ทีมงาน thumbsup ได้รับเกียรติจากคุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Adecco Group Thailand บริษัทด้านการสรรหาบุคลากร การจ้างงาน และยังเป็นที่ปรึกษาสายงานทรัพยากรบุคคลให้แก่ลูกค้าองค์กรชั้นนำทั่วโลก
ทั้งยังเป็นบริษัทที่ติดอันดับ Fortune Global 500 Company ของบริษัทชั้นนำทั่วโลก ที่มีผลประกอบการและชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับจัดขึ้นโดยนิตยสารฟอร์จูน โดยเธอจะมาเล่าเรื่องราวในโลกของการดำเนินธุรกิจจัดหางาน และข้อมูลน่ารู้สำหรับคนทำงานทุกคนที่อยากเปลี่ยน ‘งานในฝัน’ เป็น ‘งานในชีวิตจริง’ กันค่ะ
ปัจจุบัน Adecco มีออฟฟิศทั้งหมด 7 แห่งในประเทศไทย และกว่า 60 ออฟฟิศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยนั้น มีการก่อตั้งมากว่า 28 ปีแล้วในธุรกิจนี้
โลกดิจิทัลช่วยให้หาคนง่ายขึ้นหรือไม่ ?
ธิดารัตน์: เราต้องยอมรับเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามา disrupt ทุกอย่าง ซึ่งแปลว่าบริษัทต่างๆ จะหาคนได้ยากขึ้น เพราะต้องหาคนให้เหมาะสมกับความต้องการตรงนี้ เราจึงเป็นธุรกิจที่เป็นที่ต้องการอยู่ หรือ ‘ถ้าของง่ายๆ เขาคงไม่ให้เราทำ’
และในธุรกิจเราเองก็มีการเกิดใหม่เยอะมาก เพราะธุรกิจ Recruitment ใครจะเปิดก็ได้ แต่การจะอยู่ให้นานมันไม่ใช่เรื่องง่าย
ส่วนการหาคนในยุคดิจิทัลก็มาพร้อมความท้าทาย เพราะว่าเข้าถึงคนจำนวนมากได้ง่ายกว่า แต่ก็ต้องมองสองอย่าง คือ ตัวผู้สมัครเองเขามีทางเลือกเยอะ ถ้าทักษะนั้นเป็นที่ต้องการ และขณะเดียวกันลูกค้าเองก็ต้องการ เพราะธุรกิจต่างๆ มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ต้องเดินไปให้ทัน
ซึ่งมันจะเกิดความไม่สมดุลระหว่างสองข้างนี้ เพราะฉะนั้น เอเจนซีที่ประสบความสำเร็จคือเอเจนซีที่เข้าใจความต้องการของลูกค้า เข้าใจลักษณะงาน และอ่านงานได้ขาดว่าลูกค้าต้องการแบบไหน เพราะบางครั้งเราก็ต้องบอกลูกค้าเพิ่มเติมว่า ‘ต้องคนแบบนี้หรือเปล่า’ เป็นหน้าที่เราที่ทำงานเหมือน Business Partner ไม่ใช่แค่เอเจนซี
นอกจากนั้นยังต้องไวและใช่ด้วย เพราะฉะนั้นธุรกิจ Recruitment นั้นยาก เพราะแข่งขันกันสูง
หลักการในการคัดเลือกผู้สมัคร
ธิดารัตน์: ในฐานะเอเจนซีหางานให้คน เรามองภาพกว้างในการเปิดโอกาสทุกคนที่เข้ามาสมัครงาน สิ่งที่เราดูคือความสามารถ ประสบการณ์ที่มีอยู่ เรื่อง Soft Skill ที่เขามี ที่เป็นเรื่องหลักๆ ที่เราปักเอาไว้เป็นธงตั้งอยู่
เราไม่มีหน้าที่บอกว่าผูสมัคร A, B, C ไม่ดี ส่วนผู้สมัคร D ดี เพราะ A อาจจะดีกับงานนี้ ส่วน B อาจจะเหมาะกับอีกงานก็ได้ หน้าที่เราต้องดูโปรไฟล์ของเขา ที่เรามองว่ามันมีคุณค่าทุกอัน
