เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้บริโภคสมัยนี้มีสมาร์ทโฟนเป็นเพื่อนคู่คิดก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า แต่ก็มีการวิจัยเกี่ยวกับวิธีที่ผู้บริโภคใช้สมาร์ทโฟนในร้านค้าออกมาที่ทำให้ทราบว่า นอกจากการเสิร์ชหาข้อมูลของสินค้าที่ต้องการแล้ว พวกเขายังทำในอีกหลายๆ อย่างที่นักการตลาดอาจนึกไม่ถึง
ผลการสำรวจดังกล่าวเป็นของ InMarket ที่ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนในร้านค้าของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาจำนวน 2,500 คน โดยพบว่า 55% ของผู้ถูกสำรวจนั้นใช้สมาร์ทโฟนค้นหาข้อมูลของสินค้าที่ต้องการซื้อ อย่างไรก็ดี ยังมีอีกถึง 14% ที่ใช้สมาร์ทโฟนไปกับการส่งข้อความที่ไม่เกี่ยวกับการซื้อสินค้านั้นๆ แต่อย่างใด และอีก 12% ที่ฟังเพลงไปด้วย เลือกซื้อของไปด้วย
ขณะที่นักช้อปผู้เลือกซื้อสินค้าไปด้วยเล่นโซเชียลมีเดียไปด้วยกลับมีน้อยมาก เพียง 4% เท่านั้น ซึ่งผลการสำรวจนี้จึงค่อนข้างตรงกันข้ามกับการสำรวจของค่าย Euclid Analytics ที่ก่อนหน้านี้เคยออกมาประกาศว่า ผู้บริโภคเล่น Facebook ในระหว่างการเลือกซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก
แม้ว่าความแตกต่างของตัวเลขจากแบบสำรวจสองค่ายอาจมีผลต่อ Facebook ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่สิ่งที่เราน่าจะเห็นตรงกันก็คือ เทรนด์ของผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนไปสู่การพึ่งพาอุปกรณ์สื่อสารในฐานะเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจซื้อ โดยทุกวันนี้ ผู้บริโภคหลายคนอาจสนใจกับคอมเม้นท์ของสินค้าจากโลกออนไลน์มากกว่าจะสนใจกับสิ่งที่เซลล์พยายามอธิบายอยู่เบื้องหน้า
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ผลการสำรวจจากทั้งสองค่ายพบตรงกันก็คือ ผู้บริโภคมีการใช้แอปพลิเคชันที่ร้านค้าพัฒนาขึ้นมาเองน้อยมาก โดย InMarket พบว่ามีประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่แอปพลิเคชันไม่ได้รับความนิยมมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานได้มากเพียงพอ แอปพลิเคชันไม่รองรับการชำระเงิน หรือรองรับแต่ทำได้ไม่ดีพอ ซึ่งในจุดนี้ หากมีการจับมือกับ ThirdParty เพื่อพัฒนาส่วนของการชำระเงินอาจจะตอบโจทย์ได้มากกว่า
นอกจากนั้น ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมด้วยว่า หากร้านค้ามีการพัฒนาส่วนของ Notification เพื่อแจ้งข่าวสารกับลูกค้าเพิ่มเติมเรื่อยๆ ก็จะทำให้การมีส่วนร่วมของผู้ซื้อบนแอปพลิเคชันมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ที่มา: MarketingLand