เชื่อว่าแบรนด์และนักการตลาดคงทราบกันอยู่แล้วว่า อีคอมเมิร์ซ หรือการขายสินค้าออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมาก แต่อีกหนึ่งเทรนด์ช่องทางการขายที่น่าสนใจสำหรับเจ้าของธุรกิจหรือแบรนด์ คือการขายสินค้าแบบ Affiliate หรือเรียกว่าเป็นการขายแบบบอกต่อ
เพราะเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และบล็อกเกอร์ หรือแม้แต่เพจช่ือดังต่างได้รับการยอมรับในการแนะนำหรือให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแบรนด์มากขึ้น เพราะคนไทยยุคใหม่นิยมอ่านรีวิวก่อนตัดสินใจ แม้จะไม่ซื้อทันทีตามคำบอกเล่า แต่ก็เก็บไว้ในใจและกลับมาซื้อภายหลังก็ยังได้
การที่แบรนด์หรือเจ้าของธุรกิจอยากเข้าถึงกลุ่มผู้นำความคิดเหล่านี้ อาจจะต้องเสียเงินก้อนโตในการจ้างงานแต่ละครั้งคราวไป ซึ่งหากเป็นอินฟลูเอนเซอร์หรือบล็อกเกอร์ขนาดใหญ่ การจ้างงานซ้ำๆ แบบนี้ย่อมทำให้ “กระเป๋าแบน” ได้แน่นอน
วันนี้ Thumbsup จะมาบอกประโยชน์และวิธีการทำ Affiliate (แอฟฟิลิเอท) ร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์หรือบล็อกเกอร์ที่อาจจะไม่โด่งดังมาก แต่มีโอกาสในการซื้อและเข้าถึงคนได้มากเช่นกัน
มีแบรนด์ใดบ้างที่เปิดโปรแกรม Affiliate
เรื่องของการทำ Affiliate ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีหลายบริษัทของไทยที่เปิดใช้งานแบบนี้ จากที่เราหาข้อมูลมาได้แก่
- Accesstrade Affilate Program : เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางที่รวบรวมการแนะนำสินค้าร่วมกับบริษัทอื่นๆ เหมือนเว็บนี้เป็นนายหน้าให้เราเข้าไปเลือกสินค้าว่าอยากขายอะไรก็ได้ เพราะเขามีการรวบรวมสินค้าหลายอย่างไว้ในที่เดียว และเขาก็เคลมว่าบริษัทตนเองนั้นเป็น Marketing Network ที่ใหญ่ที่สุดในไทยเลย
- Agoda Affiliate Program : เว็บไซต์จองโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและหลายคนต้องเคยใช้บริการมาก่อน เหมาะกับเพจประเภทท่องเที่ยวบนเพจหรือรีวิวบนโซเชียลมีเดีย
- Sellzabuy : เป็นอีกหนึ่ง Marketing Network ที่น่าสนใจ ด้วยราคาสินค้าที่ค่อนข้างแพงทำให้ค่าคอมมิชชั่นที่ได้อาจจะดีกว่าที่อื่น ต้องลองเข้าไปเช็คดูค่ะ ว่าสินค้าโดนใจไหม
- Priceza : เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้าของไทยที่มีประสบการณ์ในวงการอีคอมเมิร์ซมาอย่างยาวนาน และมีระบบที่น่าเชื่อถือ
- Ecomobi : เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เน้นการโปรโมทผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ข้อดีคือมีตัวเลือกสินค้าเยอะและค่าคอมมิชชั่นก็น่าสนใจทีเดียว
- Canva : เว็บไซต์ออกแบบและตกแต่งภาพ ที่น่าสนใจ หากคุณเป็นทำงานสายออกแบบการแนะนำฟีเจอร์ให้คนเข้าไปอ่านและคลิกสมัครใช้งานจากลิ้งของคุณได้ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจ
- LAZADA : แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังที่เปิดโปรแกรมนี้มาเพื่อช่วยโปรโมทสินค้าบนระบบของตนเอง ซึ่ง LAZADA Affiliate นี้ถอืว่าเป็นโปรแกรมที่น่าสนใจและมีรายได้ที่ชัดเจนมากขึ้นเพราะหลายอินฟลูเอนเซอร์ช่วย “ป้ายยา” ให้เห็นชัดและคนตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น
- Shopee : ไม่เพียงแค่ลาซาด้า แต่ช้อปปี้เองก็เปิดโปรแกรมนี้ให้ใช้งาน โดยนำลิ้งสินค้าไปโปรโมทและรับเงินไม่ยาก
อยากทำ Affiliate Program
ข้อมูลการสร้างระบบ Affilate Program นั้น ทางผู้เขียนหาข้อมูลมาจาก Marketing Tech Thailand ที่มีการแนะนำขั้นตอนการระบบชัดเจน และจะสรุปมาให้คร่าวๆ ดังนี้ค่ะ
ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการอ่านบทความหรือข้อมูลบนสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่อาจจะมาจาก Publisher Influencer หรือ Blogger ในเพจต่างๆ เมื่ออ่านแล้วสนใจการรีวิวหรือแนะนำสินค้าก็จะกดเข้าไปในลิ้งเพื่อทำการสั่งซื้อ ดังนั้นระบบหลังบ้านของบริษัทก็จำเป็นต้องมีโปรแกรมคำนวณว่าผู้ซื้อมาจากแหล่งใด และหักเปอร์เซ็นต์ให้กับคนที่แนะนำ เพื่อจูงใจให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ทำการประชาสัมพันธ์สินค้าตัวอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ หลักการจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ผู้แนะนำจะแบ่งเป็น
