ด้วยมูลค่าตลาด Digital Marketing ของไทยในปี 2560 ที่มีตัวเลขสูงถึง 12,402 ล้านบาท และปี 2561 ก็คาดว่ายังโตต่อเนื่องแตะ 14,330 ล้านบาท ทำให้แบรนด์และองค์กรต่างๆ ต้องอัพเดทธุรกิจของตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและทันต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคไปพร้อมกัน
ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง “แอดยิ้ม” (Adyim) ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง โซลูชั่น ครบวงจรระดับแนวหน้าของประเทศไทย ในเครือบริษัท YDM Thailand จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ดึงเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาคลังข้อมูลหรือ Big Data ของลูกค้ามากขึ้นด้วยการตั้งแผนก Digital Data Analysis เพื่อเข้าไปช่วยวิเคราะห์ข้อมูลที่ลูกค้ามีในมือให้ดีขึ้น เพื่อต่อยอดในการนำไปใช้ในการทำธุรกิจให้ดีกว่าเดิม
หลายบริษัทยังมองเรื่อง Big Data เป็นแค่ CRM ทำให้ไม่ได้ดึงประโยชน์มาใช้ในการทำตลาดอย่างจริงจัง ปีนี้ Adyim จะเข้าไปสนับสนุนลูกค้าในเรื่องนี้เป็นหลัก รวมทั้งเข้าไปดูว่าควรเก็บ Data อย่างไรให้เหมาะสมและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า เพราะหลายธุรกิจจะเก็บรวบรวมข้อมูลไว้แต่ใช้ทำประโยชน์ไม่ได้ ซึ่งน่าเสียดายกับการลงทุนไปก่อนหน้านี้
โดยหลังจากรวบรวมข้อมูลทั้งหมดสำเร็จ ก็จะเริ่มทำการวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงของ Data โดยใช้ทีม Data Scientist เข้าไปช่วยวิเคราะห์ว่า มี Data ชุดใดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการตลาด หรือเอาไปใช้ในการทำธุรกิจได้บ้าง รวมถึงการทำโมเดล Predictive ทำนายพฤติกรรมของลูกค้าที่มีโอกาสจะซื้อสินค้าหรือบริการของเราโดยมีการนำ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ด้วย
“เรื่อง Big Data ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพียงแต่แบรนด์หรือธุรกิจยังไม่รู้ว่าตัวว่าควรลงมือทำอะไรให้เกิดประโยชน์”
ส่วนใหญ่แบรนด์หรือธุรกิจจะมีข้อมูลที่สำคัญในมืออยู่แล้ว เช่น ข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์ของตัวเอง ข้อมูลใน Social Media ที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ข้อมูลของผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา และข้อมูลในระบบ CRM ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้นหากนำมาจัดการอย่างเหมาะสม รวมทั้งประหยัดงบในการทำตลาดด้วย หากนำไปต่อยอดอย่างเหมาะสม
ยกตัวอย่าง สิ่งที่ได้จากการนำ Big Data ไปใช้งาน
- สามารถยิง media ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำมากขึ้น ไม่ใช่การยิง media แบบเดิมที่เน้นไปแค่ที่ Demographic, Geographic แต่ส่งไปที่คนที่สนใจในสินค้าหรือบริการของเราจริงๆ เท่านั้น
- สามารถส่งอีเมล์แบบ one–to–one marketing เช่น ส่งอีเมล์ออกไป 10,000 ฉบับ โดยที่คนที่รับอีเมล์แต่ละคนนั้นจะได้รับอีเมล์ที่มีเนื้อหาไม่เหมือนกันเลย โดยเนื้อหาจะตรงกับความสนใจของคนที่รับเมล์นั้นๆ โดยเฉพาะ
- การทำเว็บไซต์โชว์ข้อมูลแบบ One–to–One คือ คนที่เข้าเว็บไซต์เราแต่ละคน จะเห็นข้อมูลที่แสดงบนเว็บไม่เหมือนกัน โดยจะจัดแสดงข้อมูลที่คนๆ นั้น สนใจไว้ให้โดยเฉพาะ
- การทำ Research หา Customer Insight โดยไม่ต้องเสียเวลาทำ Surveyหรือ Focus Group แต่หาความเชื่อมโยงจากชุด Big Data ที่จัดเก็บ
ในส่วนของภาพรวมตลาดดิจิทัลในไทยและอาเซียนนั้น ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะขณะนี้ภาพรวมของการใช้เงินบนสื่อดิจิทัลของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น อเมริกา, อังกฤษ, ญี่ปุ่น นั้น แตะถึงระดับ 40% ของงบโฆษณาทั้งหมดแล้ว ในขณะที่ไทยยังอยู่แค่ 10% เท่านั้น
ดังนั้น จึงมีโอกาสเติบโตได้มากกว่านี้ถึง 4 เท่า ซึ่งบรรดาแบรนด์ใหญ่ๆ ต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการวัดผล หรือการทำ Performance marketing มากขึ้น
เมื่อทุกอย่างวัดผลได้และเห็นผลชัดเจน แบรนด์จะกล้าใช้เงินกันมากขึ้น ส่วนตัวมองว่าแบรนด์ไหนที่สามารถปรับตัวได้เร็วจะมีความได้เปรียบเป็นอย่างมาก และแบรนด์ไหนที่ปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามา อาจจะถึงขั้นล้มหายตายจากไปจากตลาดเพราะตกอยู่ในสภาพที่แข่งขันไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หลายแบรนด์เริ่มมองเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลที่มากขึ้น การจะทำให้ตัวเองมีโอกาสในการแข่งขันทั้งปัจจุบันและอนาคตได้นั้น ก็ต้องมีการนำเครื่องมือที่เหมาะสมมาช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