Site icon Thumbsup

AIS และ dtac จับมือร่วมแชร์เสาสัญญาณเพื่อให้บริการในไทย

SharingC1103RZ

AIS และ dtac ผู้ให้บริการโทรศัพท์รายใหญ่ในประเทศได้แถลงข่าวการร่วมมือกันในการใช้เสาสัญญาณเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและให้บริการทั่วไทยได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น โดยจะเริ่มการใช้งานร่วมกันเบื้องต้น 2,000 ต้นภายในสิ้นปี 2558 นี้

คุณวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และ คุณประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค  และกรรมการ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด กล่าวว่าดีแทค ไตรเน็ต ได้ร่วมกันแถลงข่าวในเรื่องนี้ โดยเป็น Infrastructure Sharing ซึ่งก่อนหน้านี้มีการทำร่วมกันแล้วในบ้างแห่งจากเหตุผลเรื่องข้อจำกัดของสถานที่

การประกาศร่วมมือกันนี้ไม่ใช่จะเริ่มทำ แต่เป็นการทดลองทำมาก่อนหน้านี้มาสักพักแล้ว ซึ่งสิ่งที่เห็นคือการร่วมมือกันจะทำให้ประหยัดทั้งต้นทุนและเวลา รวมถึงไม่สร้างปัญหาในการก่อสร้างเพิ่มเพื่อรบกวนชุมชนที่ยังมีความเชื่อเรื่องปัญหาสัญญาณกับสุขภาพ โดยนับจากนี้ทุกครั้งที่มีการสร้างเสาสัญญาณขึ้นมาใหม่ จะคิดถึงการแชร์ Infrastructure ก่อน รวมทั้งเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครบังคับ และสัญญาไม่มีกำหนดระยะเวลา เป็น Strategic Plan ตามที่ทั้งสองค่ายตกลงกัน

ประโยชน์ของการแชร์เสาสัญญาณ ได้แก่ การลดความซ้ำซ้อนที่จะตั้งเสาในบริเวณเดียวกัน และเอางบไปตั้งเสาในที่ใหม่ดีกว่า รวมทั้งเพิ่ม Capacity ของจำนวนเสา ซึ่งก็จะมีผลให้มีความครอบคลุมมากขึ้นและโอกาสที่สัญญาณจะ drop ก็มีน้อยลง

จำนวนเสาสัญญาณในการแชร์ จะทำให้ได้ 2,000 ต้นภายในปี 2558 นี้ โดยจำนวนเสาจะเฉลี่ยกันครึ่งๆ และจะอยู่ในพื้นที่ภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ ด้วยการโฟกัสที่สัญญาณ 3G ก่อนในช่วงนี้ ส่วน 4G มาแน่ๆ แต่ต้องรอให้พ้นการประมูลไปก่อน โดยปัจจุบัน AIS มีเสาสัญญาณประมาณ 20,000 เสา และ dtac มีอยู่ประมาณ 10,000 เสา

สำหรับ Truemove ที่ไม่ได้มาร่วมแถลงนั้น ทั้ง AIS และ dtac บอกว่าจะมีการร่วมมือกันอย่างแน่นอน แต่อาจจะเป็นรูปแบบอื่น เช่น สร้างขึ้นมาแล้วเราไปเช่าใช้ เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้วทั้ง 3 ค่ายก็มีการร่วมมือกันมาก่อนหน้านี้แล้วในแบบ Consortium ตัวอย่างเช่น การตั้งเสาสัญญาณในอาหารหรือในห้างสรรพสินค้าที่ใช้ร่วมกันทั้ง 3 ค่าย

การจับมือในครั้งนี้จะถูกมองเป็นการแข่งขันในเรื่องสัญญาณไหม ทั้งสองค่ายบอกว่า เรามองเป็นการแข่งขันอย่างอื่นมากกว่า เช่น บริการหลังการขาย สิทธิพิเศษต่างๆ ที่มีให้กับลูกค้า

นับเป็นข่าวดีในการร่วมมือกันของทั้ง 2 ค่ายใหญ่ ซึ่งประโยชน์ก็น่าจะตกกับผู้ใช้ ผู้บริโภค รวมทั้งผู้ที่อยู่ห่างไกลก็จะมีโอกาสได้ใช้สัญญาณโทรศัพท์ที่ครอบคลุมมากขึ้น