กลายเป็นข่าวดังในวันคริสต์มาสที่ผ่านมา (25 ธ.ค.2562) เมื่อตัวแทนจากสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ หรือ TTSA ยื่นเอกสารเพื่อหารือกับคณะกรรมการการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยสามารถแข่งขันได้เท่าเทียมกับสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่รัฐบาลมีกฎเกณฑ์สนับสนุนให้เข้ามาในประเทศไทย ก่อนที่กลุ่มคนมีความสามารถเหล่านี้จะไหลออกไปเป็นธุรกิจหลักของประเทศอื่น
สำหรับตัวแทนที่เข้าไปร่วมยื่นเอกสารในครั้งนี้ ประกอบด้วย ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมฯ ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกิตตินันท์ อนุพันธ์ นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ นายธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน โดยมี น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการ และคณะมาร่วมรับฟัง พร้อมทั้งมีนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมาธิการ ฯ เป็นผู้รับหนังสือ ที่รัฐสภา
ทางด้านเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกนั้น จะประกอบไปด้วยข้อเสนอด้านนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย ดังนี้
ปัจจุบันต้องยอมรับว่านโยบายการสนับสนุนสตาร์ทอัพ (Startup) ไทย ไม่ตอบโจทย์การเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยี ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สตาร์ทอัพไทย ไม่สามารถแข่งขันกับนานาชาติภายในประเทศของตนเองได้
เพราะจากแพลตฟอร์มและการบริการรายใหญ่ในประเทศไทยเป็นบริการจากต่างชาติ ส่งผลให้ทรัพยากรในประเทศรั่วไหลเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงข้อมูล (Data) ของคนไทย ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าอย่างยิ่งต่อภาครัฐและเอกชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงได้หารือร่วมกับสตาร์ทอัพไทย และมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย เพื่อป้องกันเอกราชทางดิจิทัลของไทยเป็นการด่วน ดังนี้
นโยบายกระตุ้นการใช้บริการสตาร์ทอัพไทย (Revenue Boost)
เนื่องจากค่านิยมของคนไทย ที่บริโภคสินค้าและบริการของต่างชาติหรือแบรนด์ระดับโลก ทำให้การประกอบกิจการในประเทศไทย โดยคนไทยเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ตาม แบรนด์ต่างชาติทั้งหลาย ได้เริ่มต้นจากการได้รับการสนับสนุนภายในการประกอบกิจการในประเทศจนสำเร็จ แล้วจึงขยายออกไปนอกประเทศจนกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกทั้งสิ้น ทางสมาคมฯ จึงมีข้อเสนอแนะให้เกิดการรณรงค์ให้เกิดนโยบาย “กินของไทย ใช้ของไทย” สำหรับสตาร์ทอัพ ประกอบด้วย
1.ชิม ช้อป ใช้ สตาร์ทอัพ
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้การบริการของสตาร์ทอัพไทย โดยมีนโยบายการประชาสัมพันธ์ที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนและประชาชนสามารถขอ discount คืน ในรูปแบบของเงินผ่านกระบวนการ ชิม ช้อป ใช้ หรือใกล้เคียงได้
2. หนึ่งกระทรวง หนึ่งสตาร์ทอัพ
- สนับสนุนให้ทุกกระทรวง มีนโยบายในการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย อย่างน้อยกระทรวงละ 1 โครงการ หรืออาจเป็นนโยบาย “หนึ่งหน่วยงาน หนึ่งสตาร์ทอัพ” โดยทางสมาคมฯ มี Catalogue ที่สามารถทำการแนะนำ สตาร์ทอัพไทย ที่น่าจะเหมาะกับหน่วยงานให้ได้เบื้องต้นเพื่อประกอบการตัดสินใจ ในรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์อาจเป็นเชิง
- ใช้บริการ สตาร์ทอัพ ทั้งด้านการพัฒนา Product/Service ร่วมกันเพื่อประชาชน และ Investment Deal โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเทคโนโลยี ลดความเสี่ยง และกระตุ้นรายได้ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ ในประเทศไทย
3. Matching ‘สตาร์ทอัพไทย’ กับ ‘บริษัทเอกชน’
เอกชนควรมีส่วนร่วมในการสนันสนุนการเจริญเติบโตของสตาร์ทอัพและนวัตกรรมในประเทศไทย โดยรัฐบาลมีส่วนช่วยในการ Force Deal ให้เกิดขึ้นในรูปแบบใดก็ได้ เช่น Revenue หรือ Investment ผ่านนโยบายต่างๆ โดยอาจเป็นรูปแบบของ Facilitator ที่ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรม Business Matching ให้ และอาจมีแรงจูงใจ (Incentive) ให้แก่ผู้เข้าร่วม
4. Open API
- การเปิด Open API Platform เพื่อให้สตาร์ทอัพไทย สามารถใช้ Infrastructure นี้ ในการดำเนินธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาและเสียต้นทุนในการใช้ Gateway platform อื่นๆ
- ทำให้เงิน Flow ผ่าน Digital มากที่สุด เพราะ Digital Economy เป็นระบบเศรษฐกิจที่เร็วและตรวจสอบได้ โดยทางรัฐบาลจะได้ข้อมูลสำหรับการพัฒนานโยบายต่อไปอีกด้วย
- NDID ไม่ควรคิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้ เพื่อให้ภาครัฐสามารถ Acquire ผู้ใช้งานได้เร็วและมากที่สุดโดยที่สามารถตรวจสอบได้ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ Digital Economy ได้เร็วขึ้น
5. Startup SandBox
ปัจจุบัน Innovation มักมาไม่พร้อมกับกฎหมาย และการอนุญาต Startup SandBox จะเน้นให้เกิดพื้นที่การทดลองนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นจริง เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยสามารถทดลอง และพัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับต่างชาติได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลกับข้อกฏหมาย (ค่อยๆ ทำการพัฒนากฏหมายตามมา)
6. Startup Matching Fund
รัฐสามารถกระตุ้นการลงทุน โดยสนับสนุนให้เกิด Matching Fund เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนจากนักลงทุนมืออาชีพ ที่ไม่ต้องลงทุนเองโดยตรง อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมเฉพาะได้เป็นพิเศษ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยเฉพาะได้ เช่น กระตุ้น EdTech Startup ในอัตราการลงทุนแบบ Matching Fund 2:1 เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องในการเพิ่มข้อได้เปรียบทางด้านภาษี (TAX) ให้แก่สตาร์ทอัพไทย ดังนี้
7. เรียกเก็บภาษีจาก Service ต่างประเทศ และลดภาษีของ Startup Service ในประเทศ
เนื่องจากมีหลายบริการจากต่างประเทศเข้ามาในไทยและได้เปรียบในเรื่องของการยกเว้นภาษีตัวอย่าเช่น การเก็บภาษี กับ Platform ต่างประเทศอย่าง Alibaba ที่เข้ามาให้บริการใน EEC และลดภาษีให้กับ Startup ไทยในเรื่องของ VAT (อาจดำเนินการผ่าน BOI) หากภาครัฐไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจาก platform ต่างประเทศได้ ก็ต้องงดเว้น Platform ของไทยเช่นกัน เพื่อให้อัตราการแข่งขันเท่ากันและลดต้นทุนของสตาร์ทอัพไทย
8. ลดภาษีสำหรับสตาร์ทอัพ ที่ดึงรายได้เข้าประเทศจากต่างประเทศได้
การเพิ่มมาตรการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ในการเปิดตลาดต่างประเทศ เช่นการทำ Service ในการจด Trademark ในประเทศอื่นๆ ให้ หรือ กองทุนให้กู้ยืมในการไปจดทะเบียนในต่างประเทศ (บางประเทศ จะต้องมีเงินทุนเพื่อการเปิดบริษัทในกรณีที่เป็น บริษัทต่างชาติ) จะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยมีโอกาสในการขยายธุรกิจไปในระดับโลกมากขึ้น
ข้อสรุปหลังการหารือ
ทางด้านของ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมฯ ได้เปิดเผยหลังเข้าพบคณะกรรมาธิการว่า สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถมีสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์นได้ เพราะอย่างหลายประเทศที่มียูนิคอร์นอย่าง จีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือเวียดนามเอง ประชาชนเขาก็สนับสนุนสตาร์ทอัพของเขาเองจนประสบความสำเร็จ และทางภาครัฐก็มีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้าง Supply เรื่องนี้อย่างจริงจัง จนถึงได้เห็นสตาร์ทอัพเติบโตและเข้าไปดำเนินการในหลายประเทศ
สำหรับประเด็นการสนับสนุนเรื่องของภาษี (TAX) เป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ยาก เนื่องจากมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการ ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยสามารถที่จะทำได้ตอนนี้ คือ มาช่วยกันสร้างระบบนิเวศสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น
สิ่งที่คิดว่าทำได้ก่อนคือ รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศและช่วยผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยออกมาเชิงนโยบาย โดยเริ่มจากการทำให้คนไทยรู้สึกชินและเทียบเคียงกับสิ่งที่ประชาชนเข้าใจในรูปแบบเศรษฐกิจดิจิทัลจริงๆ (Digital Economy)
เพราะอดีตที่ผ่านมาเราคุ้นชินต่อการทำธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องกู้เงินมาลงทุนเท่านั้น และสิ่งที่ทางสมาคมได้ยื่นข้อเสนอไปคือพอจะเทียบเคียงให้สร้างระบบนิเวศได้ง่าย จากสิ่งที่คนไทยเริ่มเห็น เช่น การใช้มาตรการชิมช้อปใช้จากสตาร์ทอัพในการใช้เงินในรูปแบบดิจิทัล หรือ 1 กระทรวง 1 สตาร์ทอัพ เพราะอย่างน้อยก็จะช่วยค่อยๆ เริ่มสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทั่วไป
ทางด้าน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า พร้อมที่จะนำเรื่องที่ได้รับการเสนอมาไปศึกษาต่ออย่างจริงจัง และคาดว่าจะต้องมีการหารือกับทางสมาคมต่อไป
งานนี้ก็ต้องรอดูผลการดำเนินงานต่อไปว่าภาครัฐจะผลักดันเงื่อนไขในรายละเอียดต่างๆ ตามข้อเสนอทั้ง 8 ข้อให้เกิดประโยชน์ในทางที่ดีแก่กลุ่มสตาร์ทอัพมากน้อยแค่ไหน เพราะการทำงานร่วมกับภาครัฐจะต้องผ่านกระบวนการร่วมกับหลายหน่วยงานที่อาจทับซ้อนกัน ก็ได้แต่ให้กำลังใจทุกฝ่ายหาข้อสรุปที่เหมาะสมร่วมกันได้
ที่มา : Stockradars