ต้องยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งงานใหญ่ของเอไอเอส กับการจัดงานสัมมนาเพื่อภาคธุรกิจ พร้อมกับเผยวิสัยทัศน์และนโยบาย “AIS Business Cloud 2017” ที่จะทำคลาวด์ให้กลายเป็นบริการพื้นฐานเหมือนเช่นที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับ Data เมื่อในอดีต โดยในครั้งนี้ Business Cloud จากเอไอเอส จะลงมาให้บริการแบบ End-to-End และประกาศความพร้อมเป็นพาร์ทเนอร์ด้านคลาวด์กับทุกธุรกิจที่ต้องการมีระบบคลาวด์ของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ให้คำปรึกษา วางแผน ปฏิบัติ ตลอดจนการให้บริการแบบ Managed Service ครบวงจร พร้อมด้วยทีมงานที่ผ่านการ Transform แล้วกว่า 400 คน (ไม่นับรวมฝั่งพาร์ทเนอร์)
สำหรับการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่และน่าจับตามองนี้ คุณปรัธนา ลีลพนัง รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด เอไอเอส เผยว่า “ทุกวันนี้ เรากำลังจะพูดว่าจะไปคลาวด์ไปอย่างไรให้ไม่ปวดหัว ซึ่งเดิมทีเราคิดว่าบริษัทใหญ่ ๆ จะเป็น priority หลัก แต่เมื่อเปิดตัวจริงกลับพบว่ามีทุกระดับ ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ เราเลยมาวิเคราะห์ว่า จริง ๆ แล้ว น่าจะมาจากความพร้อม บริษัทไหนที่พร้อม และกล้าก็จะกระโดดลงมาก่อน เหมือนอย่างวันนี้มีลูกค้าต่างจังหวัดมา และเขาเป็นธุรกิจเล็กมากเลย แต่เขามีวิสัยทัศน์ว่า การที่เขาปรับเข้าสู่คลาวด์จะทำให้เขาสเกลธุรกิจได้ เขาก็ไป”
ในมุมของคุณปรัธนาจึงไม่ใช่เรื่องของขนาดธุรกิจ หรือเรื่องของ Segment ใด Segment หนึ่งที่จะต้องสนใจคลาวด์ แต่เอไอเอสกำลังจะบอกว่า ทุก ๆ บริษัทที่มองเห็นว่าคลาวด์คือโอกาสที่จะทำให้เขาแข่งขันได้ดีขึ้น หรือการ Move มาสู่คลาวด์จะทำให้เขาได้เปรียบมากขึ้น คนเหล่านั้นคือกลุ่มเป้าหมายของ Business Cloud จากเอไอเอสทั้งสิ้น
“ทุกวันนี้ถามว่ามีใครไม่เกี่ยวกับคลาวด์คงต้องบอกว่าน้อยมาก ยุทธศาสตร์ที่เอไอเอสเห็นก็คือ ตอนนี้ตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น เราเห็นว่า Microsoft ส่ง Azure ขึ้นไปอยู่บนคลาวด์หมด ในอดีต มุมของ End User อาจรู้สึกว่า คลาวด์เป็นเรื่องไกลตัว แต่ทุกวันนี้ สิ่งที่เราใช้งานทุกวันมันจะออนคลาวด์หมด ทำให้กลายเป็นจังหวะ Trigger ที่เหมาะสมมาก”
“สมัยก่อนเราใช้ voice call สมัยนี้เป็น Data ที่กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เราจึงคาดการณ์ว่าอีก 1 – 2 ปีจากนี้ไป คลาวด์จะเป็นเรื่องปกติที่ธุรกิจเขาใช้กัน”
สำหรับความพร้อมของเอไอเอสในธุรกิจคลาวด์นี้ พบว่ามาจากหลายปัจจัยซึ่งนอกจากปัจจัยด้านทีมงานและโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เอไอเอสยังได้ลงทุนสร้างดาต้าเซนเตอร์เพิ่มเป็น 4 แห่งจากเดิมที่มีแค่ 2 แห่งที่นวนคร ปทุมธานี และที่บางปะกง ฉะเชิงเทรา โดยแห่งที่ 3 และ 4 นั้นจะออกไปตั้งในจังหวัดขอนแก่นและสงขลา เนื่องจากเอไอเอสคาดการณ์ว่าภาคธุรกิจในต่างจังหวัดจะมีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ อันเนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจตามนโยบายของรัฐบาล
ภาพของธุรกิจไทยในมุมมองของเอไอเอส ในกรณีที่หันมาใช้คลาวด์กันมากขึ้นจึงจะเป็นไปในทิศทางที่ว่า สามารถทำให้ธุรกิจประหยัดค่าใช้่จ่ายลงได้ 30 – 40% แต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และความเร็วให้กับธุรกิจได้นั่นเอง (Faster Time to market, Improved performance)
โดยผลิตภัณฑ์ที่เอไอเอสให้บริการใน Business Cloud ยกตัวอย่างเช่น
- Bandwidth on Demand ให้ลูกค้า AIS ที่ใช้บริการ Internet และ MPLS สามารถเข้ามาปรับเพิ่ม Bandwidth ได้ด้วยตัวเองผ่านหน้า portal ตามการใช้งาน โดยสามารถปรับเพิ่มเป็นรายวัน หรือแบบรายเดือนต่อเนื่อง
- AIS Unified Communication เป็นบริการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโทรศัพท์สำนักงาน โดยองค์กรไม่ต้องลงทุนทรัพยากรในการติดตั้ง และดูแลรักษาระบบตู้ PBX ประหยัดค่าใช้จ่ายในการโทรหากัน
- AIS mForm สำหรับสร้างแบบฟอร์มการทำงานภายในองค์กร พร้อมใช้งานบน Cloud Platform ของ เอไอเอสโดยที่องค์กรไม่ต้องใช้เวลาไปกับการพัฒนาโปรแกรม software รวมถึงไม่ต้องดูแลรักษาระบบ hardware ที่รัน software โปรแกรมนั้นๆ ด้วย
- Backup on cloud สำหรับผู้ใช้งานคลาวด์ระดับองค์กรของเอไอเอส ในการสำรองพร้อมปกป้องข้อมูลจากความเสียหาย
- Security Service โดยร่วมกับ Palo Altoให้ บริการ Centralized Firewall เพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตให้ปลอดภัย โดยเฉพาะบริษัทที่มีสาขาต่างๆ ทำให้ประหยัดต้นทุนมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ Firewallไปติดตั้งแต่ละสาขาอีกต่อไป
โดย นายปรัธนา ลีลพนัง รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด เอไอเอส กล่าวว่า “สำหรับธุรกิจในยุค Thailand 4.0 องค์กรต่างๆ ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น การปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Business Transformation) รวมถึง เป็น Open Cloud Platform ที่เปิดกว้างให้พาร์ทเนอร์ใน Ecosystem มาร่วมกันสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ ที่หลากหลาย คือหัวใจสำคัญ”
“เทคโนโลยี Cloud จึงเป็นอีกหนึ่งโซลูชั่นส์ที่เอไอเอสมุ่งเน้นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการผสานเข้ากับเทคโนโลยีต่างๆ ที่เอไอเอสมีอยู่ อาทิ Mobile, Internet of Things (IoT), Fixed Network ฯลฯ เพื่อสร้างบริการใหม่ๆ ที่แตกต่าง และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะ” นายปรัธนากล่าวสรุป