ก็มาถึงตอนสุดท้ายของบทความชุด A-Z ด้านไอทีและดิจิทัลปี 2013 แล้วนะครับ ลองมาติดตามอ่าน 9 ตัวอักษรสุดท้ายว่าผมนึกถึงอะไรบ้างจากปี 2013 ที่ผ่านมา ผ่านตัวอักษร R ถึง Z
สามารถติดตามอ่านบทความตอนแรกและตอนที่สองได้ที่นี่
-
A-Z ด้านไอทีและดิจิทัลปี 2013 ในความคิดของ @charathBank (ตอนที่ 1)
-
A-Z ด้านไอทีและดิจิทัลปี 2013 ในความคิดของ @charathBank (ตอนที่ 2)
R – Responsive Web Design
ด้วยความที่หน้าจอในการเปิดเข้าหน้าเว็บไซต์นั้นไม่ได้มีแค่ขนาด 800*600 เหมือนสมัยก่อน จึงกลายเป็นที่มาขอการออกแบบหน้าจอเว็บให้เป็นแบบ Responsive Web หรือการออกแบบหน้าเว็บให้สามารถปรับเปลี่ยนการแสดงผลใช้งานได้ทุกหน้าจอ เพราะสมัยนี้เราเปิดหน้าเว็บไม่ใช่เพียงแค่หน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนกลายมามีบทบาทอย่างมากในช่องทางการเสพย์ข้อมูลและคนส่วนใหญ่จะใช้อุปกรณ์คู่กายในการเปิดเพื่อหาข้อมูลต่างๆ อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการแสดงหน้าจอจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของเว็บทุกเว็บควรคำนึงถึ เพราะหน้าทำออกมาแย่ คนก็คงไม่อยากเปิดเข้า
…ไม่ควรสิ ต้องบอกว่า “ผู้ออกแบบเว็บและเจ้าของเว็บต้องคิดถึงเรื่องนี้ให้เป็นมาตรฐานได้แล้ว”
S – Startup in Thailand
2013 ถือเป็นปีทองอย่างต่อเนื่องของวงการ Startup ในประเทศไทย โดยปี 2012 ถือเป็นการกรุยทาง ปี 2013 ถือว่ามี Startup หน้าใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นและเริ่มประสบความสำเร็จกันมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งด้วยโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานที่เห็นความสำคัญกับวงการนี้ก็มีมากขึ้นอย่างมากในปี 2013
ใน 2014 ผมก็ยังคิดว่ายังเป็นปีที่ยังโตต่อเนื่องของ Startup ไทย เพียงแต่อาจจะไม่แรงเท่าปี 2013 สาเหตุที่ผมบอกว่า Startup น่าสนใจอยู่เพราะความต่อเนื่องจากบริษัทต่างๆ ที่เริ่มทำมาในปี 2013 จะเห็นผลผลิตกันมากขึ้น และมีหลายเจ้าที่ผมรู้จักน่าจะไปได้สวยไม่ใช่แค่ในประเทศเพียงเท่านั้นครับ
T – Tablet
หนึ่งในสาเหตุที่ยุคของ PC ถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงแล้วก็คือสิ่งนี้ครับ Tablet ด้วยพฤติกรรมคนที่หันมาจิ้มหน้าจอ, ใช้เป็นหน้าจอที่สอง (2nd screen) กันมากขึ้นในระหว่างการชมโทรทัศน์ รวมทั้งแอปพลิเคชันที่มีความสามารถมากขึ้น จนการใช้งานทั่วๆ ไปนั้นสามารถละทิ้ง PC, Laptop ไปได้แล้ว
