หากเอ่ยชื่อ “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” เชื่อว่าในแวดวงคนข่าวของเมืองไทยไม่มีใครไม่รู้จักเขาคนนี้ ซึ่งในปี 2018 คุณอดิศักดิ์ที่หลายคนคุ้นเคยกับการมีชื่อเนชั่นพ่วงท้ายก็กำลังก้าวสู่อีกหนึ่งภารกิจใหม่ นั่นคือการเปิดตัวธุรกิจ ADAP Creation (Thailand) โดยมีโปรดักซ์อย่างแพลตฟอร์ม “77ข่าวเด็ด” (77kaoded.com) เป็นตัวชูโรง
ที่มาของการสร้างแพลตฟอร์ม 77ข่าวเด็ด มาจากวิสัยทัศน์ที่ว่า “คนข่าวยุคนี้ต้องมีตัวตนบนโลกออนไลน์” ซึ่งคุณอดิศักดิ์เปรียบให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่า “77ข่าวเด็ด” เป็นแพลตฟอร์มให้คนข่าวได้มี “หน้าร้าน” เป็นของตนเองบนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากที่ผ่านมา นักข่าวในต่างจังหวัดหรือที่รู้จักกันในชื่อสตริงเกอร์จำนวนไม่น้อยไม่มีตัวตนใด ๆ อีกทั้งยังไม่ได้รับการ Transformation ไปสู่การเป็นนักข่าว 4.0 ที่รอบรู้และสามารถใช้งานเทคโนโลยีรวมถึง Social Media ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงไม่มีสหภาพแรงงาน ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่มีปากมีเสียง และไม่สามารถเรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ ได้
การขายข่าวให้สื่อส่วนกลางในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จึงถือเป็นรูปแบบธุรกิจที่ทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการถูก Disrupt ในอนาคตอันใกล้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่สื่ออย่างทีวีดิจิทัลกำลังเผชิญภาวะวิกฤติจากการขาดทุนอย่างต่อเนื่องเกือบสิบไตรมาสซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต้องหันมารัดเข็มขัด คอนเทนต์ข่าวจากภูมิภาคจึงอาจเป็นสิ่งที่สื่อจากส่วนกลางพร้อมจะลดค่าใช้จ่ายก่อนเป็นอันดับแรก ๆ
ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณอดิศักดิ์มองว่า สตริงเกอร์ต้องดึงจุดแข็งของตนเองขึ้นมาสู้ ซึ่งหนึ่งในจุดแข็งของนักข่าวภูมิภาคคือเรื่องของคอนเน็คชั่นที่แข็งแกร่งกับคนในพื้นที่ เช่น ข้าราชการ ผู้ประกอบการ และชุมชนต่าง ๆ พร้อม ๆ กับการเปลี่ยน Mindset จากการมองว่าตนเองเป็นเพียงผู้รายงานข่าวไปสู่การเป็น Media Conductor ประจำจังหวัด และมีแพลตฟอร์ม 77kaoded.com ให้เขาได้เชื่อมต่อ
“เราพยายามจะพิสูจน์ให้นักข่าวเห็นว่า ไม่ใช่ข่าวดราม่าอย่างเดียวที่ขายได้ แต่เขาสามารถทำคอนเทนต์ที่ดี มีคุณภาพได้มากกว่านั้น เช่นคอนเทนต์สถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมความเป็นอยู่ในท้องถิ่น อาหารการกิน บรรยากาศเทศกาลต่าง ๆ หรือข่าวชุมชน และเรามองว่าคอนเทนต์ที่มีคุณภาพเหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้วงการสื่อสารมวลชนเติบโตอย่างยั่งยืน” คุณอดิศักดิ์กล่าว และเพื่อให้แพลตฟอร์ม 77kaoded.com เป็นคอนเทนต์ข่าวคุณภาพ กฎข้อแรกคือ ไม่ขายดราม่า
“เราบอกเลยว่าไม่ต้องส่งภาพศพมานะ เพราะโลกออนไลน์เขาไม่แชร์รูปพวกนี้กัน ดีที่สุดคือคุณไม่ต้องถ่าย หรือถ้าจะถ่าย เราก็สอนว่าควรจะถ่ายอย่างไร เช่น มีเหตุยิงตัวตาย ก็ถ่ายรูปปืนมาก็ได้ พวกนี้เราต้องสอนเขา”
โมเดลธุรกิจนี้ไม่มี “ค่าข่าว”
อีกหนึ่งความท้าทายของแพลตฟอร์ม 77kaoded.com คือการอธิบายอย่างชัดเจนว่า “ไม่มีค่าข่าว” ให้ โดยทีมนักข่าวที่เป็นแอดมินของแต่ละจังหวัดอยู่ในฐานะพาร์ทเนอร์ของแพลตฟอร์ม รายได้จะมาจากค่าโฆษณาที่จะแบ่งกันในสัดส่วน 70% (นักข่าวพื้นที่) – 30% (ส่วนกลาง)
