Site icon Thumbsup

สิ่งที่ควรทำ! Lean Startup ที่ต้องการสร้างสุดยอดผลิตภัณฑ์ฟังทางนี้…

หากย้อนไปซักประมาณสองเดือนก่อน เราได้นำบทความเกี่ยวกับ Lean Startup แนวคิดการสร้างธุรกิจ ที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ โดยใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด โดยคุณ ojazzy ไปแล้ว มาในวันนี้เรามีแนวคิดดีๆ กับบทความประเภท How-to ที่จะให้ Lean Startup ที่อยากจะสร้างผลิตภัณฑ์ให้ดีเยี่ยม ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะต้องทำบ้าง ไปติดตามกันครับ…

สำหรับ Lean Startup นั้น มักจะต้องสร้างผลิตภัณฑ์ภายใต้ข้อจำกัดของ “ต้นทุน” และ “เวลา” วันนี้เราจะนำเสนอบทความแนะนำว่า อะไรบ้างคือสิ่งที่ Lean Startup ควรจะทำเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ดีในตอนท้ายสุดได้

อย่างแรกสร้าง Mockup ที่สามารถคลิกได้ แต่ยังไม่ต้องทำงานได้จริง

เชื่อเถอะครับ จากที่ได้มีโอกาสคุยกับ Startup มาพอสมควร คนไทยเรา (จริงๆ รวมถึงต่างชาติหลายๆ คน) มักคิดว่าถ้าจะเอางานไปนำเสนอให้ลูกค้าดู มันควรจะทำงานได้สมบูรณ์แล้ว ซึ่งถามว่าดีไหม ถ้าได้ขนาดนั้น ลูกค้าคงประทับใจแน่นอนครับ “แต่”…ต้นทุนกว่าจะทำตัวผลิตภัณฑ์ที่ทำงานได้จริงๆ มันคงจะสูงไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ไหนจะต้องคิดถึงเมื่อต้องถูกตีกลับมาให้แก้ไข หรือเลวร้ายที่สุดคือโดนตีตกไปเลย

จะดีกว่าไหมครับถ้าจะลองหันมาหยุดอยู่ที่ขั้นตอนการทำ Mockup ที่สามารถคลิกได้ ไปให้ลูกค้าเห็นก่อน สิ่งหนึ่งที่ลูกค้าจะได้แน่ๆ ก็คือ Look & Feel ซึ่งอย่างน้อย ถ้าจะแก้ไข หรือไม่ซื้อความคิด ก็น่าจะพอเห็นได้จากขั้นตอนนี้ และที่สำคัญ…”ต้นทุน” ไม่สูงแน่ๆ ครับ

ข้อสองลองถามผู้ใช้ดูบ้าง ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณน่าใช้หรือไม่

แทนที่จะมุ่งมั่นกับการทุ่มเทพลังทั้งหมด ไปกับการทำ Programming หรือออกแบบรูปร่างหน้าตา สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำคือลุกออกไป ถามความคิดเห็นจากคนที่คุณคิดว่า น่าจะเป็นกลุ่มผูั้ใช้งานของคุณจริงๆ (ที่ไม่ใช่คนที่จะมาซื้อไอเดียหรือผลิตภัณฑ์ของคุณไปขายต่อ)

คนกลุ่มนี้คือผู้ที่จะเข้าใจได้จริงๆ ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณควรเป็นอย่างไร อะไรที่พวกเขาต้องการหรือไม่ต้องการ แน่นอนว่าคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องไปทำ Questionnaire และเดินไปแจกที่ตัวพวกเขา เพราะวันนี้มีเครื่องมือมากมายที่จะช่วยคุณได้ ที่สำคัญ “ฟรี” ด้วยนะครับ…

ข้อสามค่อยๆ ปล่อยทีละ Feature ช่วยให้คุณพบว่าผลิตภัณฑ์ของคุณ Engage ลูกค้าได้ไหม

คุณอาจจะลองปล่อยฟีเจอร์ของผลิตภัณฑ์ของคุณ แบบค่อยเป็นค่อยไป เผยทีละส่วน ดีกว่าเปิดออกไปทั้งหมด เพราะฟังก์ชันทั้งหมดที่คิดไว้ อาจจะไม่ได้ตรงใจผู้ใช้ไปเสียทั้งหมด คุณอาจจะดูว่าในแต่ละฟีเจอร์ สามารถที่จะ Engage ลูกค้าของคุณได้แค่ไหนกัน เมื่อพบว่ามันสามารถ Engage คนได้มากพอ ค่อยปล่อยฟีเจอร์ถัดไปจะดีกว่า

ข้อสี่คนส่วนใหญ่ชอบลอง “ของฟรี” ก่อน ลองให้พวกเขาใช้ Prototype แบบฟรีไปก่อนสิ

ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หลายคนมักที่จะมาตั้งสมมติฐาน ว่าแบบนี้แบบนั้นไม่ดี เดี๋ยวจะสู้คนอื่นไม่ได้ ง่ายที่สุดบางครั้งก็ไปดูผลิตภัณฑ์ที่อาจจะมีส่วนคล้ายคลึง มาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของตัว ซึ่งถ้าคุณคิดไม่ผิด ถือว่าโชคดีไป

