Site icon Thumbsup

อยากเป็นเอเจนซี่มือหนึ่ง ต้องอยู่ให้รอดแบบ Start-up

ผู้เขียนเองยอมรับว่ากว่าจะดูหนังเรื่อง Startup ได้จบอาจใช้เวลามากกว่าเหล่าแฟนคลับและคนติตดามซีรีย์เกาหลีอื่นๆมากมาย เพราะพยายามที่จะหาความโดดเด่นในแต่ละตอนเพื่อมาโยงกับประสบการณ์ของการทำงานในวงการเอเจนซี่ให้เหมาะสมที่สุด

ชาว thumbsup อาจสงสัยว่าทำไมผู้เขียนถึงพยายามโยงเรื่องการทำงานของเอเจนซี่เข้ากับซีรี่ย์เรื่อง Start-up นั่นคงเพราะสังคมและวิถีการทำงานของคนสองกลุ่มนี้มีความคล้ายกันหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น ไลฟ์สไตล์ในการทำงานที่ค่อนข้างอิสระ เปิดรับความคิดเห็นของอีกฝ่าย การพิชงานหรือการดีลงานกับลูกค้า เป็นต้น

การเลือกเข้าทีมที่มีโอกาสเติบโตได้นั้น ก็เหมือนกับการเลือกบริษัทเอเจนซี่เข้าทำงานนั่นแหละค่ะ แต่ละบริษัทเอเจนซี่ชั้นนำของไทยต่างก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน รวมถึงจำนวนของบริษัทเอเจนซี่ที่น่าสนใจในไทยก็มีจำนวนเยอะมากเหมือนที่เราเคยรวบรวมไว้ให้ค่ะ (รายชื่อดิจิทัลเอเจนซี่) 

การเลือกบริษัทที่ดีก็เหมือนเลือกประธาน

คำถามที่ไร้สาระที่สุด คือ การเป็นประธานที่ดีคืออะไร นั่นคือการที่เราพยายามตามหาสิ่งที่ไม่มีจริงอยู่หรือเปล่าคะ คำพูดหนึ่งที่น่าสนใจของฮันจีพยอง หรือหัวหน้าฮันนั่นเอง

เช่นเดียวกับการเลือกเข้าทำงานในบริษัทเอเจนซี่สักแห่งหนึ่งนั้น เราเลือกจากโปรไฟล์ของประธานบริษัทว่าเป็นคนดีของสังคม แต่อาจจะไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนหรือสร้างรายได้เข้าบริษัทได้ หรือเรากำลังหาประธานบริษัทที่ภาพลักษณ์อาจไม่ได้เลิศหรูนัก แต่สามารถรักษาธุรกิจให้อยู่รอดได้ในยุคที่ไม่มีความแน่นอนแบบนี้

ก็เช่นเดียวกับการมองหานักการเมืองที่ดีสักคนนั่นแหละค่ะ คนดีที่ไม่สามารถรักษาประเทศ รักษารายได้เข้าประเทศหรือหานักลงทุนมาลงทุนประเทศได้นั้น คือนักการเมืองที่ดีจริงหรือเปล่า (อันนี้อ้างอิงจากในซีรี่ย์นะคะ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองของประเทศใดเลย) เพราะประธานที่ตัดสินใจความอยู่รอดของบริษัทไม่ได้ถือว่าไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นประธานได้เลย

Pitching ไม่ใช่แค่ขายผ่านแต่ต้องสร้างโอกาสระยะยาว

หากคุณเป็นหนึ่งในทีมเอเจนซี่ย่อมต้องเคยพิช (Pitching) งานใช่ไหมคะ แน่นอนว่าหากเป็นในซีรี่ย์สตาร์ทอัพ เราคงเห็นทีมซัมซานเทคพยายามที่จะพรีเซ้นท์จุดเด่นของธุรกิจและอยากให้แซนด์บ็อกซ์รับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งจึงต้องแสดงความสามารถด้านเทคโนโลยีออกมาให้มากที่สุด

*** การ Pitch คือการนำเสนอบริษัทของเราให้กับลูกค้าหรือนักลงทุนที่สนใจเพื่อเข้ามาลงทุนกับเรา ซึ่งเป็นวิธีการมาตรฐานที่งาน Tech Startup ต่างๆหรือ Incubator จัดขึ้นเพื่อให้ Start Up นั้นๆได้เงินมาลงทุนหรือสร้างความประทับใจบริษัทของเราเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ดังนั้น ถ้าคุณเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ต้องพิชงานกับลูกค้าแล้วละก็ ไม่ใช่แค่เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทตัวเองให้พร้อม แต่จะต้องเตรียมผลงาน แสดงความสามารถทั้งหมดของทีม ที่สำคัญคือแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของทีมให้พาร์ทเนอร์ นักลงทุนและลูกค้าได้เห็นว่าทีมของเราจะนำเสนอผลงานของลูกค้าหรือแบรนด์ให้อยู่รอดได้อย่างไร

