ช่วง Long weekend นี้ ผมมีจังหวะใคร่ครวญนึกถึงสิ่งที่ได้ทำในช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในสิ่งที่อดภาคภูมิใจกับมันไม่ได้นั่นก็คือ Spark Conference งานประเภท Tech Conference ขนาดกว่า 1,000 คน ที่ผมร่วมกับกองบรรณาธิการ thumbsup สร้างมันขึ้นมา
งานวันนั้นเรามีแขกรับเชิญที่เรารู้สึกขอบคุณมากๆ ที่พวกเขาสู้อุตส่าห์สละเวลามาร่วมงานของเรา นั่นก็คือ คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์, คุณพรทิพย์ กองชุน, คุณ David Meerman Scott, คุณสุรางคณา วายุภาพ, คุณ Paul Srivorakul, คุณ Willis Wee, คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ และคุณสาโรจน์ อธิวิทวัส ตลอดจนสปอนเซอร์ของงานทุกท่าน Computerlogy, dtac, ETDA, PHOINIKAS Digital, Sharpener, Syndacast, True Incube และ ThaiLiveStream.com, Eventthai เพื่อนๆ ในวงการดิจิทัลทุกคน ผมอยากขอบคุณทุกท่านไว้อีกทีตรงนี้ครับ
เมื่อพูดถึงแขกรับเชิญ อีกหนึ่งท่านที่เพื่อนๆ ในวงการธุรกิจดิจิทัลชอบไถ่ถามถึงรายละเอียดเยอะหน่อยก็คือ คุณ David Meerman Scott นักกลยุทธ์การตลาด และเจ้าของหนังสือขายดี “New Rules of Marketing & PR” เพราะ David ต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลจากบอสตันตรงมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อเป็น Keynote Speaker ให้กับเราใน Spark Conference แถมการจะได้คิว David มาไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแย่งตัวเขามากับผู้จัดงานหลายๆ คนในช่วงนั้น แต่ท้ายสุดก็ได้มาโดยส่วนตัวแล้ว ผมมีจังหวะได้นั่งคุยกับแขกรับเชิญระดับอินเตอร์คนนี้แบบเดี่ยวๆ กว่า 3 ชั่วโมงเต็ม วันนี้เลยเอาสิ่งที่ผมได้คุยกับ David เกี่ยวกับมุมมองของเขาที่มีกับวงการดิจิทัลมาแชร์กับ thumbsupers ครับ
“พาผมเดินไปที่ม๊อบหน่อยสิครับ” David เอ่ยปากออกมาอย่างแรกหลังจากทักทายกันเสร็จ ผมถามเขายิ้มๆ ว่าทำไมถึงอยากไป David บอกว่า “ตอนผมตัดสินใจมากรุงเทพฯ เพื่อนผมทุกคนบอกว่าผมบ้า เพราะข่าวมันออกไปทั่วโลกว่าเหตุการณ์มันรุนแรงมากขึ้นทุกที แต่ผมติดตาม Twitter ของ @RichardBarrow เลยรู้ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใครๆ คิด” และนี่คือภาพที่ผมถ่ายให้ David วันนั้น
ผมพา David ฝ่าดงม๊อบ เขาไม่มีท่าทีหวั่นเกรงอะไร พร้อมกับบอกว่าก่อนหน้านี้เขาเดินทางไปเป็น Keynote Speaker ที่ประเทศอื่นอย่างที่อียิปต์ก็เจอสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้เหมือนกัน แถมหยุดซื้อเสื้อยืด Collection “Shut down Bangkok” กลับไปด้วย 2 ตัว ก่อนที่เราจะแวะทานข้าวและเริ่มคุยเรื่องธุรกิจดิจิทัลกับแขกรับเชิญคนนี้แบบเต็มๆ
สิ่งที่เราคุยกันคืนนั้นก็คือเรื่องการเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งท้ายสุดได้กลายมาเป็นบล็อกที่เขาเขียนเอาไว้ที่ When the world’s attention turns to your expertise ผมเห็นว่าน่าสนใจดีเลยถอดความมาให้อ่านกันครับ
