บริษัท Startup ที่ถูกเรียกว่าเป็น “ยูนิคอร์น” หมายถึงบริษัทที่มีมูลค่ารวม 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นธุรกิจเกิดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินงาน จนนำไปสู่การ disrupt ธุรกิจรูปแบบเดิม ลองมาสำรวจ Key Success ของธุรกิจ Startup ในเอเชียบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามจนเกิดเป็น “ยูนิคอร์น” กันว่าจะมีปัจจัยไหนที่น่าสนใจบ้าง
Omise
Startup ยูนิคอร์นของเมืองไทยที่เริ่มต้นทำธุรกิจ Fintech โดยให้บริการ Online Payment ที่หวังเข้ามาช่วยตอบโจทย์ให้ผู้ใช้งานจ่ายเงินผ่านออนไลน์ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร ซึ่ง Omise เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของระบบ Payment ของ True Corporation และร้านอาหารในเครือ Minor International นอกจากนี้ยังมีลูกค้าระดับชั้นนำอย่าง aCommerce, Kaidee, Ookbee และ Weloveshopping เป็นต้น
นอกจากนี้ Omise ยังได้รับการระดมทุนจากนักลงทุนทั่วโลกแบบ Initial Coin Offering (ICO) ผ่านบริการของตัวเองที่เรียกว่า OmiseGO ซึ่งประกาศเป็นสกุลเงินดิจิตอลหรือที่เรียกว่า Cryptocurrency โดยนักลงทุนที่เข้าร่วมระดมทุนก็จะได้สิ่งตอบแทนเป็นหุ้นดิจิตอลที่ชื่อ OmiseGO (OMG) หรือสกุลเงิน Bitcoin ซึ่งหุ้นดิจิตอลที่ชื่อ OmiseGO สามารถนำมาซื้อขายในตลาดรองของ Digital Asset ได้ในลักษณะไม่ต่างจากตลาดซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
Key Sucess:
- ใช้งานง่าย เพราะ Omise มีความตั้งใจในการเป็นออนไลน์เพย์เมนต์เจ้าแรกที่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ ด้วยการเปิดโอกาสให้ร้านค้าออนไลน์จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต และให้บริการร้านค้าออนไลน์สามารถปลั๊กอิน Omise ได้ทันที
- โครงสร้างทีมแบบ Flat คือ คือ การทำงานเป็นลำดับขั้น และให้ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน ทำให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งแตกต่างจากบริหารแบบ Top-down
- สร้างบริษัทให้มีความน่าเชื่อถือ เพราะจะช่วยดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนรายใหญ่
VIPKID
ตามมาด้วย Startup จากประเทศจีนที่ตั้งขึ้นจากความฝันของ Cindy Mi (ซินดี้ มี่) ที่ต้องการให้เด็กอายุ 4-12 ปีทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษากับครูชาวอเมริกัน จนเกิดเป็นแพลตฟอร์ม VIPKID ที่มีการสอนทั้งวิชาภาษาอังกฤษ, วิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์ และอีกหลากหลายวิชา โดยก้าวข้ามขีดจำกัดที่หลายคนมักมองกันว่าการเรียนออนไลน์นั้น ไม่ได้ผลดีเท่ากับการเรียนการสอนแบบเจอหน้ากัน และ VIPKID สามารถเติบโตจนมีนักลงทุนอีกมากมายที่ให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น Sequoia Capital China, Tencent Holdings, Sinovation Ventures, Zhen Fund และ Yunfeng Capital ของ Jackma