แต่ถ้าโชคร้าย คุณคิดผิดล่ะครับ แน่นอนว่าคุณจะเสียทั้งเวลาและเงินไปแบบช่วยไม่ได้ กับหลายสิ่งอย่างที่ผู้ใช้งานจริง ไม่ได้ต้องการมันแม้แต่น้อย ลองคิดว่าคนส่วนมาก มักชอบที่ลอง “ของฟรี” ดู คุณอาจจะพัฒนาตัว Prototype ที่ยังไม่ได้สรุปเรื่องการออกแบบ หรือฟังก์ชัน แล้วปล่อยออกไปให้มีการทดลองใช้ฟรี แบบนี้คุณน่าจะเห็นไอเดียที่จะมาใช้กับการออกแบบ รวมไปถึงการตลาดและการขายของตัวผลิตภัณฑ์จริงๆ ของคุณด้วย

มาถึงข้อห้าแบบสอบถามที่ดี จะทำให้คุณได้ข้อมูลที่มีประโยชน์แน่นอน

ถึงเวลาต้องสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์กันแล้ว หลายคนคิดว่าการส่งแบบสอบถามคือสิ่งที่ง่ายดายมากๆ ซึ่งคุณแทบไม่ต้องเหนื่อยอะไรเลย แต่แท้จริงๆ แล้วนี่คืออีกขั้นตอนที่หนักหน่วงไม่แพ้ขั้นอื่นๆ

เพราะการออกแบบแบบสำรวจที่ดีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ว่ากันว่าบางครั้งข้อมูลที่เราถามไปบางครั้ง กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เลยด้วยซ้ำไป นั่นทำให้การวิเคราะห์สิ่งที่จะถาม ต้องตระหนักให้ดีเสียก่อนส่งไป

ถัดมาPrototype ที่ทำงานกับข้อมูลจริง ต้องมาได้แล้ว

อย่างที่กล่าวไปในข้อแรก Mockup ที่คลิกได้จริง อาจจะเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อน แต่มากันจนถึงขั้นตอนนี้ คุณน่าจะได้ผ่านอะไรมามากมายแล้ว ก็น่าจะถึงเวลาที่จะคุณนำข้อมูลจริงๆ ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ของคุณ ใส่เข้าไปในตัว Prototype แล้วสร้างผลิตภัณฑ์ออกมา

แม้บางท่านจะบอกว่ามาถึงขั้นนี้ก็คงไม่ได้เรียกมันว่า “Prototype” แล้ว แต่จริงๆ มันยังเป็น Prototype ในความหมายอยู่ เพราะกว่าจะนำเสนอข้อมูลตรงนี้ให้กับลูกค้าได้เข้าใจ และพอใจ อาจจะใช้เวลามากกว่า 3-4 ครั้งเลยทีเดียว แต่จงอย่าได้กังวลครับ เดินหน้ากันไปอย่างไม่ยอมแพ้ครับ

สุดท้ายอย่าลืมสำรวจความพึงพอใจของผลิตภัณฑ์ของคุณด้วยล่ะ

แม้จะผ่านในทุกๆ ขั้นตอนมาแล้ว ก็อย่าเพิ่งวางใจว่าผลิตภัณฑ์ของคุณ จะต้องเข้าตาผู้ใช้งานแน่ๆ ล่ะครับ เพราะอาจจะมีเรื่องไม่คาดคิดขึ้นได้ ทางที่ดีการติดตามความพึงพอใจของผู้ใช้จริง เป็นสิ่งที่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ แบบสอบถามหรือรายงานการใช้งานต่างๆ เท่าที่จะทำได้ คุณต้องไม่พลาดที่จะถามถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ เวลา ที่พวกเขาใช้งานจริงๆ เพราะแค่ตัวหนังสือที่ผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะทำให้คุณพลาดข้อมูลที่มีค่าไปได้แล้วล่ะครับ…

……………………………………………………………………………………………………….

การที่จะก้าวมาเป็น Lean Startup ที่ประสบคามสำเร็จนั้น จะต้องผ่านหนทางแห่งการเรียนรู้ โดยจะทำมันด้วยความรวดเร็ว และเป็นวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดต้นทุน (หรือเกิดน้อยที่สุด) วิธีข้างต้นอาจจะช่วยให้การทำงานของคุณมีประสิทธิภาพขึ้น “แต่” อย่างไรก็ตามไม่มีอะไรที่เป็นไปตามแบบแผนเสมอ คุณอาจจะเจอสิ่งที่แปลกแตกต่างกันไป ในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งนั่นก็จะทำให้กระบวนการเรียนรู้ได้เกิดขึ้นจริง จงเก็บความมุ่งมั่นที่จะทำงาน เพื่อก้าวไปเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จให้ได้นะครับ…

ที่มา: GigaOM?และภาพจาก?BrandingStrategyInsider