ผ่านไปแล้ว 9 ตัวอักษรในตอนแรกของบทความชุดที่เขียนในแนวทางจากความคิดของผมเอง มาถึงตอนที่สองแล้วซึ่งผมก็ยังคงรวบรวมเรื่องราวที่น่าสนใจและถูกวางไว้ในตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้ง 26 ตัว ซึ่งในตอนนี้ผมหยิบมา 8 ตัวอักษร แม้จะน้อยกว่าตอนแรกแต่เนื้อหายังความน่าสนใจเช่นเดิมครับ
ตอนแรกอ่านได้ที่นี่ครับ A-Z ด้านไอทีและดิจิทัลปี 2013 ในความคิดของ @charathBank (ตอนที่ 1)
J – Job
ตำแหน่งงานในปี 2013 มีการเปลี่ยนแปลงเทรนด์อย่างมาก ความต้องการของตลาดจากเดิมที่เป็นโปรแกรมเมอร์ทั่วไป ก็ถูกเปลี่ยนให้กลายมาเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เกี่ยวกับโมบายล์มากขึ้น หรือการหันมาตั้งบริษัทเอง เรียกตัวเองว่าเป็น Startup กันเยอะมากขึ้นในปี 2013
อีกทางที่น่าสนใจคือด้าน Digital Marketing ที่บริษัทต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญ รวมทั้งมีการชิงตัวและมีการสลับสับเปลี่ยนบริษัทกันอยู่มากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ดี ความต้องการของบุคคลากรด้านนี้ยังคงมีอีกมาก ใครที่สนใจผมว่าไม่สายเกินไปครับ โอกาสในด้านนี้มีมากจริงๆ และดูไปแล้วอีกปีสองปีนี้ก็ยังคงแรงไม่หยุดอย่างแน่นอน
K – KitKat
นับเป็นการ Featuring กันครั้งใหญ่ของสองยักษ์ใหญ่ด้าน IT อย่าง Google และบริษัทผลิตแบรนด์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Nestle ที่มีการนำเอาชื่อของผลิตภัณฑ์มาเป็นชื่อของเวอร์ชันล่าสุดของแอนดรอยด์ จากเดิมที่ใช้ชื่อขนมหวานแบบกลางๆ รวมทั้งชื่อที่มีการคาดการณ์ว่าจะตั้งไว้ก่อนหน้าคือ Key Lime Pie การรวมกันครั้งนี้ผมถือว่า WIN-WIN ครั้งใหญ่สุดๆ เพราะทั้งคู่ต่างได้ประโยชน์ Android ได้ชื่อที่คุ้นปากขึ้นและการโปรโมทจากจุดวางขายในห้าง ส่วน Nestle ได้โปรโมทกับทุกเครื่องที่เป็นโมบายล์ที่ใช้แอนดรอยด์
เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า รุ่นต่อไปที่จะเป็นตัว L นั้นจะยังคงเป็น Nestle อยู่หรือไม่ หรือจะมีบริษัทอื่นๆ มาร่วมวงในชื่อต่อไป แล้วใช้ชื่อว่าอะไรนะ?
