Site icon Thumbsup

สัมภาษณ์ เอ วราวุธ ZENSE Entertainment ที่เชื่อว่าบันเทิงไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

เอ วราวุธ เจนธนากุล CEO ของ Zense Entertainment บริษัทที่ผลิตรายการโทรทัศน์ให้กับหลายๆ ช่อง  ไม่ว่าจะเป็นบริษัทฮาไม่จำกัด ตกสิบหยิบล้าน The Money Drop ไทยแลนด์ ไปจนถึงลูกทุ่งไอดอล

ซึ่งเขาเล่าให้ thumbsup ฟังว่าอยากพาคอนเทนต์ไทยไปขายในตลาดต่างประเทศ  ลองมาดูกันว่าเขามีแนวคิดอย่างไรในการทำธุรกิจบันเทิงยุคปัจจุบันที่แข่งขันกันสูงแบบนี้

ZENSE Entertainment ทำอะไรมาบ้าง

วราวุธ : มีประสบการณ์เกือบๆ จะ 10 ปีแล้วในการทำคอนเทนต์ในประเทศไทย  โดยเราเริ่มจากรายการแรกที่ชื่อว่า ‘ศึกน้ำผึ่งพระจันทร์’ ทางช่อง 5 เมื่อสักเกือบสิบปีที่แล้ว  ปัจจุบันเราก็ผลิตรายการมาแล้วกว่า 40 กว่ารายการ

อยู่รอดได้อย่างไรในวันที่คอนเทนต์ออนไลน์เต็มไปหมด

วราวุธ : ต้องมีการปรับตัวให้เข้าออนไลน์  โดยเฉพาะเกี่ยวกับรายการที่เราซื้อรูปแบบต่างประเทศแล้วมาผลิตเอง  ปัจจุบันนี้เรามีรายการที่พูดง่ายๆ เราก็สร้างแอปพลิเคชันเพื่อที่จะเล่นตามรายการไปได้ด้วย

นั่นคือรายการชื่อ ‘แหวน 5 ท้าแสน’ หรือ 5 Golden Rings เป็นรูปแบบจากบริษัท Talpa ประเทศเนเธอร์แลนด์  เป็นรายการที่เล่นไปกับภาพ  เล่นตามรายการได้เลยครึ่งชั่วโมง  ถ้าใครทำคะแนนได้สูงสุดก็จะได้รับเงินรางวัลกลับบ้านไป  นี่ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุค

ทำไมควรมีแพลตฟอร์มเฉพาะของฟรีทีวี

วราวุธ : ถ้าลองดูจะพบว่า YouTuber นั้นต้นทุนในการทำคอนเทนต์ต่อครึ่งชั่วโมง ต่อหนึ่งชั่วโมงน้อยกว่าทำรายการโทรทัศน์  แต่เวลานับยอด View คุณนับเท่ากัน

ซึ่งคอนเทนต์โทรทัศน์ผมไม่สามารถใช้ภาษาแบบเป็นเพื่อนกัน  หรือเป็นกันเองได้มากขนาดนั้น  เพราะฉะนั้นเลเวลของของคอนเทนต์มันก็ค่อนข้างแตกต่างกัน

เพราะฉะนั้นถ้าถามผมเพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งอุตสาหกรรม  ผมเองได้มีโอกาสคุยกับผู้ใหญ่หลายๆ คนก็ยังบอกว่าเราควรที่จะมี ‘แพลตฟอร์ม’ ที่เป็นเฉพาะ Content Provider ลักษณะของฟรีทีวีแยกต่างหาก  ไม่ควรไปอยู่รวมกัน

เพราะต้นทุนแตกต่างกัน  อย่างผมทำรายการโทรทัศน์ ถ่ายรายการครั้งหนึ่ง  ใช้คนเป็นร้อยๆ คน  เพราะฉะนั้นแพลตฟอร์มดูออนไลน์ย้อนหลังเป็นประเภทที่แตกต่างกัน  แต่ผมส่งเสริมให้มี Youtuber ต่อไปนะไม่ใช่บอกว่าไม่ควรมี  เพียงแต่ว่าควรจะแยกให้มันชัดเจนมากขึ้น  เพื่อประโยชน์ของการใช้งบประมาณโฆษณาให้ถูก

เคยพลาดไหมแล้วต้องทำรายการอย่างไรให้เรตติ้งดี

วราวุธ : ผมว่ามันก็มีบ้าง  แต่คำว่า ‘แป๊ก’ ของเราคือเราก็ยังอยู่ในมาตรฐานที่ดี  เพียงแต่ว่ามันควรจะต้องดีกว่านี้  เราก็ไม่เคยทำรายการแบบ  พลาดไปเลยขนาดนั้นนะ  ถ้าจะเอาจากสถิติของเราสิ่งที่เราเรียนรู้มาแต่ละครั้งมันคือการปรับ หรือขยับให้มันตรงกับรูปแบบคนดูมากขึ้น

ในเนื้อหารายการเดียวกันบางทีการตัดต่อก็สำคัญ  การแบ่งช่วงเวลาก็สำคัญ การที่จะตอบโจทย์การแข่งขัน  ระหว่างในช่วงเวลาเดียวกันกับช่องอื่นๆ ก็สำคัญ  ผมรับผิดชอบช่วงสมมติชั่วโมงหนึ่งผมพล็อตเรตติ้งรายนาทีเลย

ผมก็จะดูเลยว่าแนวโน้มของเส้นเรตติ้งของผม  อยู่ในระดับที่เราน่าจะพอใจไหม  รายการสมมตินะครับบางรายการเรตติ้งดีนะครับ  เผอิญโชคดีรายการข้างหน้าเรตติ้งสูง