– – – – – –
ผมมาถึงกรุงเทพฯ ช่วงดึกเมื่อคืนนี้ ณ ตอนนั้นคนขับขับจวนจะถึงบริเวณสยามสแควร์ซึ่งเป็นที่ที่โรงแรมของผมตั้งอยู่ เวลาล่วงเลยไปถึงตีหนึ่งแล้ว แต่ถนนยังถูกบล็อคโดยผู้ประท้วง
เราจำเป็นต้อง U-turn และขับต่อไปอีกราวสิบนาทีเพื่ออ้อมไปอีกด้านของโรงแรม แต่ก็ติดบล็อคอีก ถนนเต็มไปด้วยยางรถยนต์เก่าๆ ที่ห้อยแขวนระโยงระยาง คาดด้วยเทปพลาสติกเป็นเหมือนรั้ว
คนขับแท็กซี่ไปไหนต่อไม่ได้ เขาหันมามองหน้าผมเชิงพยักเพยิดว่า ถึงเวลาที่ผมจะต้องลงเดินแล้ว
“ขอบคุณครับ” ผมบอกกับคนขับและลงมาจากรถ ผมหิ้วกระเป๋าออกจากท้ายรถ คนขับกุลีกุจอช่วยผมเต็มที่พร้อมกับขอโทษที่ไปส่งถึงที่ไม่ได้ ในขณะที่ผู้ประท้วงจ้องมองผมอยู่ ผมให้ทิปกับคนขับแล้วเดินออกมา
ผมต้องเดินไปโรงแรมด้วยตัวเอง คนแถวนั้นบอกผมว่าโรงแรมอยู่ห่างไปอีกหลายร้อยเมตรแต่ผมก็ยังไม่เห็น และนั่นเป็นช่วงตีหนึ่งในเมืองที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ผมก็ไม่ได้กลัว และเริ่มที่จะเดินต่อไป
เข้าสู่งาน Spark Conference
เพื่อที่จะเตรียมตัวสำหรับการพูดพรุ่งนี้เช้าในงาน Spark Conference ผมได้นัดพบกับ @jakrapong ผู้ประกอบการหนุ่ม ผู้ร่วมก่อตั้ง ThumbsUp Media ซึ่งจัดงานครั้งนี้ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในกรุงเทพฯ แม้ว่าเพื่อนๆ ของผมหลายคนจะบอกไม่ให้ผมมากรุงเทพฯ (บางคนบอกว่าผมบ้า) ผมก็บอก Jak ว่าถ้า conference ยังคงจัดอยู่ผมจะพยายามไปให้ได้ ผมนั่งติดตามข่าวจากเว็บไซต์ของทางการสหรัฐฯ สำหรับคำแนะนำที่มีให้กับชาวอเมริกันที่จะเดินทางเข้าไทย และตรวจข่าวในสื่อหลักอย่าง BBC
แต่เหตุผลที่ผมตัดสินใจเดินทางมากรุงเทพฯ และทำไมผมไม่กังวลที่จะเดินเข้าโรงแรมเลยเพราะผม follow @RichardBarrow บน Twitter Richard เป็น Blogger ด้านการท่องเที่ยว ทำงานอิสระเต็มเวลาในเมืองไทย และเขายังคอยอัปเดตเกี่ยวกับสถานการณ์ในกรุงเทพฯ อยู่ตลอดเวลาด้วย
เมื่อสิ่งที่คุณรู้กลายเป็นข่าวด่วนที่คนกำลังสนใจ
ในขณะที่ข่าวแพร่สะพัดออกไปทั่วโลกว่าผู้ประท้วงพากันบล็อกการจราจรในประเทศไทย Richard รู้ว่านี่คือโอกาสสมบูรณ์แบบในการที่เขาจะได้เป็นหูเป็นตาให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและสื่อมวลชนที่กำลังสนใจเรื่องนี้ Richard เผยแพร่ข้อมูลแบบ real time ทุกๆ ชั่วโมง
หนึ่งในข่าวที่สำคัญที่สุดในโลกอยู่ในมือของ Richard เพราะเขาถนัดเรื่องเมืองไทย
“ผมเริ่มทวีตมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2010 เมื่อตอนนั้นมีการประท้วงในกรุงเทพฯ,” Richard บอกกับผม “ผมแค่ซื้อ smartphone เครื่องแรกและเริ่มทวีตเมื่อมีการประท้วงในปีนั้น ผมทวีตรูปภาพและทำ live updates ความคืบหน้าเกี่ยวกับม๊อบที่ส่งผลกระทบกับการจราจร เวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ จากหลายสัปดาห์เป็นหลายเดือน ผมเข้าตามเว็บไซต์ต่างๆ และอัปเดตเรื่อยมา ณ เวลานี้ Twitter กลายเป็นเหมือนอะไรที่พระเจ้าประทานมาให้กับชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ในขณะที่ข่าวส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย นอกจากมุมมองของผมเองแล้ว ผมยังคอยแปลข่าวจากสื่อไทย นี่คือสิ่งที่ผมเริ่มทำก่อนที่จะมีคน following”