L – LINE
มากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก, มากกว่า 18 ล้านคนจากไทย คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก LINE แอปพลิเคชันจากประเทศญี่ปุ่นที่มาพร้อมกับความน่ารักของตัวการ์ตูนที่ดูดเงิน 60 บาทของเราไปได้อย่างง่ายดาย สำหรับในปี 2013 LINE ได้มาทำการตลาดในประเทศไทยหนักขึ้นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนผู้ใช้งานที่เป็นรองจากญี่ปุ่นเท่านั้น เราจึงได้เห็นโฆษณาที่แพร่ภาพในไทยในปีนี้ รวมไปทั้งการเริ่มการทำการตลาดผ่าน LINE ด้วยการจับมือกับบริษัททำธุรกิจผ่าน LINE มากขึ้น โดยมี Flash deal มาเริ่มนำร่อง (ในขณะที่ญี่ปุ่นมี LINE Mall ไปแล้ว)
LINE จะแผ่ขยายอาณาจักรทางธุรกิจในไทยรวมถึงระดับโลกขนาดไหนกันในปี 2014 นี้ และจะมีธุรกิจใหม่ๆ อะไรที่โผล่มาดูดเงินจากมนุษย์โมบายล์ได้อีก
M – Microsoft …Bye Bye CEO
2013 คือช่วงเวลาที่ยุค PC กำลังถดถอยแบบสุดซอย และน่าเป็นช่วงเวลาที่บริษัทที่เคยยิ่งใหญ่อย่าง Microsoft หมดยุคด้วย เพราะ CEO Steve Ballmer ประกาศตัดสินไจลาออกจากตำแหน่ง ด้วยความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็น Windows 8, 8.1 และ Windows Phone ที่ผมมองว่าล้มเหลวทุกกระบวนท่า (ตัวหลังมีทีท่าว่าจะฟื้นขึ้นมาบ้างเล็กน้อยด้วยความนิยมที่เริ่มเพิ่มเข้ามา)
2014 จึงเป็นปีแห่งการเยียวยาของ Microsoft ซึ่งถ้าได้หมอ CEO มาถูกคน รักษาถูกขนาน น่าจะช่วยให้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง แต่โรคนี้คงต้องรักษากันนาน เพราะ Ballmer สร้างไว้ช่วง 2-3 ปีหลังนี้ดูเรื้อรังเหลือเกิน
N – Nokia – เข้าสู่อ้อมกอดของ Microsoft
รายนี้เกี่ยวพันกับข้อที่แล้ว เพราะอดีตยักษ์ใหญ่แห่งวงการมือถือ Nokia ถึงคราวต้องเปลี่ยนมือ เพราะล่าสุดในปี 2013 Nokia กำลังจะถูกเปลี่ยนมือให้มาอยู่กับ Microsoft ในเร็วๆ นี้ (หากว่าดีลตกลงกันด้วยดีในช่วงไตรมาสแรกปี 2014)
ด้วยความที่ Nokia เองก็ผลิตสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Phone อยู่แล้ว ดังนั้นก็คงไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นก็คือ Microsoft จะได้ความแกร่งของสมาร์ทโฟน ทำให้เข้าใจด้านนี้ได้ดีขึ้น เพราะเท่าที่ผ่านมา การรวมกันระหว่างระบบปฏิบัติการและการเป็นโมบายล์ของ Microsoft ทำได้ค่อนข้างแย่ ดังนั้นถ้าดีลนี้เป็นจริงก็จะทำให้ Microsoft ดูดีขึ้น
ว่าแต่ยังไม่มีใครรู้ว่า Microsoft จะยังใช้ชื่อ Nokia อยู่หรือเปล่า แต่คาดกันว่า Microsoft คงไม่ใช้ชื่อ Nokia อีกต่อไป…ต้องรอดูนะครับ
O – Online Advertising