แต่ตัวรายการของตัวคุณเองทำให้ทุกอย่างไหลลงมาหมด พอหารออกมาถือว่าสูง  แต่พอคุณมาพล็อตรายนาที  แปลว่าคนดูเปลี่ยนคุณตลอดทางเลยนะ  คนดูไม่ดูคุณเลยนะ

ถ้าย้อนดูจะพบว่ารายการของ ZENSE ทุกรายการเป็นรายการที่มีเรตติ้งสูงขึ้นตลอดทาง  เราเอาตรงนี้มานั่งวิเคราะห์เราเอามาปรับ  แล้วเราก็เอามาจูนดูว่า  เอ๊ะ..คนดูชอบรายการนี้ตรงช่วงไหน

ทำไมชอบซื้อรูปแบบรายการจากต่างประเทศ

วราวุธ : มีหลายๆ คนก็ถามผมว่า  ทำไม ZENSE ชอบซื้อรายการจากต่างประเทศ  ผมก็ไม่ได้มีโอกาสตอบเขาตรงๆ นะครับ

ก็คงคิดว่าผมทำเป็นแต่ซื้อจริงๆ ผมบอกไม่ใช่หรอก ผมเรียนรู้ ผมซื้อหนังสือ  เราจะมีหนังสือภาษาไทยเขียนโดยอาจารย์คนไทย  กับหนังสือที่เขียนโดยฝรั่ง  ผมซื้อหนังสือฝรั่งมานั่งอ่าน  เพราะโลกเขากว้างกว่าเรา

เขาเห็นตัวอย่างมาเยอะกว่าเรา  การที่เขาจะผลิตรายการได้มันถูกคิดมาเป็นขั้นตอนหมดแล้วกว่าเขาจะมาขายคุณได้  เขาไปทำมาหลากหลายประเทศทั่วโลก เขาเรียนรู้มาให้เราแล้ว  เพียงแต่ว่าการซื้อของเราในวันนั้น  ไม่มีใครรู้หรอกว่านั้นคือการเรียนรู้ของเรา

จากวันนี้เป็นต้นไป ZENSE เองก็อยากจะเป็น Content Provider ระดับโลกที่มีรายการที่มี ‘รูปแบบ’ ที่ผลิตขึ้นมาที่คิดขึ้นมา  สามารถเอาไปขายได้ทั่วโลก

ได้ว่ากว่าจะได้ซื้อรายการแรกได้นั้นไม่ง่าย

วราวุธ : 

ย้อนไปผมจำวันที่ผมไปเดินที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสได้  มันเป็นวันแรกเมื่อสัก 7 ปีที่แล้ว  ตอนนั้นผมไปเดินวันแรก  ซึ่งผมแจกนามบัตรเพื่อที่อยากจะเข้าไปดูรายการเขาเพื่อที่จะซื้อรายการจากต่างชาติ

ผมบอกเลยนะไม่มีบริษัทไหนรับนัดผมเลย  ผมจำได้ว่า 4 วันเต็มๆ ที่เดินไปไม่ใช่แค่วันเดียวนะครับ 4 วันเต็มๆ ในช่วงระยะเวลางานนั้น  แต่ก็ไม่มีใครรับนัดเราเลย  พอกลับเมืองไทยผมนั่งเขียนอีเมล์อีกคิดว่าไม่ต่ำกว่าพันฉบับ ใน 3 เวลาหลังอาหาร  ซึ่งผมเขียนทุกวัน  เป็นระยะเวลาประมาณเดือนหนึ่ง  วันหนึ่งมี CEO ติดต่อกลับผมมา

เราก็พูดคุยกันและนั่นคือรายการแรกที่เราซื้อมา  นั่นก็คือ ‘The Money Drop Thailand’  เราพยายามเพื่อที่เราอยากจะไปอยู่ในระดับที่ต่างชาติยอมรับ  ในประเทศใหญ่ๆ ที่เป็น Format Distributor ทำงานกับเราหมดแล้ว

การมี ‘รูปแบบรายการ’ นั้นดีอย่างไร

วราวุธ : ผมยกตัวอย่างบริษัทหนึ่งแล้วกันก็เป็นบริษัทที่ทำงานร่วมกับเราอยู่ชื่อบริษัท Talpa เป็นบริษัทจากเนเธอร์แลนด์  บริษัทนี้แข็งแรง และประสบความสำเร็จ  และยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ผมว่าด้วยรูปแบบหลักๆ สองรายการ

รายการหนึ่งคือ Big Brother ส่วนรายการที่สองคือ The Voice แค่สองรูปแบบนี้  ต้องบอกเลยนี่คือจุดหลักๆ ในการสร้างรายได้ให้กับทั้งบริษัท

คิดง่ายๆ เลยครับ The Voice ถ้าผมจำไม่ผิดมีการทำมาเกือบๆ 80-90 ประเทศทั่วโลก  โดยมีรายการทุกปี  อย่างในหลายๆ ประเทศก็เป็นซีซันที 8-9 แล้ว  ลองคิดดูว่าถ้าคุณสามารถคิดรูปแบบขึ้นแล้วขายได้ใน 90 ประเทศ ในแบบเป็นซีซัน

ซึ่งผมเชื่อว่ารูปแบบเขาไม่ต่ำกว่า 30-40 ล้านบาท  คำนวณดูปีหนึ่งสมมติ 40 ก็ได้ครับ ถ้าจับตัวเลขมาคูณเร็วๆ  40 ล้าน ใน 90 ประเทศก็ตกที่ 3,000 กว่าล้านบาทแล้ว  ซึ่งมูลค่าที่ว่านี้นี่คือมูลค่าความคิดของคุณ

ชมคลิปสัมภาษณ์ :