ปณิธานวันปีใหม่ หรือ New Year’s Resolution คือหนึ่งในเรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงนี้ ถึงจะไม่มีการเก็บสถิติที่อ้างอิงได้ในประเทศไทย แต่นักวิจัยชาวอเมริกันบอกว่า มีแค่ 8% เท่านั้นที่พิชิตเป้าหมาย New Year’s Resolution ได้ จากจำนวนเต็มคือ 50% ของชาวอเมริกันทั้งหมด
แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากจะเป็น 8% ที่ว่า แต่ปัญหาคือ เราจะทำมันได้อย่างไร บทความนี้มีคำแนะนำจาก Dr. Paul Marciano นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรม โดย Dr. Marciano มีความเชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแรงจูงใจ
1. ระบุเป้าหมายให้ชัดเจน
หลายๆ คนมักพูดว่า “ปีนี้ฉันจะลดความอ้วน” หรือ “ปีนี้ต้องหุ่นเป๊ะ” ฟังดูก็ไม่แปลกอะไรสำหรับการพูดถึงปณิธานปีใหม่ แต่นั่นยังไม่ชัดเจนพอ เพราะมันควรจะเป็นอะไรที่จับต้องได้ เช่น “ปีนี้ฉันจะลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัม” หรือ “ปีนี้จะต้องออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4 ครั้ง” เพราะการกำหนดเป้าหมายให้เป็นตัวเลข จะทำให้มันถูกวัดผลได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ขั้นตอนแรกของการเปลี่ยนพฤติกรรมคือการทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า “มันคืออะไร”
2. ติดตามความก้าวหน้า
“ถ้าคุณวัดมันได้ คุณก็เปลี่ยนมันได้” นี่คือหัวใจสำคัญของจิตวิทยา และการวัดผลเหล่านี้จะเป็นพลังงานชั้นดีในการสร้างแรงจูงใจ โดยเฉพาะเมื่อคุณเห็นความต่างระหว่างจุดเริ่มต้นและจุดที่คุณอยู่ในปัจจุบัน
3. อดทน
เมื่อตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนจับต้องได้แล้ว ต้องระลึกอยู่เสมอว่าขั้นตอนไปสู่เป้าหมายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแบบเป็นเส้นตรง มันอาจจะช้าในช่วงแรก หรืออาจจะมาถึงทางตันเมื่อเดินหน้ามาได้ครึ่งทาง ต้องคิดไว้ตลอดเวลาว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
4. ประกาศเป้าหมายให้เพื่อนและครอบครัวรับรู้
ถึงมันอาจจะฟังดูเขินๆ นิดหน่อยถ้าจะต้องประกาศเป้าหมายที่คุณอาจจะทำไม่สำเร็จให้คนอื่นได้รับรู้ แต่การสนับสนุนจากคนรอบข้างก็เป็นแรงผลักดันสำคัญให้คุณก้าวไปจนถึงเป้าหมายได้ เพราะฉะนั้น พูดมันออกมาเถอะ พวกเขาอาจมีเคล็ดลับดีๆ มาแนะนำก็ได้
5. วางเป้าหมายลงใน “สิ่งที่ต้องทำ”
บ่อยครั้งที่เราพูดคำว่า “ไม่มีเวลา” หรือ “เดี๋ยวค่อยหาเวลาทำ” ในความเป็นจริงคือ ไม่มีใครหาเวลาได้หรอก เพราะมันเป็นการจัดสรรเวลา มันคือการเลือกของเราเอง ถ้าให้ความสำคัญกับสิ่งไหน คุณจะมีเวลาให้กับมันเสมอ เพราะฉะนั้น จัดมันลงในตารางที่ต้องทำในแต่ละวัน แล้วจงให้ความสำคัญกับมันเหมือนการนัดเดท หรือนัดหมอฟัน
6. คิดไว้เสมอว่า “ทำน้อยยังดีกว่าไม่ทำเลย”
เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ลองนึกถึงตัวเองตอนที่จะลดความอ้วนแต่ต้องไปกินหมูกระทะกับที่ทำงาน หลังจากนั้นก็พาลคิดไปว่า “ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ต่อด้วยไอติมอีกถ้วยละกัน” แล้วโปรแกรมลดความอ้วนก็ถูกเลื่อนออกไป นี่คือวิธีคิดแบบ “All or nothing” ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องทำเลย ซึ่งมันจะทำให้คุณไปถึงเป้าหมายได้ช้าลง หรืออาจจะไม่มีวันไปถึง
ที่ควรจะเป็นคือ “ได้ทำบ้างก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย” ถ้าจัดหมูกระทะไปแล้ว ก็งดของหวานซะเถอะ อย่างน้อยก็ไม่ได้รับน้ำตาลมากเกินความจำเป็น
ถ้าคุณไม่มีเวลาออกกำลังกายให้ครบ 1 ชั่วโมงตามเป้าหมาย ลองดูแค่ 20 ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร
7. ลุกขึ้นเมื่อทำพลาด
ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เหมือนที่ Vince Lombradi ว่าไว้ “มันไม่สำคัญว่าคุณจะล้มลงไปกี่ครั้ง แต่มันสำคัญตรงที่คุณลุกขึ้นมาได้กี่ครั้งต่างหาก” อย่าทำให้ความล้มเหลวชั่วคราวเปลี่ยนความตั้งใจของคุณ แต่ควรจะเรียนรู้ความผิดพลาดนั้น แล้วจัดการอะไรๆ ใหม่
Dr. Marciano สรุปว่า การพิชิตเป้าหมายไม่ใช่เรื่องของพลังใจเพียงอย่างเดียว แต่มันหมายถึงการพัฒนาทักษะและการคิดในเชิงกลยุทธ์ที่ต้องมีความอดทนด้วย
ลองนำเคล็ดลับทั้ง 7 ข้อนี้ไปใช้ดู แล้วคุณจะกลายเป็นคน 8% ที่จะได้เฉลิมฉลองกับตัวตนใหม่ในช่วงปลายปี 2016
ที่มา : Forbes