โดย 3 ปีก่อน VIPKID เริ่มต้นจากการมีคุณครูเพียง 400 คนและนักเรียนในระบบเพียง 3,300 คน แต่ปัจจุบันมีคุณครูในระบบกว่า 60,000 คน และมีนักเรียนในแพลตฟอร์มถึง 500,000 คน ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีจำนวนนักเรียนคลาสออนไลน์ถึง 1 ล้านคน ได้ไม่ยากในยุคที่ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แบบนี้
Key Sucess:
- นำคุณครูที่มีคุณภาพมาอยู่ในระบบ และให้ค่าตอบแทนพวกเขาเพิ่มเติม โดยมีผู้ตรวจสอบครูของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้คนเช็คประวัติผู้สมัคร ผ่านการสอบเพื่อวัดความรู้เพื่อการันตีถึงคุณภาพครู
- เน้นการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะเสนอคลาสเรียนราคาถูก เพราะเชื่อว่าผู้ปกครองชาวจีนพร้อมจ่ายเงินค่าเรียนพิเศษหากเห็นว่าลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจริงๆ
- เปิดให้มีการให้ฟีดแบค โดยผู้ปกครองก็สามารถให้เกรดกับครูได้ทันที
Xiaomi
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 ในปัจจุบัน Xiaomi กลายเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจาก Apple และ Samsung จากการเติบโตที่รวดเร็วนี้ ทำให้มีอัตราการจ้างงานสูงมาก และบริษัทก็มีมูลค่าธุรกิจกว่าพันล้านเหรียญ
โดย Xiaomi เป็นแบรนด์เทคโนโลยีที่ไม่ได้ขายเพียงแค่มือถือ แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Smart watch, Powerbank ไปจนถึงขนาดหมอนรองคอ โดย CEO ของบริษัทบอกว่าอยากทำสินค้าที่ดี แต่สามารถซื้อได้ในราคาแค่ครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับบริษัทคู่แข่ง เพราะตั้งราคาแบบซื่อสัตย์กับลูกค้า
Xiaomi ได้รับการขนานนามว่าเป็น “China Apple” ที่เคยขายโทรศัพท์มือถือ 15,000 เครื่องหมดภายใน 2 วินาที จนลง Guinness World Record เพราะสเปคที่ลูกค้าได้นั้นคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา ซึ่งถือว่าเป็นจุดขายของแบรนด์นั่นเอง รวมทั้งยังสามารถแซงเจ้าตลาดวงการแอนดรอยด์อย่าง Samsung ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในประเทศอินเดียได้ด้วย
Key Sucess:
- ราคาไม่แพงแต่คุณภาพพรีเมี่ยม เพราะ Xiaomi ใช้เทคนิคในการปรับราคาลงเพื่อกระตุ้นยอดขาย ไม่ว่าคนระดับไหนก็สามารถซื้อมือถือของพวกเขาได้โดยไม่มีปัญหาด้วยราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งมาก
- มีระบบ Firmware กลาง ให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบระบบปฏิบัติการณ์ได้อย่างหลากหลาย ผ่านเครื่องมือ Custom rom บนเว็บไซต์ของ Xiaomi
- ทุ่มงบการตลาดไปกับการขายผ่านช่องทางออนไลน์ล้วนๆ เพราะ Xiaomi มองตัวเองว่าเป็นร้านค้าอีคอมเมิร์ซแบบธุรกิจกับผู้บริโภค(B2C) และจัดว่าเป็นช่องทางอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อันดับสองของประเทศจีนในแง่ของยอดขาย
