AIS 5G และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคงจับมือสานสัมพันธ์อันดีต่อเนื่อง หลังจากเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ร่วมจับมือทดสอบ 5G ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน
จนล่าสุดได้ร่วมเปิดตัว ศูนย์ 5G R&D ในชื่อ “AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE Sandbox” แห่งแรกในไทย ตั้งอยู่ที่ อาคาร 100 ปี วิศวฯ จุฬา เพื่อสนับสนุนในภาคการศึกษาให้นิสิตและคณาจารย์ สามารถต่อยอดแนวคิดพัฒนา Use Case สู่ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในอนาคตบนเครือข่าย 5G
ยกระดับการศึกษายุคใหม่ เตรียมพร้อมสร้าง 5G Use Case
AIS มองว่า 5G ไม่ใช่แค่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เพราะฉะนั้นการร่วมงานกับหลายหน่วยงาน เพื่อสร้าง Use Case ในการต่อยอดสู่เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่ AIS โฟกัสเป็นหลัก
แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น การศึกษาที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา AIS จึงมองว่า ภาคการศึกษาควรสร้างทักษะเพื่อเตรียมรองรับเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงเกิดเป็นการร่วมมือระหว่าง AIS และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้ ซึ่งวิศวะ จุฬาฯ ก็ได้ชื่อเป็น 1 ในสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีที่เข้าไปร่วมทำงานกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น กสทช., DE หรือ ภาคเอกชน เพื่อทดลอง และทดสอบ Use Case ต่าง ๆ อยู่แล้ว
ด้าน AIS เองก็เป็นรายแรกที่เปิดให้บริการด้วยการมีคลื่นความถี่มากที่สุดคือ 1420 MHz รวมถึงยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อยอด 5G ที่จะเป็นตัวเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการจับมือร่วมกันเปิดตัวศูนย์ AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE Sandbox ก็เพื่อส่งเสริมให้นิสิต และคณาจารย์เตรียมความพร้อม ผ่านการเรียนรู้ทั้งทางทฤษฎี และปฏิบัติจริงจากการสนับสนุนของ AIS
ทั้งสามารถใช้แหล่งทำงานวิจัย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสร้างสรรค์นวัตกรรมบน Sandbox เพื่อที่ะต่อยอดการสร้าง Use Case ซึ่งมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมในอนาคตผ่าน 5G ได้อย่างตอบโจทย์ที่สุดต่อไปนั่นเอง
ติดตั้งสถานี 5G พร้อม 2 คลื่นความถี่ 2600 MHz และ 26 GHz สำหรับพัฒนา Use Case
AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE Sandbox เรียกว่าเป็นการเปิดตัวศูนย์ 5G R&D แห่งแรกของสถาบันการศึกษา ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ทดลอง และทดสอบ 5G บนสภาพแวดล้อมจริงด้วย LIVE Private Network ด้วยสถานีฐาน 5G พร้อมกับ 2 คลื่นความถี่ 2600 MHz และ 26 GHz (mmWave) ที่เหมาะกับการพัฒนา Use case ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Industrial solutions, Holograms Solutions หรือ Fixed Wireless Access-FWA เป็นต้น
นอกจากนี้ AIS ยังมีการสนับสนุนอุปกรณ์ส่งสัญญาณอย่าง 5G CPE รวมถึงจัดหาองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานของเทคโนโลยี 5G พร้อมทั้งการสัมมนาเวิร์กช็อป จาก Guest Speaker หลากหลายวงการ เพื่อพัฒนาความรู้ ความชำนาญในทางเทคนิค รวมถึงการเชิญชวนร่วม Co-Develop บริการต้นแบบบน 5G อีกด้วย
5 Use cases จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬา ที่นำมาจัดแสดง
ภายในงานยังนำ Use Cases ที่สร้างโดยนิสิต และบุคลากร คณะวิศวฯ จุฬาฯ มาจัดแสดง
- หุ่นยนต์ WALKIE: หุ่นยนต์บริการในครัวเรือน ที่สามารถทำงานบ้าน และพูดคุยตอบโต้กับคนในบ้านแบบเรียลไทม์ได้ ผ่านระบบ AI อันชาญฉลาดที่ทำงานโดย 5G ซึ่งหุ่นยนต์ WALKIE ก็ได้ไปแข่งขัน และคว้ารางวัลอันดับ 2 ของโลกจากรายการ RoboCup@Home Open Platform League มาแล้วด้วย
- หุ่นยนต์ไข่มุก: หุ่นยนต์ Home Healthcare ช่วยฝึกการเคลื่อนไหวให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน รักษาผู้พิการ โดยสามารถทำกายภาพตามคำแนะนำทางการแพทย์จากที่บ้านได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ผ่านการเก็บสถิติส่งต่อถึงแพทย์ผ่าน 5G
- หุ่นยนต์ Rehab: Universal Controller หรือหุ่นยนต์ที่มีลักษณะเป็นแขนกล ช่วยในการกายภาพสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต อัมพฤกษ์ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถส่งสถิติตรงถึงแพทย์ผ่าน 5G ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีเกมสันทนาการเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยคลายเครียดขณะทำกายภาพอีกด้วย
- IntaniaVerse: Metaverse เพื่อการศึกษาประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการจำลองสถานที่อย่าง โรงไฟฟ้า ณ เขื่อนท่าทุ่งนา และ การฝึกและบำบัดผู้สูงวัยด้วยแอปพลิเคชันโลกเสมือนจริง นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรอบรมการสร้างโลก Metaverse ภายใต้โครงการ Chula Engineering ที่ได้ AIS ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการด้วย
- Autonomous Shuttle Bus: รถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ ที่ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองใช้ระบบ 5G เป็นตัวเชื่อมต่อในการสั่งการ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยมีแผนจะนำไปวิ่งบนถนนจริงในช่วงปลายปีนี้
ทั้งหมดนี้ก็เป็นไฮไลต์ส่วนหนึ่งของการเปิดตัว AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE Sandbox ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่าเป็นการมองการณ์ไกล และปูทางเตรียมความพร้อมให้บุคลากรอย่างถูกจุด ทั้งในแง่การมองการศึกษาเป็นหัวใจหลักสำคัญในการพัฒนาด้านต่าง ๆ และมองว่า 5G ไม่ได้เป็นเพียงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปสนับสนุนในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมอื่นในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
ดังนั้นในอนาคตเราคงจะได้เห็นภาพการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผ่านเครือข่าย 5G มากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมภาคส่วนอื่นก็จะมีความเข้าใจในการทำงาน และการใช้ประโยชน์ในการต่อยอดจากเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยวันนี้ AIS ได้เริ่มก้าวแรกกับการศึกษาที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นฐาานของการพัฒนาไปก่อนแล้ว