วิธีพัฒนาประสิทธิภาพของโพสต์บนโซเชียลมีเดียมีมากมายหลายวิธี บางคนอาจสร้างปกวิดีโอที่สวยงาม กำหนดหัวข้อที่น่าดึงดูดให้อ่าน หรือแม้แต่การทำกราฟิกสวยๆ
แต่วันนี้ Thumbsup ขอเสนอโพสต์ 8 ประเภทที่แบรนด์ไม่ควรแชร์บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์เสียหายและลูกค้าอาจเลิกติดตามแบรนด์ของคุณได้
1. โพสต์ด้านลบเกี่ยวกับลูกค้า
หากเกิดเหตุการณ์ความไม่พอใจกับลูกค้าบนโซเชียลมีเดีย แทนที่จะโพสต์ระบายความโกรธลองมองให้เป็นโอกาสในแสดงบริการลูกค้าที่ดี (Customer Service)
เปลี่ยนความไม่พึงพอใจของลูกค้าเป็นการรับมือแบบมืออาชีพและมีมารยาท ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดีขึ้น
2. โพสต์การเมืองและศาสนา
คงไม่เป็นเรื่องผิดหากจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในบัญชีโซเชียลมีเดียส่วนตัว แต่ในนามของแบรนด์และธุรกิจการแสดงความคิดเห็นหรือแชร์โพสต์เกี่ยวกับการเมืองและศาสนานั้นเป็นวาระทางสังคมที่อ่อนไหว และกระทบต่อความรู้สึกของคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ทันที แบรนด์จึงควรใช้ความระมัดระวังในการแสดงออกในประเด็นเหล่านี้
3. ไวรัลที่ไม่เกี่ยวข้อง
กระแสไวรัลอาจช่วยให้คอนเทนต์ของคุณสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ไวรัลคอนเทนต์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ก็คงไม่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย
หลายๆ แบรนด์มีภาพลักษณ์ที่หรูหรา กลุ่มเป้าหมายคือผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง คอนเทนต์ที่สนุกสนาน ขี้เล่นก็คงไม่สื่อสารคุณค่าของแบรนด์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย
4. โพสต์ที่ขายของเกินไป
จุดประสงค์ที่หลายแบรนด์สร้างบัญชีบนโซเชียลมีเดียคือต้องการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Awareness) และ สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า แต่ลูกค้าของคุณไม่ได้ต้องการรับรู้ข้อมูลสินค้าและบริการของคุณอยู่ตลอดเวลา ให้ลองสร้างคอนเทนต์ในแง่ของการให้ความรู้ ความบันเทิง และการมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์
5. โพสต์ที่ไม่บ่งบอกตัวตนของแบรนด์
ในแต่ละวันมีคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นมากมาย แต่ทำอย่างไรให้คนจดจำแบรนด์ของเราได้? การสร้างตัวตนของแบรนด์สามารถสื่อสารได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่าย ไอคอน กราฟิก รวมถึงการสื่อสารที่แสดงเอกลักษณ์ของแบรนด์ เช่น หรูหรา อบอุ่น ผจญภัย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถจดจำแบรนด์ได้ง่ายขึ้น
6. โพสต์พาดหัวให้เข้าใจผิด
พาดหัวหรือหัวข้อควรดึงดูดให้เข้ามาอ่านเนื้อหา แต่พาดหัวที่ทำให้เข้าใจผิดเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงเช่น พาดหัวกระตุ้นให้อยากรู้ แต่เมื่อกดเข้าไปเนื้อหากลับไม่ตรงแล้วกลับมีโฆษณาเต็มไปหมด นอกจากจะทำให้ผู้ติดตามผิดหวังแล้วยังถือว่าผิดหลักจรรยาบรรณพอๆ กับการสร้างข่าวลวง ข่าวปลอม (Fake News) อีกด้วย
7. โพสต์ที่ไม่ระบุแหล่งที่มา
การอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้กับแบรนด์ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับโซเชียลมีเดีย การโพสต์ที่ไม่ระบุแหล่งที่มาแล้วนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์อาจผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ทางที่ดีควรระบุแหล่งที่มาตามมารยาทที่เหมาะสม ที่สำคัญช่วยทำให้คอนเทนต์มีความน่าเชื่อถือและยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์อีกด้วย
8. โพสต์ที่ไม่ผ่านการตรวจทาน
โพสต์ที่ขาดการตรวจทานและความเป็นมืออาชีพอาจทำให้มุมมองของลูกค้าเปลี่ยนไป แน่นอนว่าความเชื่อมั่นของลูกค้าส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ ก่อนโพสต์ควรตรวจทานคำแปล คำผิด รวมถึงความหมายที่ต้องการสื่อสารออกไป
อ้างอิง redwebsitedesign, thenextscoop