- สร้างคอมมูนิตี้ (Mi Fan) สำหรับผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยใช้บัญชี Weibo ในทุกผลิตภัณฑ์ของ Xiaomi เช่น Xiaomi Mobile Weibo เพราะผู้ใช้มักมองว่าบัญชีหลักของบริษัท มีแนวโน้มที่จะค่อนข้างไร้สาระ แต่เชื่อมโยงกับบัญชีของผลิตภัณฑ์ได้ง่ายกว่า
Go-Jek
บริษัท Startup จากอินโดนีเซียเจ้าเดียวที่เป็นยูนิคอร์น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 มีผู้ก่อตั้งคือ นาเดียม มาคาริม (Nadiem Makarim) ชายหนุ่มที่จบปริญญาตรีสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ และมีเป้าหมายว่าอยากแก้ปัญหาคมนาคมในเมืองจาการ์ตา ที่มีสภาพการจราจรสุดแสนเลวร้าย ทำให้เขาเริ่มธุรกิจ call center ที่ให้บริการ Ojek หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีคนขับ 20 คน ก่อนจะพัฒนามาให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ Go-Jek (มาจาก Ojek) และได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากที่รัฐบาลยกเลิกการใช้รถสามล้อรับจ้าง
จนเวลาผ่านไป 7 ปี Go-Jek สามารถขยายธุรกิจออกไปยัง 25 เมืองใหญ่ในอินโดนีเซีย จนนับได้ว่าเป็น Startup ที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด นอกจากนั้นยังขยายไปให้บริการรถแท็กซี่ พร้อมทั้งแตกไลน์ไปยังบริการขนส่งที่หลากหลาย ซึ่งทุกบริการที่มีนั้นเน้นการส่งตรงถึงบ้าน เพื่อลดการเดินทางของประชาชน
ถึงแม้ว่า Go-Jek อาจจะยังไม่เติบโตแบบ Uber หรือ Grab ในขณะนี้ แต่ในอินโดนีเซียที่มีประชากร 250 ล้านคนนั้น Go-Jek ถือได้ว่าเป็นอันดับหนึ่ง และปัจจุบันก็ได้ขยายกิจการเข้ามาในประเทศไทยแล้วผ่านพาร์ทเนอร์โดยใช้ชื่อบริการว่า GET
Key Sucess:
- ครบจบในขั้นตอนเดียว เพราะทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้บริการได้ โดยไม่ต้องออกจากบ้านแม้แต่ก้าวเดียว
- มีบริการที่ครอบคลุม ซึ่งบริการของ Go-Jek ในปัจจุบันแยกได้ 3 ประเภท รวมทั้งหมดอยู่ในแอปพลิเคชั่นเดียว ได้แก่ Go-Jek ที่เน้นด้านการขนส่ง เดลิเวอรี่ ซื้อตั๋ว รวมไปถึงบริการซื้อยาจากร้านขายยา, Go-Pay บริการทำธุรกรรมทางด้านการเงิน และ Go-Life รับจองบริการต่างๆ เช่น ร้านนวด แต่งหน้า ทำผม ทำเล็บถึงบ้าน เป็นต้น
Ola Cabs
บริษัท Startup จากประเทศอินเดียที่ให้บริการ Bike Sharing ของ Ola ที่เปิดมาเพื่อรองรับเทรนด์และการเติบโตของธุรกิจ Bike Sharing ได้รับแรงบันดาลใจมากจากประเทศจีน โดยผู้ใช้งานเพียงค้นหาจักรยานผ่านแอปพลิเคชั่นด้วยระบบ GPRS และสแกนรหัสสำหรับปลดล็อก หลังจากชำระค่าเช่าแล้ว ก็สามารถปั่นไปได้เลย เมื่อใช้เสร็จก็สามารถจอดไว้ข้างทางและจักรยานจะล็อกเองเมื่อหมดเวลาเช่า
ด้วยประชากรในอินเดียที่มีจำนวนมหาศาลไม่แพ้จีน Ola จะยังคงมีอนาคตที่สดใสต่อไป โดยตอนนี้ได้เปิดตัวให้บริการในเขตของมหาวิทยาลัยในอินเดียก่อน ซึ่ง Ola มีแนวคิดเกี่ยวกับการใช้จักรยานว่า เหมาะสำหรับระยะทางที่สั้นเกินกว่าจะนั่งรถแท็กซี่ แต่ก็ไกลเกินกว่าที่จะเดิน
Key Sucess:
- สร้างบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้จักรยาน
- แก้ปัญหาในการเดินทางระยะสั้นๆ กับผู้ใช้ที่ไม่อยากเดินเท้า และไม่ต้องการใช้รถยนต์
