เพราะความต้องการของผู้บริโภคมีไม่จำกัด สมาร์ทโฟน อุปกรณ์อัจฉริยะที่สามารถทำภารกิจต่าง ๆ ได้มากมายจึงห้ามหยุดพัฒนาตามไปด้วย ซึ่งจากความสามารถของ AI ที่เข้ามาอยู่เบื้องหลังการทำงานของสมาร์ทโฟนมากขึ้นนี้ ทำให้มีแนวโน้มว่าในอีกไม่นาน มันจะเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual Assistants) ไปสู่การเป็น “ผู้เชี่ยวชาญเสมือนจริง” (Virtual Specialists) แทนแล้วก็เป็นได้
ซึ่งหากเอ่ยถึง AI ที่ทุกคนรู้จักกันดีคงหนีไม่พ้น Siri จากค่าย Apple ปัจจุบัน Siri กลายเป็นส่วนสำคัญของไอโฟนที่ช่วยเติมเต็มในด้านต่าง ๆ ให้กับผู้บริโภค ทั้งเป็นเพื่อนคุยในยามว่าง ช่วยเสิร์ชหาคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ต้องการ และแน่นอน มันยังเป็น Virtual Assistant อยู่
แต่หาก AI จะเขยิบขึ้นมาสู่การเป็น Virtual Specialist แล้ว จะต้องได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถแบบเฉพาะด้านอย่างลึกซึ้ง ยกตัวอย่างเช่น AI ด้านแฟชั่น เมื่อลูกค้าเข้าร้าน มันจะสามารถให้คำแนะนำและพาลูกค้าไปเลือกเสื้อผ้าในร้านค้าได้อย่างเหมาะสม ตรงตามความต้องการ
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องตามมาด้วยก็คือความสามารถในการสื่อสาร ซึ่งสำหรับมนุษย์ เราสามารถใช้ทักษะนี้กันได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ทักษะด้านการสื่อสารถือเป็นทักษะที่ซับซ้อนสำหรับ AI อย่างมาก เนื่องจาก มีหลายอย่างที่ AI ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจจึงจะสามารถสื่อสารได้ในระดับที่มนุษย์คาดหวัง เช่น เข้าใจในคำสรรพนาม การแปลท่าทางกริยาที่มนุษย์แสดงออกมาว่าหมายถึงอะไร
และในท้ายที่สุด สิ่งที่ผู้พัฒนา AI หวังให้ Virtual Specialist ได้รับก็คือ ความไว้วางใจจากผู้บริโภค ซึ่งกว่าจะฝ่าด่านไปให้ถึงตรงจุดนั้นได้ AI ต้องตอบคำถามหลาย ๆ ข้อให้ผ่านเสียก่อน เช่น ทำไมถึงแนะนำสินค้า/บริการนี้ให้กับผู้ใช้งาน มันดีอย่างไร ทำไมไม่แนะนำตัวอื่นล่ะ ฯลฯ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะเลยทีเดียว
ที่มา VentureBeat