ปี 2014 Tablet ก็ยังคงจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ โดยสิ่งที่จะมาตอบโจทย์การใช้งานก็คงเป็นแอปพลิเคชันมากกว่า และแอปจะออกมาเป็นเฉพาะทางมากขึ้น ซึ่งถ้าถามว่าตอนนี้แอปถูกพัฒนาทำออกมาสุดหรือยัง ก็คงบอกได้ว่ายังครับ แต่ดูโปรแกรมต่างๆ ทั้งหลายที่หันมาแปลงให้มาจาก PC มาให้ใช้บน Tablet แล้วแม้จะยังทำได้ไม่เหมือนกับ PC 100% ก็ตาม แต่นั่นแสดงว่าทุกอย่างจะไหลเข้ามาสู่ Tablet นั่นเอง
U – User Interface
หน้าจอที่สวยงามย่อมดึงดูดให้คนใช้งานง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าเว็บไซต์ หน้าจอแอปพลิเคชัน ต่อให้ Feature เจ๋งขนาดไหนก็คงไม่มีใครอยากใช้หากหน้าจอเละเทะ ปี 2013 มีหลายแอปที่ผมประทับใจมากๆ ในการออกแบบ แต่ก็ยังคงมีหลายแอปที่ดิ่งเหว เช่น Blackberry BBM เปิดมาครั้งแรกก็แทบจะลบทิ้งทันทีก็มี ซึ่งปัญหานี้ควรจะหมดไปจากโลกใบนี้ได้แล้วจริงๆ
V – Video Sharing และ Viral Video
อันที่จริงผมพูดถึงไปแล้วในตัว I – Instagram Video แต่ถ้ามองภาพรวมในปี 2013 แล้วต้องบอกว่าถือเป็นปีของการแชร์วิดิโอเลย ซึ่งปกติแล้วเราจะแชร์วิดิโอกันก็เพียงแค่ YouTube, Vimeo หรือ Facebook เท่านั้น แต่ด้วยแอปพลิเคชันที่หันมาเพิ่มคุณสมบัติจากเดิมที่แชร์แค่ภาพให้มีวิดิโอเพิ่ม หรือทำขึ้นมาใหม่เลยด้วยรูปแบบใหม่ๆ ทำให้คนสนใจที่จะแชร์มากขึ้น แต่ก็ต้องคิดกันมากขึ้นด้วย เพราะมีข้อจำกัดของเวลาที่มีให้แต่ละแอปในการบันทึกวิดิโอ (Instagram 15 วินาที, Vine 6 วินาที, Snapchat 10 วินาที)
ปี 2014 จะเป็นปีที่แห่งเทรนด์การแชร์วิดิโอต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และน่าจะโตมากขึ้นโดยเฉพาะแบรนด์ต่างๆ ที่จากเดิมมีเพียงแค่ภาพเฉยๆ ก็จะต้องคิดกลยุทธในการบันทึกวิดิโอเพิ่มด้วย ซึ่งมันจะเป็นวินาทีเงินๆ ทองๆ ไปเลย
อีกอย่างที่คงไม่พูดถึงคงไม่ได้ ก็คือ Viral Video
Viral Video ยังคงเป็น 1 ในตัวเลือกสำหรับเจ้าของแบรนด์ที่อยากให้คนพูดถึงมากๆ และในปี 2013 ก็มีคลิปประเภทนี้ออกมาให้ดูหลายตัว ซึ่งปีนี้มีหลายคลิปที่ได้รับความนิยมจนถูกพูดถึงในต่างประเทศ และก็มีหลายตัวที่ถูกด่าจากคนในประเทศจนถึงขั้นมีการขอโทษขอโพยกันยกใหญ่ (ผมคงไม่ต้องบอกชื่อแบรนด์นะครับ เดี๋ยวเขาจะโกรธเอา)
ปี 2014 นี้ Viral Video ก็จะยังคงเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ถูกเลื่อกเพื่อใช้ในการโปรโมทเพื่อประชาสัมพันธ์แบรนด์เหมือนเดิม การบ้านใหญ่สำหรับบริษัทที่เป็นคนคิดทำวิดิโอก็คงหนีไม่พ้นว่า จะทำอย่างไรให้วิดิโอดัง แต่ถูกเพิ่มด้วยว่าทำอย่างไรไม่ให้โดนด่า และต้องคิดถึงสะท้อนจากสังคมมากกว่าความดัง(ในทางแย่)ของแบรนด์
W – Wearable Device