- การเข้าใจวัฒนธรรมของคนอินเดีย และแก้ปัญหาสภาพการจราจรที่แออัดในเมืองได้ดี
Sea Group
เป็นยูนิคอร์นสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนจากประเทศสิงค์โปร์ โดยเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทเกม Garena ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2009 ขยายไปในประเทศต่างๆ และเข้ามาในประเทศไทยปี 2012
เริ่มแรกทำโปรดักต์เกี่ยวกับเกมออนไลน์ เป็นเจ้าของเกมฮิตอย่าง ROV, HON, LOL ฯลฯ จากนั้นได้ขยายธุรกิจด้วยการเปิดตัว AirPay บริการชำระเงินที่มาแก้ปัญหาการเติมเงินในเกม จ่ายค่าสาธารณูปโภคและจุดเด่นอย่างการซื้อตั๋วหนังก็ได้ใจผู้ใช้งานอย่างมาก
สุดท้ายกับ Shopee แพลตฟอร์ม e-Commerce สำหรับนักช้อปที่ซื้อสินค้าผ่านมือถือเท่านั้น ที่ในไทยจะมีญาญ่า-ณเดชน์ เป็นพรีเซนเตอร์หลัก ถึงแม้ว่าจะยังไม่เข้าสู่ขั้นของรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ SEA Group ก็มีนักลงทุนที่สนใจและหนุนให้กิจการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนสามารถนำพาตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2017 ด้วยมูลค่าบริษัทราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Key Sucess:
- ทำเกมให้ฮิต โดยเรียนรู้และปรับไปเรื่อยๆ จนล่าสุดก็สามารถเข็น RoV ลงตลาดได้และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
- เข้าใจพฤติกรรมการเล่นเกมส์ของคนไทย ที่ชอบการเล่นเกมเป็นหมู่คณะและสร้างให้เกิดเป็นคอมมูนิตี้ ที่สามารถดึงดูดผู้ใช้งานได้
- ต่อยอดธุรกิจไปในกลุ่มเพย์เมนต์อย่าง AirPay และช้อปปิ้งออนไลน์อย่าง Shopee เพราะมองว่าตัวเองมีดีมากกว่าการเป็นแค่บริษัทเกม
- เน้นความเป็น Localize เพราะผู้ใช้แต่ละประเทศมีความต้องการที่แตกต่างกัน
- เน้นสร้างความรู้สึกเป็น Ownership ร่วมกับพนักงานทุกคน และเปิดรับฟังความคิดเห็น
Flipkart
บริษัท Startup ที่ให้บริการเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์เจ้าใหญ่ในตลาดอินเดีย ก่อตั้งโดยอดีตวิศวกรของ Amazon สามารถพัฒนาตัวเองให้เติบโตจนกลายมาเป็นคู่แข่งของ Amazon ในประเทศอินเดียได้ เติบโตมาจากการขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ จากนั้นก็แตกไลน์สินค้าออกไปมากกว่า 80 หมวด มีสินค้าจำหน่ายกว่า 80 ล้านชิ้น มีผู้ลงทะเบียนใช้งานแล้วมากกว่า 100 ล้านคนและมีพนักงานมากกว่า 30,000 คน
Key Sucess:
- เจ้าของกิจการมีความเข้าใจวิธีการทำการตลาดทั้งภายในประเทศและระดับโลก
- ใช้ระบบการขนส่งจาก Amazon เพราะเห็นช่องว่างของ eCommerce อินเดีย นั่นคือ “ระบบการขนส่งสินค้าที่ดี”
- กล้าที่จะให้ลูกค้าใช้บริการแบบ Cash-on-delivery หรือเก็บเงินปลายทาง
แต่ละธุรกิจมีการดำเนินกิจการที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นใน Startup เหล่านี้คือความมุ่งมั่น และโฟกัสใน “ปัญหา” ที่ตัวเองอยากแก้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง