Site icon Thumbsup

8 ข้อเรียกร้องจากเหล่าสตาร์ทอัพ ที่อยากให้รัฐช่วยหนุนระบบนิเวศ เพื่อผลักดันให้เกิดยูนิคอร์นในไทย

กลายเป็นข่าวดังในวันคริสต์มาสที่ผ่านมา (25 ธ.ค.2562) เมื่อตัวแทนจากสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ หรือ TTSA ยื่นเอกสารเพื่อหารือกับคณะกรรมการการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยสามารถแข่งขันได้เท่าเทียมกับสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่รัฐบาลมีกฎเกณฑ์สนับสนุนให้เข้ามาในประเทศไทย ก่อนที่กลุ่มคนมีความสามารถเหล่านี้จะไหลออกไปเป็นธุรกิจหลักของประเทศอื่น

สำหรับตัวแทนที่เข้าไปร่วมยื่นเอกสารในครั้งนี้ ประกอบด้วย ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมฯ ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกิตตินันท์ อนุพันธ์ นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ นายธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน โดยมี น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย  ประธานคณะกรรมาธิการ และคณะมาร่วมรับฟัง พร้อมทั้งมีนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมาธิการ ฯ เป็นผู้รับหนังสือ ที่รัฐสภา

ทางด้านเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกนั้น จะประกอบไปด้วยข้อเสนอด้านนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย ดังนี้

ปัจจุบันต้องยอมรับว่านโยบายการสนับสนุนสตาร์ทอัพ (Startup) ไทย ไม่ตอบโจทย์การเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยี ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สตาร์ทอัพไทย ไม่สามารถแข่งขันกับนานาชาติภายในประเทศของตนเองได้

เพราะจากแพลตฟอร์มและการบริการรายใหญ่ในประเทศไทยเป็นบริการจากต่างชาติ ส่งผลให้ทรัพยากรในประเทศรั่วไหลเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงข้อมูล (Data) ของคนไทย ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าอย่างยิ่งต่อภาครัฐและเอกชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงได้หารือร่วมกับสตาร์ทอัพไทย และมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย เพื่อป้องกันเอกราชทางดิจิทัลของไทยเป็นการด่วน ดังนี้

นโยบายกระตุ้นการใช้บริการสตาร์ทอัพไทย (Revenue Boost)

เนื่องจากค่านิยมของคนไทย ที่บริโภคสินค้าและบริการของต่างชาติหรือแบรนด์ระดับโลก ทำให้การประกอบกิจการในประเทศไทย โดยคนไทยเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

อย่างไรก็ตาม แบรนด์ต่างชาติทั้งหลาย ได้เริ่มต้นจากการได้รับการสนับสนุนภายในการประกอบกิจการในประเทศจนสำเร็จ แล้วจึงขยายออกไปนอกประเทศจนกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกทั้งสิ้น ทางสมาคมฯ จึงมีข้อเสนอแนะให้เกิดการรณรงค์ให้เกิดนโยบาย “กินของไทย ใช้ของไทย” สำหรับสตาร์ทอัพ ประกอบด้วย

1.ชิม ช้อป ใช้ สตาร์ทอัพ

เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้การบริการของสตาร์ทอัพไทย โดยมีนโยบายการประชาสัมพันธ์ที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนและประชาชนสามารถขอ discount คืน ในรูปแบบของเงินผ่านกระบวนการ ชิม ช้อป ใช้ หรือใกล้เคียงได้

2. หนึ่งกระทรวง หนึ่งสตาร์ทอัพ

3. Matching ‘สตาร์ทอัพไทย’ กับ ‘บริษัทเอกชน’

เอกชนควรมีส่วนร่วมในการสนันสนุนการเจริญเติบโตของสตาร์ทอัพและนวัตกรรมในประเทศไทย โดยรัฐบาลมีส่วนช่วยในการ Force Deal ให้เกิดขึ้นในรูปแบบใดก็ได้ เช่น Revenue หรือ Investment ผ่านนโยบายต่างๆ โดยอาจเป็นรูปแบบของ Facilitator ที่ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรม Business Matching ให้ และอาจมีแรงจูงใจ (Incentive) ให้แก่ผู้เข้าร่วม

4. Open API

5. Startup SandBox

ปัจจุบัน Innovation มักมาไม่พร้อมกับกฎหมาย และการอนุญาต Startup SandBox จะเน้นให้เกิดพื้นที่การทดลองนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นจริง เพื่อให้สตาร์ทอัพไทยสามารถทดลอง และพัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับต่างชาติได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลกับข้อกฏหมาย (ค่อยๆ ทำการพัฒนากฏหมายตามมา)

6. Startup Matching Fund

รัฐสามารถกระตุ้นการลงทุน โดยสนับสนุนให้เกิด Matching Fund เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนจากนักลงทุนมืออาชีพ ที่ไม่ต้องลงทุนเองโดยตรง อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมเฉพาะได้เป็นพิเศษ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยเฉพาะได้ เช่น กระตุ้น EdTech Startup ในอัตราการลงทุนแบบ Matching Fund 2:1 เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องในการเพิ่มข้อได้เปรียบทางด้านภาษี (TAX) ให้แก่สตาร์ทอัพไทย ดังนี้

7. เรียกเก็บภาษีจาก Service ต่างประเทศ และลดภาษีของ Startup Service ในประเทศ

เนื่องจากมีหลายบริการจากต่างประเทศเข้ามาในไทยและได้เปรียบในเรื่องของการยกเว้นภาษีตัวอย่าเช่น การเก็บภาษี กับ Platform ต่างประเทศอย่าง Alibaba ที่เข้ามาให้บริการใน EEC และลดภาษีให้กับ Startup ไทยในเรื่องของ VAT (อาจดำเนินการผ่าน BOI) หากภาครัฐไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจาก platform ต่างประเทศได้ ก็ต้องงดเว้น Platform ของไทยเช่นกัน เพื่อให้อัตราการแข่งขันเท่ากันและลดต้นทุนของสตาร์ทอัพไทย

8. ลดภาษีสำหรับสตาร์ทอัพ ที่ดึงรายได้เข้าประเทศจากต่างประเทศได้

การเพิ่มมาตรการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ในการเปิดตลาดต่างประเทศ เช่นการทำ Service ในการจด Trademark ในประเทศอื่นๆ ให้ หรือ กองทุนให้กู้ยืมในการไปจดทะเบียนในต่างประเทศ (บางประเทศ จะต้องมีเงินทุนเพื่อการเปิดบริษัทในกรณีที่เป็น บริษัทต่างชาติ) จะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยมีโอกาสในการขยายธุรกิจไปในระดับโลกมากขึ้น

ข้อสรุปหลังการหารือ

ทางด้านของ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมฯ ได้เปิดเผยหลังเข้าพบคณะกรรมาธิการว่า สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถมีสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์นได้ เพราะอย่างหลายประเทศที่มียูนิคอร์นอย่าง จีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือเวียดนามเอง ประชาชนเขาก็สนับสนุนสตาร์ทอัพของเขาเองจนประสบความสำเร็จ และทางภาครัฐก็มีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้าง Supply เรื่องนี้อย่างจริงจัง จนถึงได้เห็นสตาร์ทอัพเติบโตและเข้าไปดำเนินการในหลายประเทศ

สำหรับประเด็นการสนับสนุนเรื่องของภาษี (TAX) เป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ยาก เนื่องจากมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการ ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยสามารถที่จะทำได้ตอนนี้ คือ มาช่วยกันสร้างระบบนิเวศสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น

สิ่งที่คิดว่าทำได้ก่อนคือ รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศและช่วยผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยออกมาเชิงนโยบาย โดยเริ่มจากการทำให้คนไทยรู้สึกชินและเทียบเคียงกับสิ่งที่ประชาชนเข้าใจในรูปแบบเศรษฐกิจดิจิทัลจริงๆ (Digital Economy)

เพราะอดีตที่ผ่านมาเราคุ้นชินต่อการทำธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องกู้เงินมาลงทุนเท่านั้น และสิ่งที่ทางสมาคมได้ยื่นข้อเสนอไปคือพอจะเทียบเคียงให้สร้างระบบนิเวศได้ง่าย จากสิ่งที่คนไทยเริ่มเห็น เช่น การใช้มาตรการชิมช้อปใช้จากสตาร์ทอัพในการใช้เงินในรูปแบบดิจิทัล หรือ 1 กระทรวง 1 สตาร์ทอัพ เพราะอย่างน้อยก็จะช่วยค่อยๆ เริ่มสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทั่วไป

ทางด้าน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า พร้อมที่จะนำเรื่องที่ได้รับการเสนอมาไปศึกษาต่ออย่างจริงจัง และคาดว่าจะต้องมีการหารือกับทางสมาคมต่อไป

งานนี้ก็ต้องรอดูผลการดำเนินงานต่อไปว่าภาครัฐจะผลักดันเงื่อนไขในรายละเอียดต่างๆ ตามข้อเสนอทั้ง 8 ข้อให้เกิดประโยชน์ในทางที่ดีแก่กลุ่มสตาร์ทอัพมากน้อยแค่ไหน เพราะการทำงานร่วมกับภาครัฐจะต้องผ่านกระบวนการร่วมกับหลายหน่วยงานที่อาจทับซ้อนกัน ก็ได้แต่ให้กำลังใจทุกฝ่ายหาข้อสรุปที่เหมาะสมร่วมกันได้

 

ที่มา : Stockradars