“ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์” ซีอีโอแอดยิ้ม (Adyim) เผย บุกตลาดจีนไม่ง่าย และไม่ควรพึ่งพาแค่แพลตฟอร์มเดียว แต่ควรใช้กลยุทธ์แบบผสมผสาน ล่าสุดจับมือบริษัทด้าน Digital Marketing ของจีนอย่าง Adsventure Group เปิดตัวบริษัทร่วมทุน AVG Thailand โดยชูความพร้อมที่บริษัทได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Authorized Partner กับสื่อดิจิทัลยักษ์ใหญ่ในจีนอย่าง Weibo, WeChat, Baidu, Alibaba คาดพาธุรกิจไทยไปได้ไกลกว่าเดิม พร้อมตั้งเป้ากวาดรายได้ 100 ล้านบาทในปี 2018
“ก่อนอื่นสำหรับคำถามว่า ทำไมถึงต้องเป็นประเทศจีน ต้องบอกว่ามีหลายเหตุผล เหตุผลแรกคือจีนมีประชากร 1,400 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก สองคือจีนพัฒนาและเติบโตเร็ว ทำให้เริ่มเห็นแนวโน้มแล้วว่า จีนกำลังจะแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นผู้นำโลกในด้านเศรษฐกิจในเร็ว ๆ นี้ สามคือจีนมีตัวเลขผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในระดับที่สูงมากนั่นคือประมาณ 700 ล้านคนหรือครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ สี่คนจีนยุคใหม่มีพฤติกรรมต่างจากคนจีนในอดีตอย่างสิ้นเชิง นั่นคือคนจีนในปัจจุบันเป็นกลุ่มที่พร้อมจะใช้จ่าย หาได้เยอะก็พร้อมจะใช้เยอะ ต่างจากคนในยุคพ่อแม่ที่เน้นการเก็บหอมรอมริบ” คุณธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ซีอีโอ แอดยิ้มกล่าว พร้อมเผยว่า
“เหตุผลสุดท้าย คนจีนชอบมาเที่ยวประเทศไทย คนจีนมองหาสินค้าที่มีตรา Made in Thailand”
จากเหตุผลข้างต้นฟังดูแล้วอาจทำให้หลายบริษัทมองว่าการบุกตลาดจีนนั้นควรจะเป็นช่องทางที่สดใส แต่คุณธนพลได้ชี้ว่า ในความสดใสนี้มีความท้าทาย 5 บางประการรออยู่ ซึ่งคนที่ยังไม่เคยเข้าไปในตลาดจีนจะไม่มีวันทราบได้เลย นั่นคือ
- เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก
- ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม
- ข้อจำกัดด้านภาษา
- ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์
- องค์ความรู้ด้านดิจิทัล
โดยในความท้าทายทั้ง 5 ประการนี้ อาจทำให้แบรนด์ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เนื่องจากแคมเปญที่ประสบความสำเร็จในไทย ใช่ว่าจะไปประสบความสำเร็จที่เมืองจีน แบรนด์อาจต้องมีการปรับสูตร ปรับแพกเกจ ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย หรือในกรณีของโลจิสติกส์ ที่ปัจจุบัน E-Commerce จีนนั้น สามารถสั่งเช้า – บ่ายรับของ ซึ่งในจุดนี้อาจเป็นสิ่งที่ธุรกิจไทยยังขาดองค์ความรู้ด้านการจัดการ
“ไม่ใช่แค่เราซื้อสื่อ ซื้อ Baidu ซื้อ WeChat แล้วจบ แต่เรายังต้องมี Digital Know-How ด้วย”
“เครื่องมือ (Tools) ที่ใช้ในการทำตลาดดิจิตอลในจีนนั้น จะแตกต่างจากในบ้านเราเนื่องจาก Digital Tools หลักๆ จากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Line, Google, Facebook, Youtube ไม่สามารถใช้งานได้ สำหรับเครื่องมือดิจิตอลในจีนที่นิยมใช้กัน ได้แก่ Baidu ซึ่งจะใช้ค้นหาข้อมูลแทน Google ตัว Baidu เอง มีระบบ Keyword Planner ให้ใช้เช่นเดียวกับ Google ทำให้เราทราบได้ทันทีว่าคนจีนเสิร์จหาอะไรในเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่คนจีนจะเสิร์ชหา ข้อมูลโรงแรม, ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว, ข้อมูลของฝาก สำหรับคนจีนที่ชอบเล่นโซเซียลมีเดียก็จะเล่น Weibo แบบเดียวกับที่เล่น Facebook และชอบพูดคุยกับเพื่อนผ่าน WeChat เทียบได้กับ Line ซึ่งระบบโฆษณาใน WeChat นั้นค่อนข้างล้ำกว่า Line เพราะมีลูกเล่นมากกว่า และสามารถสร้างแอปพลิเคชันเข้าไปผูกกับระบบของ WeChat ได้เลย จะทำเป็นเกมส์, เป็นระบบการเปิดจอง หรือระบบอีคอมเมิร์ซก็สามารถทำได้” ซีอีโอแอดยิ้ม กล่าว