แต่ว่าในการจับคู่ 100% มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ที่เราจะสามารถหางานได้ถูกใจคนที่เข้ามา หรือจะได้งานไปทุกครั้ง เพราะมันอาจะเป็นการไม่ได้งานปีนี้ แต่อาจได้งานที่ใช่ปีหน้า หรือ 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่มีใครรู้เลย มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และอยู่ที่ตัวผู้สมัครว่าอยากทิ้งใบสมัครไว้กับเรานานแค่ไหนด้วย
ทราบได้อย่างไรว่าข้อมูลที่ให้มาเป็น ‘ข้อมูลจริง’
ธิดารัตน์: บางครั้งมีคนที่ส่งเรซูเม่เข้ามาแล้วทุกอย่างเยี่ยมหมดเลย เราก็มีคำถามว่า ‘จริงไหม?’ หรือ ‘จริงแค่ไหน?’ เขียนว่ามีอย่างนี้ จริงๆ มีเท่านี้หรือเปล่า ก็เป็นหน้าที่เราในการดู หรือบางครั้งก็เขียนไม่รู้เรื่องเลย จนกระทั่งไม่รู้จนเราติดต่อไม่ได้ คือเบอร์ติดต่อก็ไม่มี มันก็จะลำบากแล้ว หรือถ้าเรซูเม่บางใบตรวจแล้วพบว่าเข้าข่ายของการเป็น ‘ผู้สมัครที่มีศักยภาพ’ เราก็จะต้องมีการคุยเพิ่มเติม ผ่านการสัมภาษณ์เพื่อยืนยันในสิ่งที่เรซูเม่นั้นเขียนมาให้เรา
ไม่ใช่แค่การทำหน้าที่ ‘จัดหางาน’ แต่ต้อง ‘หางานด้วยความเข้าใจ’
ธิดารัตน์: เราต้องเข้าใจลูกค้าให้เยอะๆ เพราะถ้าบอกว่า ‘ต้องการ Accountant เฉยๆ’ มันก็ไม่ได้ เพราะในงาน Accountant นั้นมีรายละเอียดเยอะแยะเต็มไปหมดเลย ลักษณะการทำงานเป็นแบบไหน ลักษณะของคนที่เข้าไปแล้วอยู่รอดเป็แบบไหน
เรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ของเอเจนซีต้องไปหารายละเอียดเบื้องลึกของบริษัทให้เจอ แล้วก็ไปหาจากผู้สมัครที่เราส่งไปให้มัน Match เท่าที่จะ Match ได้ เพื่อให้ลูกค้าสัมภาษณ์ และให้ผู้สมัครได้มีโอกาสสัมผัส ไม่ใช่ว่าเราส่งไปแล้วเด็กต้องรับงานเลยทันที เพราะผู้สมัครเลือกงาน ในขณะที่บริษัทก็เลือกเขา
เรามีแค่หน้าที่แค่ ‘Match Maker’ แต่ทำบนพื้นฐานในความเข้าใจความต้องการของสองข้าง
คำแนะนำถ้าอยากเปลี่ยนสายงาน
ธิดารัตน์: เวลาจะเปลี่ยนสายงาน เรามองว่าเวลาคนจะรับคนเข้าทำงานเราต้องไม่ลืมว่าเขาจะตั้งธงเอาไว้ก่อน ถึง ‘ประสบการณ์’ เป็นอันดับแรกเลย ส่วนที่เหลือก็จะเป็นจำพวก Hard Skill ในงานบางอย่างที่ Hard Skill มันต้องชัดเจนมากเลย ถ้าไม่มีมันทำงานไม่ได้ เช่น งานด้านไอที ถ้าเราจะไปเป็นโปรแกรมเมอร์ก็ต้องรู้โค้ดที่มันเฉพาะเจาะจงในสิ่งที่เขาหา
แต่ว่าถ้าเป็นงานบางอย่างที่เขามองเรื่องทัศนคติ และแรงจูงใจ (Attitude & Motivation) เป็นหลัก คือเลือกจากจุดนี้ตรงกันก่อน แล้วมาพัฒนาเรื่องทักษะต่อทีหลัง ก็จะเป็นได้ในกรณีของคนที่มีอายุงานไม่เยอะนัก และมีศักยภาพในการที่จะเรียนรู้
ในกรณีที่สอง คือ งานที่มี Overlapped Skill ใน 2 งานที่ต่างกัน และมันมีสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘Transfered Skill’ คือ ทักษะความรู้ความสามารถบางอย่างที่เปลี่ยนผ่านได้จากงานหนึ่ง ไปยังอีกงานหนึ่งได้