Up, Fitbit, Fuel, Glass คือชื่ออุปกรณ์ที่เป็นกระแสอย่างมากในปี 2013 สิ่งเหล่านี้คือชื่อของ Wearable Device ที่เป็นอุปกรณ์มาสวมใส่กับร่างกาย มีไว้แสดงข้อมูล, เก็บข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ติดตาม ไม่ว่าจะเปิดพฤติกรรมต่างๆ หรือการบอกตำแหน่งต่างๆ โดยทำงานร่วมกันกับสมาร์ทโฟนเพื่อสามารถดูข้อมูลแถมมีการวิเคราะห์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลการออกกำลังกาย และกลายเป็นกระแสในการรักสุขภาพขึ้นมาด้วยในปี 2013
นอกจากชื่อทั้ง 3 ชื่อที่ผมบอกไปข้างต้นแล้ว ยังมีอื่นๆ อีกมากมายที่เป็น Wearable ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบรนด์หน้าใหม่ๆ ที่หันมาทำอุปกรณ์ประเภทนี้ หรือเกิดจากการระดมทุน Kickstarter, Indiegogo ซึ่งผมก็สั่ง Kreyos ไป 1 ตัว ตอนนี้ก็นั่งรอเขาส่งมาครับ
ปีนี้ 2014 อาจจะเป็นปีที่ดูซาลงไปบ้าง เป็นปีที่ทุกแบรนด์แห่กันออกอุปกรณ์มาเปิดตัว แต่ดูไปแล้วก็มีลักษณะที่คล้ายๆ กัน คือมีคุณสมบัติที่เหมือนกันไปซะหมด ซึ่งก็เป็นความท้าทายสำหรับบริษัทที่คิดจะทำอุปกรณ์นี้ ด้วยโจทย์ใหญ่ที่จะทำอย่างไรให้ฉีกความต่างจากสิ่งที่มีขายและทำอย่างไรให้คนเราอยากสวมใส่หรือติดตัวอยู่ตลอดเวลา ด้วยรูปร่างและการออกแบบ
X – user eXperience
เป็นเรื่องต่อเนื่องจาก Responsive Web Design และ User Interface ครับ ออกแบบสวย หน้าจอน่าใช้งาน แต่ไม่สร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้งานก็คงจะอยู่ลำบาก และปีนี้ก็มีการพูดถึงและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น อาจจะเป็นเพราะการใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด การออกแบบการใช้งานแอปให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างง่ายได้และถูกต้องจึงถูกหยิบมาพูดถึงเพิ่มมากขึ้นในปี 2013 ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
สำหรับในไทยแล้วก็มีหนังสือที่เขียนและแปลออกมาด้านนี้ด้วยในปี 2013 ไม่ว่าจะเป็น Design Mobile App และ Don’t Make Me Think ใครสนใจอยากรู้ว่า UX มันสำคัญขนาดนั้นเลยเหรอ ก็ลองไปหาอ่านกันดูครับ
Y – Yahoo! – Shopping’s Year
กลับมาเรื่อง Business บ้างครับ ถ้าตัว Y ผมจะนึกถึงแต่ Yahoo! เลย และถ้าจะให้นึกถึงว่าปี 2013 เกิดอะไรขึ้นบ้างกับ Yahoo! ก็คงไม่พ้นการช้อปแหลกของ Marissa Mayer
ช้อปแหลกในที่นี่คือการเข้าซื้อบริษัทต่างๆ ให้เข้ามาสู่เครือของ Yahoo! โดยในปี 2013 เพียงปีเดียว มีบริษัทที่ถูก Yahoo! ซื้อมามากถึง 23 บริษัท (อ้างอิง wiki) ซึ่งเทียบกับปีก่อนหน้าอย่างมากก็ซื้อเพียงแค่ 4-5 บริษัทใน 1 ปี และดีลที่เป็นข่าวใหญ่มากก็คือการเข้าซื้อ Tumblr เว็บบล็อกที่มาแรงมากในช่วงปีสองปีนี้ สุดท้ายก็กลายมาเป็นของ Yahoo!
