Site icon Thumbsup

เปิดเทรนด์การตลาดเทคโนโลยี IoT รับปี 2020

ใกล้ถึงวันประมูล 5G ทุกที ยิ่งเห็นแนวทางและการเตรียมพร้อมสู่ 5G ของทุกโอเปอร์เรเตอร์ในไทยมากขึ้น และแต่ละค่ายต่างก็มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์และพัฒนาเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็น 4.0 อย่างแท้จริง โดยเฉพาะโอเปอร์เรเตอร์เบอร์ 1 อย่าง AIS ได้ประกาศความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำ ทั้งสมาคมไทยไอโอที ดีป้า และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมผลักดันเทคโนโลยีด้าน IoT แบบครบวงจร ให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและเป็นรูปธรรม พร้อมยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้าน IoT แห่งอาเซียน

คุณยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี IoT เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและได้รับความสนใจอย่างยิ่ง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ ไปสู่ความเป็น Smart City ในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา AIS ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่น IoT เพื่อประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การสร้างโครงข่าย IoT ทั้ง NB-IoT และ eMTC ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศเป็นรายแรกและรายเดียวในไทย

ตลอดจนการสนับสนุนและร่วมพัฒนานวัตกรรม IoT ให้กับทุกภาคส่วนผ่านโครงการ AIS IoT Alliance Program หรือ AIAP เพื่อสร้าง IoT Ecosystem ของประเทศให้แข็งแกร่งนั่นเอง

ในโอกาสนี้ การที่เราได้เป็นพันธมิตรร่วมกับสมาคมไทยไอโอที และมหาวิทยาลัยศรีปทุม จะช่วยยกระดับเทคโนโลยี IoT ของไทยให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น โดย AIS และ AIAP จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของสมาคมฯ และประชาชนที่สนใจ

ทั้งในแง่ของการเทรนนิ่งฝึกอบรมบุคลากร, การเปิดให้นำโซลูชั่น IoT ที่พัฒนาขึ้นมาทดลอง ทดสอบบนโครงข่าย IoT จริง และการจัดประชุมวิชาการงานวิจัยด้าน IoT ที่พร้อมนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นโซลูชั่นที่ให้บริการได้จริงในอนาคต ซึ่งจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถบุคลากรด้าน IoT ของไทย เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน IoT แห่งอาเซียนในอนาคต

ภาพรวมตลาด M2M/IoT

ด้าน คุณนวชัย เกียรติก่อเกื้อ หัวหน้าแผนกงานการตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า ตลาด IoT ในไทย มีจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อรวมกันกว่า 1.1 ล้านชิ้น แบ่งเป็นของเอไอเอส 6.62 แสนชิ้น ที่เหลือเป็นของรายอื่นๆ อีก 4.41 แสนชิ้น รูปแบบของการนำไปใช้งานส่วนใหญ่ยังคงเป็นด้าน Fleet Management หรือการติดตามสิ่งเคลื่อนไหว มีสัดส่วนอยู่ที่ 30.53% ตามมาด้วย Mobile EDC อยู่ที่ 30.31% Payment Kiosk 23.60% Telematics 5.16% Smart Meter 4.22% และ Mobile ATM 3.85%

ทางด้านของอุตสาหกรรมที่มีการนำ IoT ไปปรับใช้เยอะสุดคือกลุ่มการเงินอยู่ที่ 55.51% รองลงมาคือกลุ่ม Transportation 29.23% Automotive 4.96% Utilities 3.64% และ Retail 1.04%

นอกจากนี้ Frost & Sullivan ยังคาดการณ์การใช้จ่ายในกลุ่ม IoT ช่วง 5 ปีคือระหว่าง 2016-2020 ด้วยว่า จะมีมูลค่าเม็ดเงินสูงถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่มีการเติบโตเยอะสุดคือกลุ่ม Consumer อยู่ที่ 43% ตามมาด้วย Transportation อยู่ที่ 19% กลุ่ม Manufacturing อยู่ที่ 14% และ Logistics 10% ส่วนเหตุผลที่ลงทุนกันเยอะเพราะมองเห็นโอกาสโตในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของส่วนแบ่งตลาด IoT ระดับโลกในปี 2020 คาดว่ากลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูงที่สุดคือ Smart Cities 26% ตามมาด้วย Industrial IoT อยู่ที่ 24% Connected Health 20% Smart Homes 14% และ Connected Cars อยู่ที่ 7% ส่วนมูลค่าทางการตลาดคาดว่าจะทำเม็ดเงินกว่า 20,410 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ที่มีมูลค่าเม็ดเงินอยู่ที่ 11,197 ล้านเหรียญสหรัฐ

การเติบโตของ 5G สดใสทุกแนวทาง

ดังนั้น ในการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อให้อุปกรณ์เชื่อมต่อกันอย่างราบรื่น จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานหลัก 3 ด้านคือ ความเร็วที่ดี การเชื่อมต่อที่ราบรื่น และ Latency ต่ำ เพราะอุปกรณ์ เครือข่ายและความสามารถในการรับส่งสัญญาณต้องทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการนำไปปรับใช้งานบ้างแล้วคือกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม เพราะต้องใช้เครื่องจักรในการสั่งงาน

โดยการทำงานแบบนี้บนเครือข่าย 4G ก็สามารถทำได้แต่ถ้ามี 5G เข้ามาเสริมในเรื่องของความเร็วสูงและ Latency ต่ำก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุนและกระตุ้นเม็ดเงินกว่า 6-7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว เช่นในกลุ่มโลจิสติกส์ที่มีการใช้ Drone มาส่งของในระยะทางที่ไม่ไกลจากจุดขนส่งมากนัก

ในแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี IoT จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น 3-5% และในปี 2035 จะช่วยให้เกิดมูลค่าทางบริการ 12.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 22 ล้านคน สร้าง GDP ของประเทศโต 3% ส่วนในไทยน่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์รายสำคัญ

นายกำพล โชคสุนทสุทธิ์ นายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า สมาคมไทยไอโอทีก่อตั้งขึ้นภายใต้เป้าหมายที่ต้องการสร้างความตระหนักรู้และเพิ่มขีดความสามารถด้าน IoT ให้กับประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจาก DEPA เพื่อก้าวสู่การเป็น IoT Hub of ASEAN ในอนาคต

การได้ทำงานร่วมกับ เอไอเอส จะช่วยสนับสนุนและผลักดันการใช้เทคโนโลยี IoT ให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและเป็นรูปธรรม ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพทั้งในด้านบุคลากรไทยและโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานด้าน IoT ของประเทศจากการมีโครงข่าย IoT ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ การเดินหน้าเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม IoT เพื่อการพัฒนาประเทศจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างมากมาย

ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้มีความร่วมมือกับเอไอเอสและสมาคมไทยไอโอที ในมิติที่เชื่อมโยงกับภาคการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคคลากรให้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี Internet of Things อย่างต่อเนื่อง การนำผลงานวิจัยเชิงวิชาการมาสร้างโอกาสและต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์และยกระดับสู่สากล ถือว่าเป็นมิติใหม่ที่น่าสนับสนุน และจะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาผลงานวิจัยขึ้นหิ้งได้ในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการนำไปสู่การสร้างความเชื่อมโยงภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าหากันได้อีกด้วย

โดยทางมหาวิทยาลัย ยังพยายามในการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ยังคงเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่ในแต่ละรุ่นจะมีประมาณ 60 คน ผ่านมา 4 รุ่นแล้ว แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ยังพัฒนาคนกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต ซึ่งเราเน้นการทำโปรเจคและให้คนที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรได้พัฒนาความสามารถของเทคโนโลยีร่วมกันผ่านเครือข่ายของ AIS

ทางด้าน ดร.ศรัญญา เสนสุภา นายกสมาคมการค้าเริ่มต้นธุรกิจนวัตกรรมไทย และ CCO & Co-Founder ดูเรียน กล่าวว่า เราทำงานด้านการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ และได้มีการลงทุนกับสตาร์ทอัพตั้งแต่วันแรก เราพบว่าคนไทยมีฝีมือและความสามารถด้านเทคโนโลยีมาก แต่อาจจะยังต้องเพิ่มในส่วนของกลยุทธ์การทำธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสหารายได้และต่อยอดทางธุรกิจได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มีนักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจสตาร์ทอัพของไทย เพียงแต่เขายังไม่เห็นว่างานวิจัยเหล่านั้น จะสร้างรายได้กลับมาอย่างไร ทำให้สตาร์ทอัพเหล่านั้นยังไม่มีโอกาสการเติบโตมากนักทั้งที่นักลงทุนพร้อมที่จะเข้าร่วมมาลงทุน

สำหรับความร่วมมือแรก ได้ผนึกกำลังจัดงาน Thai IoT International Conference งานประชุมวิชาการด้าน IoT ครั้งแรกของประเทศไทย ผสมผสานระหว่างการจัดการประชุมเชิงวิชาการ (Academic conference) และการหาผู้ร่วมลงทุนทางการค้า (Pitching) ซึ่งนักวิจัยที่มีผลงานทางด้าน IoT สามารถนำเสนองานเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ และสามารถนำผลงานไปเสนอเพื่อหาผู้ร่วมลงทุนในธุรกิจได้ โดยผลงานที่จะนำมาเสนอในงานนี้ จะต้องมีงานวิจัยรองรับ พร้อมต่อยอดเป็นธุรกิจ หรือนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้

สำหรับหัวข้องานวิจัยด้าน IoT จากสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะครอบคลุม 8 หัวข้อ ได้แก่ ด้านการเกษตร การท่องเที่ยว สุขภาพ อุตสาหกรรม พลังงาน โลจิสติกส์ ด้านการจัดการและสังคมศาสตร์ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ IoT โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2562 ห้องออดิทอเรียม 2 อาคาร 11 มหาวิทยาลัยศรีปทุม ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าชมงานได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://tiicthailand.com/

 

บทความนี้เป็น Advertorial