำอะไรออกมาขาย แล้วก็คิดว่ามันเป็นไอเดียที่เจ๋งมากๆ ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผิด เพราะธุรกิจที่จะเติบโตได้ต้องมีที่มาจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาของผู้คนต่างหาก เนื่องจากคุณต้องทำธุรกิจในโลกของความเป็นจริง ดังนั้น อย่าใช้ “ความคิด” ของตัวเองเป็นพื้นฐานของธุรกิจ แต่ต้องมองเห็น “ปัญหา” ที่มีอยู่จริง แล้วเอามาเป็นตัวตั้งเพื่อที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหานั้น

2. รีบทดสอบผลิตภัณฑ์เกินไป (Testing your product too early)

สำหรับข้อนี้ พูดง่ายๆ ว่าถ้าเราติดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดที่เหลือก็คงไม่ต้องพูดถึง ถ้าเราเริ่มต้นธุรกิจอย่างถูกวิธี เราจะไม่เริ่มจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ แต่เราจะเริ่มด้วยการทดสอบปัญหาและข้อสันนิษฐานของเราที่มีต่อปัญหานั้นๆ เป้าหมายคือต้องรู้ว่าปัญหานั้นสร้างผลกระทบให้คนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็คือการดูความเป็นไปได้ของตลาดในอนาคตนั่นเอง ถ้าปัญหานั้นส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากก็อาจจะแปลว่าเป็นตลาดใหญ่ แล้วเราจะมีวิธีทดสอบข้อสันนิษฐานของเราได้อย่างไรบ้าง? คุณ Jeffrey ไม่ได้อธิบายเอาไว้อย่างละเอียด (หรืออาจจะมีแต่ฟังไม่รู้เรื่อง ฮ่าๆ) แต่คิดว่าแบบที่ง่ายที่สุดก็คือออกไปพูดคุยกับคนอื่นเกี่ยวกับสิ่งที่เราคิด หรือแบบที่เป็นทางการก็อาจจะทำการสำรวจหรือทำโฟกัสกรุ๊ป

3. หมกมุ่นกับผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ (Building perfect product)

เจ้าของธุรกิจมือใหม่ที่ใจร้อนอาจจะอยากเห็นโปรดักต์ของตัวเองสมบูรณ์แบบพร้อมขายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในความเป็นจริงคือไม่มีผลิตภัณฑ์ไหนที่จะสมบูรณ์แบบตั้งแต่ออกมาจากไลน์ผลิตครั้งแรก ถึงมันจะออกมา “เป๊ะ” มากตามความคิดของเรา แต่มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการก็ได้ แทนที่จะทุ่มเทความพยายามไปกับการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบรวดเดียวจบ ควรจะผลิตแบบต้นทุนต่ำที่สุดในครั้งแรกแล้วค่อยๆ พัฒนามันขึ้นมา ด้วยการรับฟังความเห็นจากลูกค้าที่ได้ใช้งานจริง เพราะสุดท้ายแล้วธุรกิจจะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อมีคนยอมจ่ายเงินให้กับสินค้าของคุณ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบน่าจะหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่คนต้องการต่างหาก

4. ระดมทุนเร็วเกินไป (Raising capital too early)

“เงิน” คือปัจจัยสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่หล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดได้ ดังนั้น Startup หลายๆ รายจึงให้ความสำคัญกับการหาเงินมาลงทุน ทั้งที่ยังไม่มีแผนหรือทิศทางในการพัฒนาธุรกิจที่ชัดเจนว่าจะเอาเงินไปทำอะไรบ้าง เมื่อธุรกิจไม่ได้โฟกัสไปที่การแก้ปัญหาตั้งแต่แรก สิ่งที่ตามมาก็คือการไม่อยู่บนความเป็นจริง สุดท้ายก็ใช้เงินจนหมดโดยอาจจะไม่ได้พัฒนาอะไรที่เป็นรูปเป็นร่างให้กับธุรกิจเลย ซึ่งแปลว่าคุณกำลังทำลายความสัมพันธ์กับนักลงทุนไปด้วย และมันจะต้องมีผลกระทบอนาคตทางธุรกิจของคุณอย่างแน่นอน

5. โตเร็วเกินไป (Premature scaling)

เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง Startup ก็ต้องหาคนมาร่วมทีม จากผู้ก่อตั้งไม่กี่คนก็ต้องมีทีมงานจากหลายสาขาอาชีพเข้ามาช่วยดูแลในส่วนต่างๆ ซึ่งธุรกิจที่คุณ Jeffrey ยกมาเป็นตัวอย่างคือมีจำนวนพนักงานเยอะขึ้นแบบก้าวกระโดดจนควบคุมไม่ได้ ผลสุดท้ายคือไปไม่รอด เพราะไม่มีหน้าที่ที่ชัดเจนมารองรับการหาทีมงาน หรือมีจำนวนคนเยอะกว่าจำนวนงานนั่นเอง

6. วัฒนธรรมองค์กรไม่ชัดเจน (Screwed up company culture)

Startup ควรสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมกับธุรกิจ โดยกำหนดเป็นคำสั้นๆ ที่แสดงถึงภาพรวม ทิศทาง และเป้าหมายขององค์กร เช่น ความสนุกสนาน (Fun) แล้วก็พูดถึงมันบ่อยๆ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และทุกคนก็จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าอะไรที่ใช่หรือไม่ใช่สำหรับองค์กร

7. มีแต่คนประเภทเดียวกัน (Too many clones)

ในบริษัทหนึ่งแห่งย่อมต้องประกอบไปด้วยคนหลากหลายประเภท และถ้าจะให้ธุรกิจเติบโตได้ดีก็ต้องอาศัยทักษะหลากหลายประเภท การจะหาคนที่มีความหลากหลายเข้ามาอยู่รวมกันได้คุณก็จะต้องเริ่มออกไป Hang out กับคนอื่นๆ ที่ต่างไปจากคุณบ้าง ซึ่งมันอาจจะรู้สึกแปลกๆ ในช่วงแรก เพราะโดยธรรมชาติของคนแล้วก็ต้องชอบคุยกับคนที่มีความสนใจเหมือนๆ กันเป็นธรรมดา แต่การออกไปทำความรู้จักกับคนที่มีความสนใจและความเชี่ยวชาญคนละด้านกับเรา นอกจากจะทำให้เราได้เห็นแง่มุมใหม่ๆ แล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายหรือ connection อีกด้วย

ทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการมือใหม่ควรจะเรียนรู้เอาไว้เพื่อที่จะได้ไม่ตกหลุมพรางทางธุรกิจ และคงจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกคนนะคะ 🙂