การเข้ามาของ Marissa ทำให้ Yahoo! จากที่ถดถอยลงไปมาก กลายมาเป็นดูน่าสนใจและดูมีความหวังมากขึ้น(อย่างมากกกกกก!) ปี 2014 นี้เราน่าจะได้เห็นผลผลิตที่เกิดจากการช้อปแหลกของเธอกันครับ
Z – Zynga และ Zuckerburg
ตัวอักษรสุดท้ายแล้ว ขอปิดท้ายด้วย 2 ชื่อครับ ดับสูญและรุ่งเรือง…
ตัวแทนความดับสูญ… Zynga
บริษัทที่เคยบูมมากๆ ในปี 2012 แต่ในปี 2013 กลับเงียบเป็นเป่าสาก ต้องอย่าลืมว่า Zynga ลืมตาอ้าปากได้เพราะความฮิตของเกมบน Facebook แต่สำหรับยุคนี้แล้วทุกคนล้วนไปเล่นเกมที่ออกแบบมาเป็นโมบายล์ ถึงแม้ว่าจะผลิตออกมามากมายหลายเกมแต่ก็ไม่โดยในเหมือนสมัย Facebook Game จนแทบจะเรียกได้ว่า Zynga หายไปจากข่าวสารและในชีวิตไปเลย นอกจากว่าจะมีข่าวการเปิดตัวเกม Draw Something 2 ที่เคยฮิตจน Zynga คว้ามาเป็นของตัวเองโดยหวังว่าจะบูมอีกครั้ง แต่ผลสุดท้ายก็แป้กไม่เป็นท่า และหลังจากนั้นไม่นานเหล่าผู้บริหารทั้งหลายก็พร้อมใจกันลาออกจากบริษัท พร้อมจำนวนผู้ใช้งานที่ลดฮวบไปเรื่อยๆ… ทิศทางในปี 2014 Zynga เลยดูยังเคว้งๆ เหมือนกันไม่รู้จะไปทางไหน
ความรุ่งเรือง (ในกระเป๋าตังค์) …Zuckerberg
ถ้าจะให้นึกถึง Facebook นอกจาก Social Media แล้วก็คงนึกถึงเจ้าของอย่างตามาร์คซัคนี่แหละครับ ตอนนี้ไม่ว่าจะทำอะไรมีผลกับประชากรโลกเพราะกว่า 1,200 ล้านคนรวมไปถึงธุรกิจต่างๆ ที่หันมาใช้งานเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ก็ย่อมมีผลไปทั้งหมด
ปี 2013 Mark ในมุมมองความหวือหวาก็คงไม่มีอะไรใหญ่นัก นอกจากการเลือกการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกับทุกคน และส่งผลกับเม็ดเงินที่จะเข้ากระเป๋าแบบเสียมิได้ ซึ่งผมเองได้เขียนถึงไปแล้วในตัว F – Facebook Algorithm ที่ถือว่าถูกด่ากันมากที่สุดในปีนี้ แม้จะใช้การอ้างอิงเรื่องคุณภาพของ Content มาบังหน้าก็ตาม (ผมถือเป็นการยกเหตุผลมาบังหน้านะถ้าให้พูดถึงแง่ในเรื่องรายได้) แต่ถ้าให้มองมุมว่าการทำรายได้แล้ว เขาฉลาดครับ เขายอมทนมานานที่จะให้คนสามารถใช้งานพื้นที่ในแบบฟรีๆ มาหลายปี จนสุดท้ายก็งัดไม้แข็งให้คนต้องยอมควักเงินเพื่อลงโฆษณากับเขา ซึ่งถ้าเพจไหนที่ปั้นกันมานานจนมีฐานก็คงไม่อยากจะสูญกลุ่มลูกค้าไป สุดท้ายก็ต้องจ่ายอยู่ดี(ใช่ไหมครับ)
ไม่รู้เฮียแกจะมีไม้อะไรมาเอาเงินอีกในปี 2014 เพราะดอกล่าสุดนี่ก็ทำให้(ยอม)จ่ายจนไม่รู้จะจ่ายยังไงแล้ว…
——————————————————
ทั้งหมดคือ 26 ตัวอักษรในความคิดของผมสำหรับปี 2013 ครับ ไม่รู้จะตรงใจกับคุณผู้อ่านมากน้อยขนาดไหน หากมีอะไรติ-ชมสามารถเขียน comment ได้ล่างนี้ได้เลย หรือจะพูดคุยสอบถามผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กได้กับผมโดยตรงครับ และ สวัสดีปีใหม่ 2557 ครับ