ในเมื่อข่าวของการประท้วงยังไม่คลี่คลาย และผมเองก็พิจารณาที่จะเดินทางมากรุงเทพฯ ผมเองก็รู้ว่าข่าวคงมีโอกาสที่จะถูกบิดเบือนจากหลายๆ วิธี ข่าวอาจจะถูกแปลจากสื่อท้องถิ่นในไทยแล้วเข้าข้างรัฐบาล หรือเข้าข้างผู้ประท้วงก็ได้ สื่อระดับนานาชาติเองต่างพากันมองว่าสถานการณ์น่าจะเลวร้ายสุดๆ ทั้งที่แหล่งข่าวก็ไม่ได้มาจากผู้คนที่อยู่ในสถานการณ์จริงๆ ผมเลยไม่ค่อยปักใจเชื่อนัก
นี่คือเหตุผลว่าทำไม Richard กลายเป็นแหล่งข่าวแรกของผม ซึ่งอยู่ในเมืองนี้ และเข้าใจเรื่องการเดินทาง ผมพบว่าเขายังกลายเป็นแหล่งข่าวให้กับสื่อต่างๆ อีกด้วย อย่างเช่น เขาสร้างแผนที่ real-time จน Huffington Post เอาไปบอกต่อว่าส่วนไหนของกรุงเทพฯ ที่ควรหลีกเลี่ยง
“การประท้วงคราวนี้แตกต่างจากคราวที่แล้วนิดหน่อย” Richard กล่าว “คราวนี้ผู้ประท้วงยึดเอาสถานที่หลายๆ แห่งในกรุงเทพฯ พร้อมๆ กัน นอกจากนี้สื่อไทยต่างก็อยู่บน Twitter ผมเลยสามารถรวบรวมข่าว (แล้วตัดสินใจว่าอันไหนน่าเชื่อถือ) จากนั้นก็แปลกลับเป็นภาษาอังกฤษก่อนจะส่งให้ follower ของผม ยิ่งไปกว่านั้นผมยังได้รับรายงานข่าวจากนักข่าวพลเมืองที่เป็นชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยว และยังปั่นจักรยานเข้าไปเพื่อดูเหตุการณ์สดจริงๆ แล้วทำ live updates ไปที่ Twitter”
สิ่งที่น่าประหลาดใจสำหรับผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ การที่ใครก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางความสนใจของคนทั่วโลก มันเป็นเหมือนกับแนวคิด newsjacking ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณมีคนติดตามเยอะอยู่แล้วในเรื่องนั้นๆ นี่เป็นโอกาสทองในการที่จะขยายอิทธิพลทางความคิด ถ้าคุณเร็วพอและยินดีที่จะทำงานหนัก
Richard มีเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วยในการรายงานแบบ real time รวมถึงใช้เครื่องบินจิ๋ว drone aircraft ที่ใช้บินไปรอบๆ กรุงเทพฯ (เพื่อเก็บภาพมุมสูงแบบที่เฮลิคอปเตอร์เก็บได้)
“เทคโนโลยีถูกปรับปรุงขึ้นเยอะเมื่อเทียบกับตอนที่ผมรายงานข่าวม๊อบในปี 2010,” Richard กล่าว “อายุการใช้งานของแบตเตอรี่เป็นปัญหาหลักในเวลานั้น แต่ตอนนี้เรามี battery packs ที่ทำให้เราอยู่ต่อได้หลายวัน นอกจากนี้ผมยังมีกล้อง DSLR ที่เชื่อมต่อกับ WiFi ได้ ดังนั้นผมเลยสามารถซูมเข้าไปได้ง่ายขึ้นก่อนที่จะทวีตขึ้นไปด้วย 3G ซึ่งช่วยผมได้มากในการส่งภาพและวิดีโอขึ้น social media แต่ในพื้นที่ประท้วงบางแห่งผู้ประท้วงต่างพากันถ่ายภาพ selfie ขึ้น Facebook ทำให้เน็ตเวิร์คช้าเป็นเต่าคลาน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้มากๆ ก็คือ quadcopter ของผม ผมใช้มันบินขึ้นไปเหนือกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้ผมพอกะได้ว่ามีคนมาร่วมชุมนุมราวเท่าไหร่ อุปกรณ์ทั้งหมดนี้เก็บเอาไว้ในประเป๋าหลังของผม ทำให้ผมทำข่าวได้จากทุกที่ขณะปั่นจักรยานไปตามจุดชุมนุมต่างๆ”