เช่น เราหาตำแหน่งเซลล์ สมมติว่าผู้สมัครเป็น Accountant แต่มีความเป็น Accountant ที่ไม่เหมือนทั่วไป ที่จะทำงานคนเดียวได้ และทำงานกับตัวเลขเยอะๆ ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นไม่เก่ง แต่คนนี้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นดี มี Networking ดี มีทักษะการสื่อสารดี พูดจารู้เรื่อง แล้วพอไปป็นเซลล์ ตัว ‘Transfered Skill’’ ที่หมายถึงคือเรื่อง เทคนิคโน้มน้าวจิตใจคนอื่น เทคนิคในการสื่อสารได้ดี และชอบพบปะผู้คน ก็จะมีโอกาสในการเปลี่ยนงาน ทำอย่างไรจึงจะทำให้เข้าใจได้
‘เรซูเม่’ คือของสำคัญสำหรับคนอยากเปลี่ยนสายงาน
ธิดารัตน์: การเขียนเรซูเม่ที่ดีต้องเป็น Opening Statement ที่คนจะอ่านยิ่งสนใจ ด้วยการบอก ‘Transfered Skill’ ที่มันใช่ แล้วบอกได้ด้วยว่า ‘Transfered Skill’ นั้นมันจะไปสร้างประโยชน์อะไร หรือตัวเราเองต้องมั่นใจก่อนว่าเรามีสิ่งนี้ถึงจะไป ถามตัวเองก่อนว่า ‘เราอยากเปลี่ยนเพราะอะไร?’ เพราะ Passion มันจะทำให้เราไปต่อได้
คำตอบก็วนกลับมาคือ ‘เรซูเม่คือหน้าต่างแรกของคนที่อยากเปลี่ยนงาน’ นั่นเอง
จุดผิดพลาดใหญ่ๆ ในเจอเรซูเม่ คืออะไร ?
ธิดารัตน์: จุดผิดพลาดของการเขียนเรซูเม่คือบางครั้งคนที่เขียนไม่ใช่ตัวเอง เพราะอาจจะถูกเรียกมาสัมภาษณ์ก็จริง แต่พอสัมภาษณ์แล้วมันไม่ใช่ เพราะคนสัมภาษณ์จะมีเรซูเม่อยู่ตรงหน้า แล้วจะซักถามในสิ่งที่คุณเขียน และถ้าคุณเขียนอะไรไม่จริง มันก็จะยิ่งสูญเสียเครดิตหนักขึ้นไปอีก เพราะถ้าคุณอาจจะใช่ตามเรซูเม่บ้าง แต่ไม่ใช่เท่าที่คิดก็ยังไม่เป็นไร แต่ถ้ามันไม่ใช่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องใหญ่
หรือการสะกดพลาด ลงข้อมูลพลาด คนที่อ่านเรซูเม่ก็จะมีความรู้สึกได้ว่า “ขนาดเรซูเม่แผ่นเดียวคุณก็ยังทำมันให้ดีไม่ได้เลย แล้วจะทำงานใหญ่ในอนาคตได้อย่างไร”
แล้วถ้าอยากได้เงินเดือนสูงๆ ต้องเป็นคนแบบไหน ?
ธิดารัตน์: คนที่ประสบความสำเร็จในด้านการงาน จะมีเรื่องคล้ายกัน คือ ‘พื้นฐานการสื่อสารที่ดี’ และ ‘ทัศนคติที่ดี’ พร้อมจะเรียนรู้เปรียบเสมือนน้ำไม่เต็มแก้วตลอดเวลา
สิ่งเหล่านี้มันคือเรื่อง Soft Skill ที่สำคัญมากกว่า Hard Skill ที่ได้มาจากการเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เรียนเกรดดีๆ จะไปได้ดีจะไปดีกว่าคนที่เรียนได้เกรดกลางๆ เพราะหลายๆ ครั้งคนที่มี Emotional Intelligence หรือความฉลาดทางอารมณ์เยอะ จะมีแนวโน้มไปได้ไกลกว่าคนที่เรียนเก่งแต่ในห้องอย่างเดียว
ถ้าอยากก้าวก็ต้องพัฒนาเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ของเรา แล้วเป็นคนมองโลกแง่บวก เรียนรู้ตลอดเวลา สื่อสารให้เป็น เพราะทำอย่างเดียวแต่สื่อสารไม่เป็นก็ไม่มีประโยชน์
นอกจากนั้นคนที่มี Attitude เป็นบวกใครทำงานด้วยก็มีความสุข คิดดูว่าเราจะปรับตำแหน่งให้คนที่ขึ้นไปแล้วตายราบกันทั้งกองไหม? เพราะการมี Leadership Skill ที่ดีก็จะทำให้เราทำงานใหญ่ได้กว่าเดิม
ควร ‘ย้ายงาน’ แบบไหนให้ดูดี ?
