Site icon Thumbsup

9 กฎสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง

คุณธนพล ทรัพย์สมบูรณ์

ต้องบอกว่า สำหรับยุคนี้ การทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งสำหรับ Entrepreneur เป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่น่าสนใจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ เรามีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จเปรี้ยงปร้างจากการใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งในการสร้างหรือประยุกต์ใช้ดิจิทัลเข้ากับกระบวนการทางการตลาดเหล่านั้น หากพิจารณาดี ๆ แล้วจะพบว่ามีหลายจุดที่สามารถใช้เป็นตัวอย่างให้กับวงการได้ไม่น้อยเลยทีเดียว วันนี้เราจึงขอนำเทคนิค 9 ข้อที่กลั่นมาจากประสบการณ์ตลอด 18 ปีของคุณธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ หรือโชวบักท้ง ซีอีโอบริษัท วายดีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด มาบอกเล่าให้ได้ฟังกันค่ะ

1. อย่ามองหาสูตรสำเร็จสำหรับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง

ข้อแรกเลยนั้น คุณธนพลบอกว่า การทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง “ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว” จากที่หลาย ๆ คนอาจคุ้นเคยกับเฟรมเวิร์ก 5 ขั้นที่ประกอบด้วย Awareness-Consider-Preference-Convert Purchase-Loyalty แต่ในการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง บางทีเฟรมเวิร์กดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้เสมอไป แต่จุดที่ควรพิจารณาเป็นอันดับแรกคือการวิเคราะห์แบรนด์ให้ชัดเจนก่อน เพราะต่อให้เป็นโปรดักซ์ชนิดเดียวกัน เช่น ครีม ระหว่างแบรนด์ที่มีคนรู้จักเยอะแล้ว กับแบรนด์ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ เวลาคิดหากลยุทธ์ การให้น้ำหนักกับ Strategy แต่ละตัวก็แตกต่างกัน

2. วิเคราะห์ลูกค้าให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้

เรื่องของยอดขายก็เช่นกัน อาจมีหลายคนที่เคยคิดว่า ออนไลน์นั้นเป็นที่ที่มีลูกค้าทุกเพศทุกวัยมารวมตัวกันอยู่มากมาย ซึ่งนั่นน่าจะหมายถึงยอดขายขนาดมหึมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คุณธนพลมองว่า ลูกค้าไม่ใช่คนทุกคนที่เราพบบนโลกดิจิทัล เป็นหน้าที่ของแบรนด์ที่ต้องค้นให้เจอว่าลูกค้าของเรานั้นอยู่ตรงไหน คิดอย่างไรกับสินค้าหรือบริการของเรา และทำไมเขาถึงต้องซื้อ ซึ่งนี่คือสามคำถามที่หากสามารถหาคำตอบได้ จะทำให้เข้าใจลูกค้าและสามารถพัฒนากลยุทธ์ด้านการตลาดตามมาได้อีกมากมาย

3. ทำให้ลูกค้าสนใจและตื่นเต้นให้ได้

ในจุดนี้แคมเปญดิจิทัลควรจะตื่นเต้น และน่าสนใจ เพราะจะสามารถแย่งตัวลูกค้าบนหน้าจอสมาร์ทโฟนได้มากขึ้น เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะทุกวันนี้ความสนใจของคนเราในการใช้งานเบราเซอร์ และสื่อ Social Media นั้นน้อยลงทุกที ถ้าลูกค้าเข้ามาในเว็บไซต์แล้วไม่เจอสิ่งที่ต้องการ ภายในเวลาไม่นานเขาก็จะออกไปเข้าเว็บอื่น ดังนั้น การทำให้ลูกค้ารู้สึกสนใจ ตื่นเต้น และหันมามองได้นั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งการจะทำให้คนสนใจได้นั้น นอกจากภาพแล้ว ข้อความประกอบก็มีส่วนสำคัญมาก ในจุดนี้ คุณธนพลเผยว่า Copy Writing เจ๋ง ๆ สามารถหยุดความสนใจของลูกค้าได้ดีไม่แพ้ภาพถ่ายเลย (คุณธนพลให้ทัศนะว่าอาจจะดีกว่าภาพถ่ายด้วยซ้ำ)