ทิศทางในการทำการโฆษณาจากเดิมที่จะอยู่บนออฟไลน์ ในปี 2013 นั้นปรับเปลี่ยนให้กลายมาอยู่บนออนไลน์เป็นส่วนใหญ่แล้ว เนื่องจากบนออนไลน์แบรนด์สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ รวมทั้งเม็ดเงินที่ใช้ในการโฆษณานั้นน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการทำโฆษณาด้านอื่นๆ และพฤติกรรมของคนที่เสพย์ข้อมูลบนหน้าจอขนาดเล็กมากขึ้นกว่าเดิมมาก เลยทำให้แบรนด์จากที่ไม่เคยคิดจะสนใจก็ต้องหันมาสนใจบ้างหล่ะ
ปี 2014 นี้แบรนด์ไหนไม่คิดถึงการทำโฆษณาบนออนไลน์ก็คงประหลาดนักแล้วหล่ะ และคงจะได้เห็นแบรนด์ที่ทำโฆษณาออนไลน์แบบเต็มตัวมากกว่าเดิม ซึ่งจากเดิมในปี 2013 ก็มีมาบ้างแล้วแต่ไม่เยอะนัก ส่วนบริษัทที่ใช้อยู่แล้วก็น่าจะอัดเม็ดเงินเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีกลยุทธในการทำการตลาดมากกว่าที่จะเรียกใช้แต่คลิป Viral (ในทางที่ผิดๆ) ครับ
P – Paypal
ถ้าให้พูดถึงตัวกลางการชำระเงินบนโลกออนไลน์ ชื่อแรกที่น่าจะนึกถึงก็คงเป็น Paypal เป็นแน่แท้ ความเคลื่อนไหวในปีนี้ของ Paypal ดูจะนิ่งๆ ไปนิดด้วยการที่มีบริการที่เป็นมาตรฐานและเชื่อถือได้(?) มีแต่คู่แข่งด้าน Payment ที่ขยับตัวกันหมด โดยเฉพาะ Square หรือแม้กระทั่ง Bitcoin สกุลเงินดิจิทัลล่าสุดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อ Paypal อยู่บ้าง สำหรับปี 2014 นี้ Paypal จะเริ่มทดสอบบริการ Beacon ซึ่งใช้เทคโนโลยีใหม่แตกต่างจากคู่แข่งทั้งหมด เพราะใช้การระบุตัวตน แทนการใช้บัตรเครดิต ไม่ต้องเอาออกมารูดกับเครื่องให้เสียเวลา ซึ่งด้วยหลักการแล้วน่าสนใจมาก แต่เมื่อเอามาใช้งานจริงๆ ไม่รู้จะเวิร์คหรือเปล่า
แต่ก็อย่าลืมว่า คู่แข่งด้านนี้นอกจากคนทำอุปกรณ์ช่วยจ่ายเงินเอง ยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่พยายามสร้างวิธีการชำระเงินโดยไม่ต้องพึ่งพาบริการจาก 3rd party ด้วย
Q – Quality vs Quantity
เป็นตัวอักษรนึงที่คิดยากมากๆ แต่ก็มานึกถึงเรื่อง Facebook Algorithm ตัวล่าสุดก็เลยเป็นที่มาของคำสำหรับตัวอักษร Q นั่นก็คือ Quality และ Quantity
หลังจากที่ Facebook เปลี่ยน Algorithm แล้วก็มีคำนึงที่หลุดออกมาก็คือ ทาง Facebook อยากให้คนที่ได้อ่านเนื้อหาบนหน้า News Feed ได้อ่านสิ่งที่มีคุณภาพมากที่สุดและโดนใจมากที่สุด จากแต่ก่อนที่ไม่มีการสนใจคุณภาพ แต่จะอาศัยการโพสเนื้อหาตามช่วงเวลาที่มีการคาดการณ์กันว่าจะมีคนเข้ามาอ่านเยอะ และ 1 ในกลยุทธสำหรับผู้ดูแลก็คือการโพสเนื้อหาให้ได้มากที่สุด โดยเข้าใจว่าจะช่วยให้เนื้อหาถูกอ่านเจอได้ในพื้นที่ที่คนอยู่นานที่สุดบน Facebook แต่สุดท้าย Facebook ก็ได้ออกมาเน้นเรื่องคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นแล้วการโพสด้วยจำนวนมากๆ ก็มีผลไม่เท่าคุณภาพของเนื้อหาที่ดีครับ
——————————————————
เป็นอย่างไรบ้างครับ ผ่านไป 2 ตอนแล้ว มีคำไหนที่ตรงกับความคิดของคุณผู้อ่านบ้างหรือเปล่าครับ อย่าลืมมาติดตามตอนสุดท้ายของบทความชุดนี้กันนะครับผม