รวมถึงความสามารถของเอเจนซี่ที่เราทำงานอยู่นั้น มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในการสู้อุปสรรคในการทำงานได้แค่ไหน เคยเป็นไหมคะ ที่รู้สึกว่าทำงานที่นี่แล้วงานหนักมากเลยเมื่อเทียบกับเพื่อนเอเจนซี่เจ้าอื่นแล้ว เขาดูสนุกและทำงานร่วมกันได้อย่างสามัคคีกันมาก

ถ้าวันหนึ่งรู้สึกแบบนั้น ลองถามตัวเองดูไหมคะว่าคุณกำลังทำงานที่นี่ต่อเพราะอะไร งาน เงิน สังคม เพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายของคุณกันแน่

Connection ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเรานอนหลับ

มีหลายคนที่อยู่วงนอกและไม่รู้จักตัวจริงของเรามักจะคิดว่า คนเป็นเจ้าของบริษัทนั้นดีจังเลย เส้นใหญ่ รู้จักคนเยอะ เส้นสายดีทำให้ได้รับโปรเจ็คเรียกเงินเสมอ แต่รู้ไหมคะว่าทำไมเหล่าสตาร์ทอัพจำเป็นต้องมีงานสังสรรค์เล็กๆ

หากเป็นในงานใหญ่ๆ อย่างพวกสตาร์ทอัพไทยแลนด์ เทคซอร์สซัมมิท ที่นอกจากจะเป็นการรวมวงการสตาร์ทอัพมาไว้ในอีเว้นท์เดียวแล้วนั้น ยังมีการจัดช่วงเวลาให้ผู้บริหารสตาร์ทอัพ ได้พบปะ แลกนามบัตรหรือคุยกัน

ช่วงเวลาของการทำ Business Matching อย่างเป็นทางการนั้น อาจจะเป็นเรื่องดีที่ให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่ได้พบปะและพูดคุยกับนักลงทุนอย่างเป็นทางการ

แต่สำหรับการทำงานแบบเอเจนซี่แล้วนั้น กว่าที่จะเข้าไปพิชงานอย่างจริงจังได้แต่ละครั้งนั้น ต้องอาศัยคอนเนคชั่นเป็นหลัก ไม่ว่าจะมาจากคอนเนคชั่นของเจ้าของบริษัทเอง จากพาร์ทเนอร์ หรือจากพนักงานในบริษัทแนะนำกันมา ต่างก็เป็นโอกาสทั้งสิ้น

ดังนั้น การที่เจ้าของบริษัทไม่ได้นั่งประจำอยู่ที่ออฟฟิศประจำให้เราเข้าไปคุยด้วย นั่นเป็นเพราะเขาต้องออกไปหาคอนเนคชั่นเพื่อสร้างการอยู่รอดของบริษัทนั่นเอง อีกสิ่งหนึ่งที่พนักงานทั่วไปรู้สึกอึดอัดคือ ทำไมบริษัทที่กำลังอยู่ในภาวะยากลำบาก ท่านประธานถึงดูรวยจังเลย

ทราบหรือไม่คะว่าภาพลักษณ์ที่ดีของเจ้าของบริษัท คือ การดูเหมือนรวยนี่ละค่ะ จริงอยู่ว่ายุคสมัยนี้เจ้าของบริษัทนั่งบีทีเอส แว้นมอเตอร์ไซต์เพื่อไปคุยงานดูเท่มากสำหรับพนักงานบริษัทด้วยกัน แต่สำหรับการไปเจรจาธุรกิจที่จริงจังนั้น การมีภาพลักษณ์ที่ดี ภูมิฐาน ก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นายทุนที่อยากลงทุนร่วมงานกับเราได้ค่ะ

การแข่งขันไม่มีคำว่าพี่-น้อง

แม้เราจะเห็นการแข่งขันของสองพี่น้อง วอนอินแจและซอดัลมี อยู่ตลอด จริงอยู่ว่าน่าหงุดหงิดและโมโหเวลาที่อินแจตัดหน้าได้อะไรที่ดีกว่าอยู่เสมอ ทั้งพ่อที่ร่ำรวย วิถีชีวิตที่เริดหรู โปรเจคที่สร้างเงินมหาศาล แต่ทราบหรือไม่คะว่าไม่มีโอกาสไหนเกิดขึ้นมาง่ายๆ

