Site icon Thumbsup

Tomorrow or Today สิ่งที่นักการตลาดควรรู้กับกูรูชั้นนำของไทย

ฝีมือของนักการตลาดในยุคใหม่นี้ เรียกได้ว่ามีความคิดสร้างสรรค์กันมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าความสร้างสรรค์เหล่านั้น ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และเทรนด์ของโลกประกอบกัน ทำให้ผลงานโฆษณายุคนี้ของคนไทย น่าสนใจและได้รับการยอมรับจากต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

ทาง Thumbsup ได้เข้าไปฟังงานแถลงข่าว Adfest 2019 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และนี่คือสุดยอดแนวความคิดจากนักการตลาดชั้นนำของประเทศไทยทั้ง 4 คน และหวังว่าผู้อ่านจะนำแนวทางเหล่านั้นไปปรับใช้กับงานโฆษณาชิ้นใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสมต่อไป

คนชนะคือผู้อยู่รอด

คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ Chief Executive Officer, GroupM Thailand,

ในสมัยก่อนความเก่งของพนักงานขายจะมาจากความรู้และประสบการณ์ทั้งสิ้น แต่ในยุคที่มีการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มชั้นนำ ทำให้เครื่องมือที่ถูกพัฒนามาเพื่อช่วยจดจำสินค้าที่ลูกค้าสนใจ การค้นหา อ่านรีวิว ทำให้ระบบหลังบ้านสามารถจัดกลุ่มสินค้าได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ดี

ดังนั้น บทบาทของนักการตลาด จึงไม่ควรอยู่แค่กรอบแบบเดิมๆ ยิ่งเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ ความกดดันยิ่งสูง เพราะโซเชียลมีเดียเป็นโอกาสสำคัญของแบรนด์ขนาดเล็ก ดังนั้นนักการตลาดจึงต้องหาเครื่องมือและการปรับตัวที่เหมาะสม

ใครทำได้ดีกว่าคนนั้นชนะ

ศิวัตร ยังย้ำด้วยว่า ทักษะของนักการตลาดยุคใหม่จึงไม่ควรจำกัดอยู่แค่เรื่องของการวางแผนโฆษณาแบบเดิมๆ แต่ต้องตอบโจทย์ลูกค้าได้รอบด้าน เป็นได้ทั้งคอนซัลท์ นักการตลาด ประชาสัมพันธ์ โปรแกรมเมอร์ เพราะจะเพิ่มโอกาสที่ได้เปรียบมากกว่าคู่แข่ง

ปัจจุบันคนชนะก็จะชนะมากขึ้นเรื่อยๆ และช่องว่างระหว่างผู้ชนะกับผู้แพ้ จะยิ่งห่างกันมากขึ้น เราต้องตื่นตัวและตามให้ทันเพราะความหมายของคำว่า “แพ้” ในยุคนี้คือ “ปิดกิจการ” เลย

พัฒนาทักษะ เรื่องสำคัญของอนาคต

ดร. สิรยา คงสมพงษ์ Senior Consultant, SEAC (South East Asia Center)

เรื่อง Digital Talent ของคนรุ่นใหม่นั้น มีความสำคัญมาก เพราะเราจะอยู่ในกรอบเดิมๆ อีกไม่ได้ แต่ต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะของตนเอง เพื่อให้ทันต่ออนาคต ยิ่งความรู้ที่เราเคยสั่งสมมาสมัยเรียนจะนำมาใช้ประโยชน์ในอาชีพได้น้อยลง ยิ่งหมายความว่าเราจะยืนอยู่กับที่ไม่ได้

จากผลการสำรวจขององค์กรชั้นนำมากมายที่บอกว่าปี 2030 หุ่นยนต์หรือเอไอจะเข้ามาทดแทนแรงงานคน ยิ่งเป็นตัวผลักดันให้คนจะยืนอยู่เฉยๆ ไม่ปรับตัวไม่ได้

ดังนั้น องค์กรจึงควรผลักดันให้พนักงานเกิด Passion ใหม่ๆ และเด็กรุ่นใหม่ก็อยากเปลี่ยนอาชีพไปเป็น Influencer มากขึ้น เพราะอาชีพนี้คือการแนะนำคนอื่น ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้คนขวนขวายใฝ่รู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อรู้มากกว่าเดิม รวมถึงสร้างโอกาสในชีวิตอนาคตได้

พฤติกรรมเปลี่ยน ความคาดหวังย่อมสูงขึ้น

คุณกิตติพงษ์ วีระเตชะ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านแบรนด์และการสื่อสาร, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนแปลงทุกวัน อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน ว่าจะอยู่ในโลกเดิมหรือเปลี่ยน (Tomorrow Or Today) รวมทั้งอยู่ที่การมองภาพว่า เพราะสิ่งที่ยังคงอยู่ในเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องของ “ความรู้สึก”

ดังนั้น ประสบการณ์และความคาดหวังของลูกค้า จะสูงขึ้นทุกวันและเปลี่ยนไปตามเทรนด์เทคโนโลยี ยิ่งคาดหวังมาก ความสุขในการใช้ชีวิตจะยิ่งลดลง แน่นอนว่า นักการตลาดทุกคนไม่มีใครทำโฆษณาแบบไม่หวังผล แต่ต้องปรับมุมมองในการวางแผนงานโฆษณาว่า ทำไปเพื่ออะไรด้วย

Culture capital มาจากแบรนด์ที่ทำมากกว่าพูด การที่เราอยู่ในธุรกิจครีเอทีฟต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าผลงานนั้น “น่าสนใจ” มากกว่าการวางแผนแบบ 360 องศา

เอาให้ชัด Tomorrow consumer คือใคร

คุณวรรณา สวัสดิกูล Vice President, Chief Marketing Officer, Thai Samsung Electronics Co., Ltd.

เมื่อพูดถึงคำว่า Tomorrow consumer คือ ทุกคนมักคิดถึงเด็ก Gen Y-Z แต่สำหรับสิ่งที่คุณวรรณาคิดนั้น คือกลุ่มผู้สูงวัย หรือ senior population เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ แต่พวกเขาต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ดังนั้น แบรนด์ต้องมองให้ชัดว่า เราจะถอยให้เครื่องมือของเราใช้งานได้ง่ายหรือทำให้ยากตามยุคของอนาคต

Tomorrow channel คือ การก้าวข้ามผ่านจุดการขายแบบเดิมมาเป็นออนไลน์ เช่นการ repeat customer repeat order ทำให้เกิดรายได้ระยะยาว ใครที่มีฐานลูกค้าเยอะ ย่อมเป็นโอกาสในระยะยาว

Tomorrow content คือ คอนเทนท์ประเภทวีดีโอและไม่อยู่นิ่ง เริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้นทำให้ Youtuber ต้องครีเอทแอคชั่นให้คนอยากแชร์ เช่น เพจคุณยายแกะกล่อง ที่ถือว่าเป็นยุคของการรีวิวที่น่าสนใจ โดยคนที่เราอาจละเลย

คอนเทนท์เซลฟี่แบบเดิม อาจไม่ได้โดนใจเท่ากับคอนเทนต์ที่เคลื่อนไหวได้ เพราะรูปแบบการเสพย์คอนเทนต์ของคนเปลี่ยนไปแล้ว แบรนด์จึงต้องวางแผนให้ดีและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้นด้วย