ธิดารัตน์: เอาจริงๆ การอยู่ครบ 3 ปีค่อนข้างดีสำหรับที่ใดที่หนึ่ง เพราะหนึ่งปีแรกเรากำลังเริ่มเรียนรู้ หลังจากนั้นเราก็เริ่มส่งมอบอะไรบางอย่าง แต่ยังไม่ได้พัฒนาต่อยอดเลยก็หมดเวลาไปแล้ว 2 ปี พอปีที่ 3 ก็เข้าใจได้ในการเลือกเปลี่ยนงาน ถ้าอยู่แล้วไม่มีอะไรพัฒนาต่อ
เพราะการเปลี่ยนงานทุกปีอาจถูกมองว่าเป็น Job Hopper ได้เหมือนกัน (ถ้าไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรจริงๆ) เราว่า 3 ปีก็เข้าใจได้ แต่ถ้าอยู่มากกว่านั้นก็เป็นเรื่องดี เพราะผูกพันกับองค์กร
อยากดึง Talent Group มาร่วมงานต้องทำอย่างไร ?
ธิดารัตน์: การที่เราจะดึงดูด Talent Group มาร่วมงานในองค์กรก็เป็นเรื่องยาก แต่การจะรักษาไว้ก็เป็นเรื่องยากยิ่งกว่า เพราะฉะนั้นก็เป็นความท้าทายของ HR ในการรักษาคน และกลุ่มนี้ก็จะเลือก แต่ไม่ใช่ว่าเลือกบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น
ต้องเป็นบริษัทใหม่ๆ ที่ตรงความสนใจ หรืองานที่เขาเข้าไปจะไปสร้างคุณค่าอะไรได้ มีงานที่มีความหมาย มีโปรเจกต์ที่เขาอยากไปทำ เรื่องอื่นมันก็ไม่มีความหมาย ต่อให้เป็นบริษัทเล็กๆ เพราะเราจะเห็น Talent บางคนพุ่งเข้าไปใน Startup ก็มี
เพราะฉะนั้นสำหรับตัวองค์กรเองด่านแรกสำคัญ คือ ภาพลักษณ์องค์กร วัฒนธรรมองค์กร และโปรเจคที่องค์กรทำอยู่มันไปต่อยอด มีคุณค่าพอที่จะ Connect the dot ให้กับ Talent Group ได้ไหม?
คุณสมบัติที่เด็กรุ่นใหม่ควรมี ถ้าอยากก้าวไปเป็น CEO ?
ธิดารัตน์:
- Communication เป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้
- Networking เนื่องจากโลกวันนี้เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้
- Agility คือความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลง เพราะโลกยุคใหม่เราต้องวิ่งไปรอข้างหน้าแล้วหันกลับมามอง รวมทั้งต้องเป็น Trend Setter ด้วย ไม่ฉะนั้นคุณจะถูกเขากลืนไป เพราะตอนนี้ไม่ใช่เรื่องบริษัทใหญ่กินบริษัทเล็ก แต่เป็นบริษัทเร็วกินบริษัทช้า
คิดว่า ‘ธุรกิจจัดหางาน’ ในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ?
ธิดารัตน์: มองว่าเราก็ต้านกระแสเทคโนโลยีไม่ได้ แต่เราจะทำอย่างไรในการเอาพวกปัญญาประดิษฐ์ AI เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการทำงานของเราในหลายๆ เรื่อง ถ้าเป็นธุรกิจ Recruitment จะต้องมีเรื่องของ AI เข้ามาดูแล เพราะก็ต้องยอมรับว่ามันลดอคติในการคัดเลือกหลายๆ อย่าง
ส่วนในเรื่องของ Data บริษัทเอเจนซีเองก็ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของฐานข้อมูล เพื่อให้ฐานข้อมูลนั้นเอามาคิดวิเคราะห์ต่อได้ เรียกว่าน่าจะเป็น Moving Forward ของธุรกิจ Recruitment ที่เราทำงานอยู่บน Data
สุดท้ายแล้วเรามองการว่าการพัฒนาตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ และการทำประวัติของตัวเองให้ดีเพื่อหางานในฝันก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน และขอให้ทุกคนได้ทำงานที่ตัวเองมีความสนใจกันในเร็ววันนะคะ 😀