การอัปเดตข่าวของ Richard ได้รับความสนใจจากสื่อระดับโลก นักข่าวทั่วโลกรวมถึง CNN, The Telegraph, Huffington Post, The New York Times และคนอีกจำนวนมาก ต่างใช้เรื่องราวจากเขาเป็นหลัก
“Twitter มีค่าแบบประเมินไม่ได้สำหรับชาวต่างชาติที่อาศัยที่นี่ และนักท่องเที่ยวที่แวะมากรุงเทพฯ เพราะมันสามารถอัปเดตสถานการณ์ได้จากคนจำนวนมากทั่วกรุงเทพฯ,” Richard กล่าว “เราไม่จำเป็นต้องพึ่งสื่อกระแสหลักมาคอยบอกเราว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างแล้ว เรากำลังจัดการตัวเราเองอยู่ ณ ตอนนี้”
ด้วยการอัปเดตที่เยี่ยมยอดของ Richard และการยืนยันจาก Jak ทำให้ผมมั่นใจว่าผมปลอดภัยที่จะเดินทางมางาน Spark Conference และไม่กลัวที่จะเดินมาที่โรงแรม ท้ายสุด ผมมาถึงจุดรักษาความปลอดภัยของโรงแรม และขอบคุณฝ่ายรักษาความปลอดภัยที่ช่วยตรวจสอบกระเป๋าผมก่อนจะให้ผมผ่านเข้าไปในโรงแรมได้
ผมสามารถที่จะยกเลิกการเดินทางครั้งนี้ได้ ผมสามารถที่จะอยู่กับบ้านก็ได้ ผมสามารถทำให้ Jak และผู้ร่วมงาน Spark Conference ที่ลงชื่อนับพันคนเสียใจก็ได้ ถ้าผมปล่อยให้ความกลัวควบคุมผม แต่ Jak กับ Richard (และ social networking) ทำให้ผมมาถึงกรุงเทพฯ ได้ในที่สุด
ไม่ช้าก็เร็ว โลกจะสนใจในความถนัดของคุณ
ถ้ามีข่าวด่วนเข้ามา แล้วคุณเป็นคนที่รู้เรื่องนั้นดี มันย่อมเป็นโอกาสในการที่คุณจะช่วงใช้จังหวะนี้ในการแชร์ความคิดของคุณกับโลกทั้งใบ ถ้าคุณกระฉับกระเฉงแบบ Richard คุณสามารถกลายเป็นแหล่งข่าวระดับโลกได้ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น และนั่นหมยความว่าหลายปีถัดไป คุณก็จะกลายเป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เหมือนกับที่ Richard ทำในเมืองไทย
– – – – – –
เย็นวันนั้น ผมนั่งดื่มกับ David และคุยกันหลายต่อหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่เขาเขียนหนังสือ มาหลายเล่ม แต่เคยเจ๊งไม่เป็นท่า จนหนังสือ New Rules of Marketing & PR ได้รับการยอมรับในระดับโลก และมีคนแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 25 ภาษา เปิดโอกาสให้เขาได้เดินทางไปทั่วโลก นั่นเป็นเพราะความมุ่งมั่น และไม่เคยหยุดเขียนในสิ่งที่ตัวเองเชื่อและรักมัน
ผมตั้งข้อสังเกตว่าหลักในการเขียนหนังสืออย่างหนึ่งคือเขามักจะดึงเอาเรื่องที่ตัวเองสนใจมากที่สุดเป็นการส่วนตัวแล้วเอามาผสมกับเรื่องของการตลาดอย่างเช่น Marketing Lessons from the Grateful Dead ที่มาจากการที่เขาคลั่งไคล้วงดนตรี Grateful Dead และ Marketing the Moon เล่มล่าสุดที่เพิ่งวางแผง เกิดจากการที่เขาคลั่งไคล้การเดินทางไปดวงจันทร์ขององค์การนาซ่า จนถึงขั้นมีกระสวยอวกาศอยู่ในห้องนั่งเล่นที่บ้าน ผมถาม David ว่าจริงหรือเปล่า เขาตอบว่า “You know my secret, it’s your turn, Jak”