- Cost per Cick : จ่ายเงินตามจำนวนทราฟิกที่มีการกดเข้ามาจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต้นทางของอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือเพจต่างๆ
- Cost per Lead : การจ่ายเงินตามจำนวนคนลงทะเบียน ที่มีการกดเข้ามาจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต้นทางของอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือเพจต่างๆ
- Cost per Member signup : การจ่ายเงินตามจำนวนคนสมัครสมาชิก ที่มีการกดเข้ามาจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต้นทางของอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือเพจต่างๆ
- Cost per Sale : การจ่ายเงินตามมูลค่าการขาย ที่มีการกดเข้ามาจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต้นทางของอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือเพจต่างๆ
สำหรับวิธีการ Tracking Affiliate จะมาจาก Cookie (จากการ Cost per Click) และจาก UTM ที่มีการส่งแบบพารามิเตอร์แบบอื่นๆ ที่ต่อท้าย URL
ดังนั้น การออกแบบ Incentive Structure ให้เหมาะสมนั้นจำเป็นต้องมีมูลค่าสูงพอ เพื่อดึงดูดให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์สนใจเข้ามาใช้งานระบบของคุณ
แต่ขณะเดียวกัน Incentive Cost นี้ ก็ไม่ควรสูงกว่า Cost per Transaction ที่ปรากฏในช่องทางอื่นๆ ที่เราทำกลยุทธ์ด้วย เพื่อที่จะได้ไม่แบกต้นทุนมากเกินไป
ทั้งนี้ คำเตือนที่เราอยากจะบอกแบรนด์ที่อยากทำ Affiliate Program หรือ Referral Marketing ต่างๆ ก็คือ
- อย่าใช้เงินปั่นกระแส : การเปิดระบบบอกต่อหรือให้ค่าคอมมิชชั่นต่อเพจต่างๆ นั้น ต้องเหมาะสมคือไม่มากหรือน้อยจนส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่ค่อยๆ เพิ่มในรายที่สามารถสร้างรายได้ให้คุณสม่ำเสมอดีกว่า
- ทำงานร่วมกับทีมที่เหมาะสม : การทำโปรแกรมแบบนี้หากทำร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์หรือแบรนด์ที่ใหญ่มากๆ ผู้อ่านจะมองว่าเป็นการ “จ้างเขียน” มากกว่ารีวิวด้วยความ “จริงใจ” ดังนั้นศักยภาพของความร่วมมือที่ดีต้องมาจากความรู้สึก “รักในแบรนด์” และ “เชื่อมั่นในแบรนด์”
- ข้อมูลต้องชัดเจนและพร้อมใช้งานเสมอ : ทีมการตลาดของแบรนด์ต้อง “ทราบ” อยู่เสมอว่า อินฟลูเอนเซอร์หรือบล็อกเกอร์ที่นำข้อมูลของเราไปใช้งานนั้น พวกเขาทำเพื่อประชาสัมพันธ์และต้องสื่อสารให้ครบถ้วน ดังนั้นข้อมูลที่เตรียมไว้ให้พวกเขานำไปเผยแพร่ต่อจะต้องพร้อมทุกส่วนคือ มีทั้งไฟล์แบนเนอร์ (Banner) ลิ้งกดเข้ามาสั่งซื้อหรือดูสินค้า (URL) และต้องมี Code สำหรับนำไปใช้ embeded ได้ ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ ต้องมีครบในทุกสินค้าที่นำใส่เข้ามาในระบบเลย
- มี Dashboard แจ้งให้ทราบ : หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เข้ามาหารายได้แน่นอนว่าอยากทราบว่าตอนนี้มีรายได้เท่าไหร่แล้ว เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ก็เช่นกัน คุณจึงจำเป็นต้องมี Dashboard หรือ Report ที่อัพเดทให้ทราบอยู่เสมอหรือให้พวกเขาเข้าไปเช็คเพื่อตรวจสอบและกระตุ้นให้พวกเขาขายของเพิ่มเองได้
- เงื่อนไขของการเบิกจ่ายและปันผลต้องมีครบ : ส่วนนี้ก็เปรียบเสมือนหนังสือจ้างงาน คือต้องมีสิ่งที่ควรรู้ให้ครบ มีกติกาที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าคุณไม่หลอกลวง จะจ่ายสดทุกเดือนหรือเครดิตทุก 3 เดือน ก็ต้องระบุทั้งสิ้น เพราะส่วนนี้จะช่วยให้พวกเขาวางแผนรายได้อื่นๆ ชัดเจนขึ้น
ที่มา : thaiwinner, Gelending, Krungsri, Martechthai