ในวงการธุรกิจก็เช่นกัน แม้เราจะเห็นผู้บริหารบริษัท A มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัท B จังเลย เมื่อมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องกลับไม่เห็นบริษัท A และ B ทำร่วมกัน แต่กลับเห็นพวกเขาเป็นเหมือนคู่แข่งกันมากกว่า นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเวลามีข่าวเกี่ยวกับความร่วมมือกันระหว่างบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน คนถึงไม่ค่อยเชื่อว่าจะไม่มีผลประโยชน์เบื้องหลัง เพราะในโลกของธุรกิจแล้วไม่มีคำว่าได้อะไรมาฟรีๆ ยังไงละคะ

ศัพท์การตลาดเกี่ยวกับสตาร์ทอัพที่น่ารู้

เรื่องของคำศัพท์ที่ไม่ว่าจะอยู่วงการเอเจนซี่หรือสตาร์ทอัพ ต่างก็ต้องใช้ในสถานการณ์จำเป็นทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ไหน แต่บังเอิญมีผู้ร่วมงานหรือประธานบริษัทสักคนพูดข้ึนกลางที่ประชุมแล้วเราก็บังเอิญไม่เข้าใจว่าเขาต้องการสื่อถึงอะไร คงยากในการหาคำตอบเพื่อบทสนทนาจะเดินต่อไปได้ วันนี้เราจึงรวมคำศัพท์ที่ได้ยินคนพูดถึงบ่อยไว้ให้ค่ะ

Accelerator หรือ Incubator : ทั้งสองคำนี้แม้จะมีความหมายที่ต่างกัน อย่างตัวเร่งความเร็ว หรือ ฟูมฟัก แต่ในสถานการณ์ของสตาร์ทอัพนั้น หมายถึง โปรแกรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือบริษัทเล็กๆ หรือสตาร์ทอัพให้เติบโตนั่นเอง

Burn rate : อัตราความเร็วในการเผาพลาญเงินนั่นเอง เพราะทั่วไปแล้วสตาร์ทอัพช่วงปีแรกๆ ก็ขาดทุนก่อนจะได้เท่าทุนด้วย ดังนั้นแล้วคนที่เขาจะลงทุนเขาก็อยากรู้แหละว่าเดือนนึงปีนึงเราต้องใช้ตังเท่าไหร่

Minimum Viable Product (MVP) : หมายถึงสินค้าหลักเวอร์ชั่นต้นแบบหรือ Prototype นั่นเอง ยิ่งเราพัฒนาต่อยอดสินค้าต้นแบบนี้ให้เติบโตหรือความสามารถหลากหลายได้เมื่อไหร่ ย่อมหมายถึงโอกาสของรายได้ที่เราจะมีนั่นเอง

Scale up : หากเป็นในมุมธุรกิจคือจะสามารถเติบโตขึ้นไปอีก ทั้งในแง่ของขนาดธุรกิจที่มากขึ้น โอกาสทางตลาดที่ใหญ่ขึ้น สาขาธุรกิจที่มากขึ้น

Valuation : การประเมินมูลค่าบริษัท ซึ่งหากเราทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมด้านไหน อาจต้องลองเทียบ Market size และ Growth Rate ของธุรกิจตนเองว่ามีรายได้การเติบโตอย่างไร ประเมินรายจ่ายปัจจุบันและอนาคต ว่าจะสามารถเติบโตไปได้อีกเท่าไหร่ เพื่อนำงบไปใช้ในแง่บริหารในฝ่ายอื่นๆ ได้อย่างเหมาะสม

Viral Marketing : การทำตลาดแบบปากต่อปาก หรือที่แบรนด์ต่างๆ นิยมทำกัน ไวรัลมาร์เก็ตติ้งคือการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่หวังให้ลูกค้าบอกต่อกันโดยไม่ต้องโฆษณามากนัก รวมทั้งเรียกความน่าเชื่อถือได้ดีกว่าทุกกลยุทธ์ที่พยายามงัดออกมาสู้กันด้วย

Follow Your Dream : เดินตามความฝัน คำให้กำลังใจสำหรับเหล่าสตาร์ทอัพที่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน SANDBOX เป็นการแข่งขันเริ่มต้นเพื่อให้ผปกรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จช่วยเหลือรุ่นน้องและกลายเป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย (Accerelating Center สถาบันช่วยลงทุน อบรม สร้างเครือข่าย)

สุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ ความสัมพันธ์ของพนักงานที่ดี ไม่ใช่แค่การร่วมมือร่วมใจทำงานให้เสร็จสักชิ้น แต่เป็นการยอมรับนิสัยและความคิดเห็นของเพื่อนไม่ว่าเราจะปรองดองหรือทะเลาะกัน หากใจเย็นและยอมรับฟังความคิดเห็นร่วมกันจนได้ข้อสรุปที่ตรงกลางก็น่าจะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นในอนาคต หรือเรียกว่ากำจัด “บั๊ก” ในวันนี้เพื่อลดความขัดแย้งในอนาคตนั่นเอง