“คือตอนนี้เขาอาจยังไม่ได้เงิน แต่เขาได้ความรู้ ว่าจะทำ Analytics อย่างไร ดูแลเพจ Facebook อย่างไร ทำคอนเทนต์บน Twitter อย่างไร รวมถึงสอนเรื่อง SEO สอนการใส่แผนที่ ใส่ Link ต่าง ๆ พวกนี้เราสอนหมด ให้เขาเข้าใจ รวมถึงเรื่องการทำเว็บที่เราสนับสนุนให้เขาทำ เพจก็ต้องทำ แต่ต้องอธิบายว่า เว็บไซต์เหมือนกับบ้าน ที่อย่างไรก็ต้องมี ส่วนเพจ Facebook เป็นเหมือนโชว์รูม ที่ Mark Zuckerberg จะปิดเราเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นอย่าหวังพึ่ง Facebook อย่างเดียวเพราะมันเสี่ยงมาก พวกนี้เราอธิบายหมด”
โดยในมุมของคุณอดิศักดิ์มองว่า ถ้าทำให้สตริงเกอร์มีความรู้เร็วเท่าไร เขาก็จะเอาชนะคนที่ไม่ได้เป็นนักข่าวแต่ทำคอนเทนต์เป็นได้เร็วเท่านั้น เพราะคนกลุ่มนี้มีทีมงาน และมีคอนเน็คชันที่แข็งแกร่ง
เปิดตัววันแรก มีแอดมินตอบรับ 40 จังหวัด
โดยในช่วง 2 – 3 เดือนก่อนเปิดตัวเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ คุณอดิศักดิ์และทีมงานได้มีการเดินทางไปโรดโชว์เพื่อนำเสนอไอเดียนี้กับสตริงเกอร์ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผลที่ได้คือในวันที่ 26 ธันวาคม 2017 ซึ่งเป็นวันเปิดตัวเว็บไซต์วันแรกได้มีนักข่าวจาก 40 จังหวัดตัดสินใจส่งข่าวเข้ามานำเสนอบนแพลตฟอร์ม 77kaoded.com ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงไม่น้อย และคาดการณ์ว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แพลตฟอร์ม 77kaoded.com จะมีข่าวครบทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งจะถือว่าเป็นความสำเร็จของเฟสที่หนึ่ง โดยสถิติของ 77kaoded.com หลังจากเปิดดำเนินการมาเกือบหนึ่งเดือน (26 ธันวาคม 2017 – 23 มกราคม 2018) พบว่ามียอดผู้เข้าชมแล้ว 335,902 ไอพี โดย 56% มาจากกรุงเทพมหานคร และอีก 44% มาจากต่างจังหวัด ซึ่งในจุดนี้คุณอดิศักดิ์เผยว่า จะพยายามเพิ่มทราฟฟิกจากต่างจังหวัดให้มากขึ้น
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แพลตฟอร์ม 77kaoded.com สามารถสร้างทราฟฟิกได้ระดับนี้อาจมาจากการทำให้นักข่าว “มีตัวตน” และได้รับการยอมรับจากแหล่งข่าวในพื้นที่ของเขา ซึ่งในจุดนี้ เป็นสิ่งที่สตริงเกอร์บางคนไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนเลยนั่นเอง การมาถึงของแพลตฟอร์มนี้จึงมีส่วนช่วยให้นักข่าวมีความสุขและภูมิใจกับชิ้นงานที่ทำอยู่มากขึ้นได้ด้วย
“ต้องบอกว่า ความพอใจของนักข่าวต่างจังหวัดอาจไม่ใช่เรื่องเงิน เพราะเขามีรายได้ของเขาอยู่แล้ว อันนี้คือส่วนเพิ่ม เผื่อไว้ในกรณีที่เงินจากส่วนกลางมันลดลง”
มุ่งสู่การสร้าง Micro-Influencer – Marketplace ระดับท้องถิ่น
ก้าวต่อไปของแพลตฟอร์ม 77kaoded.com หลังจากมีทีมแอดมินข่าวครบ 77 จังหวัดแล้วคือการสร้างส่วนของบล็อกเกอร์ท้องถิ่นและมาร์เก็ตเพลสเพิ่มเข้ามาในแพลตฟอร์ม (ปัจจุบันกำลังจะเริ่มรับสมัคร) ซึ่งคุณอดิศักดิ์เผยว่า บล็อกเกอร์จะเป็นการสร้าง Micro-Influencer ระดับท้องถิ่นเพื่อนำเสนอมุมมองต่าง ๆ ในพื้นที่ที่จะทำให้แพลตฟอร์มนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถใช้เป็นจุดหมายปลายทางของเอเจนซีที่ต้องการเข้าถึง Micro-Influencer ระดับรากหญ้าได้ดีแพลตฟอร์มหนึ่งเลยทีเดียว โดยบล็อกเกอร์ในมุมของ 77kaoded.com นั้น อาจเป็นบล็อกเกอร์ที่มีความเป็นท้องถิ่นสูง เช่น ปราชญ์ท้องถิ่น หรือคนที่ได้รับความเชื่อถือจากชุมชน นักคิด นักวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น เป็นต้น
แม้โมเดลใหม่ของแพลตฟอร์ม 77kaoded.com ที่หันมาจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับนักข่าวนี้จะต้องการเวลาพิสูจน์อีกสักระยะ แต่แนวคิดของการสร้างคอมมูนิตี้ สร้างคอนเทนต์ข่าวชุมชน ก็เป็นเรื่องน่าสนใจว่าจังหวัดที่โนเนม อาจไม่ใช่จังหวัดโนเกมอีกต่อไปแล้วก็เป็นได้ เพราะด้วยพลังสื่อก็สามารถสร้างเกมใหม่ขึ้นมาให้จังหวัดครึกครื้นและเป็นที่สนใจได้เช่นกัน