4. ออปติไมซ์สื่อที่ใช้ตลอดเวลา

การทำแคมเปญให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น คุณธนพลเผยเทคนิคว่า สื่อที่ใช้ควรจะ Target ได้ เช่น เจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงอายุ 18 – 30 ปี มากไปกว่านั้น อาจจะดีกว่าหากแยกแคมเปญออกมาเป็นแคมเปญย่อย ๆ เพราะจะทำให้แบรนด์ได้ทราบว่า ลูกค้าของเราอยู่ตรงไหนมากที่สุด และโซนไหนที่ไม่มีลูกค้าของเราเลย เช่น จาก Target ข้างต้น สามารถแยกออกมาเป็น

ลูกค้าผู้หญิงอายุ 18 ปี อาศัยอยู่ในเมือง,
ลูกค้าผู้หญิงอายุ 18 ปีอาศัยอยู่นอกเมือง,
ลูกค้าผู้หญิงอายุ 19 ปี อาศัยอยู่ในเมือง,
ลูกค้าผู้หญิงอายุ 19 ปี อาศัยอยู่นอกเมือง ฯลฯ

หากพบว่าแคมเปญใดไม่ได้รับการตอบรับก็จะได้ปิดแคมเปญนั้นทิ้งไปแล้วนำเงินไปทุ่มในแคมเปญที่ได้ผลสูงกว่า ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากเป็นการซื้อสื่อที่ไม่สามารถออปติไมซ์ได้

5. สร้าง Good Voice บน Social Media

ผู้ที่สามารถสร้าง Good Voice บน Social Media ได้คือคนที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจ ซึ่งในกรณีนี้คุณธนพลได้ยกตัวอย่างของแบรนด์เครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่งที่จะทำการเปิดตัวโปรดักซ์ใหม่ในประเทศไทยเป็นที่แรกของโลก จึงมีการสร้างแคมเปญว่าจะเลือกผู้โชคดี 100 คนให้ได้ลองใช้สินค้าก่อนใคร รวมถึงได้มีการจัดทำกล่องบรรจุภัณฑ์สินค้าให้มีความพรีเมียม เพื่อให้ผู้รับเกิดความภาคภูมิใจ และได้จัดส่งให้กับบล็อกเกอร์ – อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังด้วย ผลก็คือ มีการถ่ายรูปกล่องบรรจุภัณฑ์โพสต์ลงใน Social Media รวมถึงเกิดการทอล์ก และการรีวิวสินค้าออกมามากมาย จากนั้นแบรนด์จึงประกาศวันในการวางจำหน่าย พร้อมโปรโมชัน ซึ่งแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี สินค้าสามารถขายได้หมดทุกสาขา

6. หาพาร์ทเนอร์ดี ๆ

การมีพาร์ทเนอร์ดี ๆ อาจช่วยได้มากกว่าการพยายามขายด้วยตัวเอง ในจุดนี้คุณธนพลมองเพิ่มด้วยว่า แทนการเข้าหาลูกค้าตรง ๆ เปลี่ยนเป็นเข้าหาพาร์ทเนอร์ที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วก็เป็นวิธีที่ดีเช่นกัน โดยให้แง่คิดในการพิจารณาว่า สินค้าของเราสามารถเข้าไปขายในลิสต์ของเขาได้ไหม ถ้าไปด้วยกันได้ก็จะเป็นวิธีสร้างการเติบโตได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง

7. ลูกค้าเดิมคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด

พยายามรักษาลูกค้าเดิมเอาไว้ เนื่องจากการหาลูกค้าใหม่จะทำให้ธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งการรักษาลูกค้าเดิมนั้นอาจทำได้ผ่านแคมเปญต่าง ๆ เช่น การทำอีเมลมาร์เก็ตติ้งด้วยการส่งอีเมลให้คนที่เคยซื้อสินค้าของเรามาแล้ว เป็นต้น

8. ดิจิทัลทำได้มากกว่ามาร์เก็ตติ้ง

ทุกวันนี้ มีวิธีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สร้างยอดขายได้อีกมากมาย เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน ที่สามารถใช้ Push Notification ในการแจ้งข่าวสารกับลูกค้าได้ หรือจะใช้อีเมลมาร์เก็ตติ้งก็ได้เช่นกัน

คุณธนพลฝากทิ้งท้ายในข้อที่ 9 ด้วยว่า ยุคดิจิทัลไม่ใช่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า ดังนั้นหากจะทำธุรกิจในยุคดิจิทัล การกล้าที่จะลองอาจเป็นอาวุธสำคัญ และหากพลาดขึ้นมาก็ต้องตัดใจให้เร็ว เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น และต้องลุกให้ไว

เป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคนค่ะ