สำหรับเทรนด์การตลาดดิจิตอลของจีนในปัจจุบันนั้น คุณธนพล กล่าวว่า ภาคส่วน E-Commerce ของจีนมีการขยายตัวเป็นอย่างมาก และเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปัจจุบันมีการขยายตัวแตะ 8.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 27 ล้านล้านบาท) ในปี 2017 การค้าแบบ E-Commerce มีส่วนแบ่งคิดเป็น 17% ของยอดค้าปลีกทั้งหมดทั่วประเทศ และทำให้ห้างสรรพสินค้าในจีน เริ่มเจอปัญหาเช่นเดียวกับในประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ทยอยปิดตัวร้านค้าในห้าง หันไปเปิดขายในออนไลน์หรือหันไปลงโฆษณาขายของบนแพลตฟอร์ม E-Commerce ใหญ่ๆ แทน เช่น Tmall, Taobao ฯลฯ
“การทำการตลาดออนไลน์ในจีน ต้องมีการผสมผสาน Digital Tools หลายๆ ตัวเข้าด้วยกันเพื่อเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และต้องเรียนรู้ Customer Journey ของชาวจีนสำหรับสินค้าหรือบริการนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ถ้าต้องการให้คนจีน เดินทางมาพักที่โรงแรมของเราหรือมาซื้อของฝาก จะต้องวางแผนทำให้คนจีนรู้จักเราตั้งแต่ตอนที่เค้าอยู่ประเทศจีนเลย เราอาจจำเป็นจะต้องซื้อ Keywords ใน Baidu เพื่อให้คนจีนค้นหาเจอข้อมูลโรงแรมหรือสินค้าของเราที่เป็นภาษาจีน ต่อมาเมื่อคนจีนเดินทางมาถึงเมืองไทย ส่วนใหญ่คนจีนจะซื้อ Sim เปลี่ยนซึ่งเราสามารถส่ง SMS หาคนจีนที่เดินทางมาในไทยได้ โดยอาจจะส่งโปรโมชั่นที่น่าสนใจหรือส่งข้อความต้อนรับก็ได้ และในระหว่างที่อยู่ในไทย เราอาจจะลงโฆษณาใน WeChat หรือ Weibo และคิดกลยุทธ์ว่าจะทำยังไงให้คนจีน ช่วยโพสต์รูปโรงแรมหรือรูปสินค้าที่เค้าซื้อ เพื่อที่จะได้ Free PR ไปในตัว เป็นต้น”
ด้าน มร.หลี่ เสี่ยว จวิน (Li Xiao Jun) ซีอีโอ บริษัท AVG จำกัด กล่าวว่า AVG เป็นบริษัทที่มีแพลตฟอร์มการวางแผนสื่อในจีนที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุมทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์ มีบริษัทในเครือรวม 9 บริษัท ครอบคลุมไปทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน, สิงคโปร์, มาเลเซีย, กัมพูชา และเวียดนาม
สำหรับในจีนนั้น บริษัท AVG เป็น Premier Partner กับเครือข่ายสื่อดิจิตอลยักษ์ใหญ่ในจีนทั้งหมด เช่น Baidu, Alibaba, Wechat, Weibo, Youku รวมทั้งมีคอนเนคชั่นกับอินฟลูเอนเซอร์ตัวท็อปของจีนที่จะช่วยสร้างแบรนด์, โปรโมทสินค้าและบริการในประเทศจีน อีกทั้งยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญช่วยวางแผนสื่อแบบผสมผสานที่เหมาะสมที่สุดกับธุรกิจของลูกค้า เพื่อที่จะช่วยลูกค้าสร้างแบรนด์และเจาะตลาดในจีนได้อย่างรอบด้านมากขึ้น
“ทำไมจีนถึงเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับสินค้าและบริการจากไทย นั่นเพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 1ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนและยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกอย่างต่อเนื่อง ชาวจีนชื่นชอบประเทศไทยในเรื่องแหล่งช้อปปิ้ง อาหาร และวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันคนจีนกลุ่ม A-List หรือคนที่มีศักยภาพในการจับจ่ายมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนับเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา”
ผนวกกับจีนกำลังสร้างรถไฟความเร็วสูงที่จะครอบคลุมโซนเศรษฐกิจทั้งหมดทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลง ทำให้การคมนาคมขนส่งระหว่างไทย-จีนสะดวกขึ้น ท้ายที่สุด Tmall และอาลีบาบา แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีน จะเป็นช่องทางการซื้อขายที่สะดวกและแพร่หลายสำหรับการนำสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีน” ซีอีโอ AVG กล่าวปิดท้าย