เอไอเอสรายงานผลประกอบการ ไตรมาส 2/2562 กำไรสุทธิอยู่ที่ 8,234 ล้านบาท (ไม่รวมรายการพิเศษ) เติบโตอย่างแข็งแกร่งเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีรายได้รวมเติบโตขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการเติบโตของลูกค้ามือถือที่ยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้มากที่สุด ส่วนเน็ตบ้าน AIS Fibre ยังแรงดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ขณะเดียวกันเอไอเอสได้เดินหน้าเสริมศักยภาพให้ธุรกิจต่างๆ อย่างเห็นผล ไม่ว่าจะเป็นการเสริมแกร่งดันธุรกิจลูกค้าองค์กรจากมืออาชีพโดย CSL (ซีเอส ล็อกซอินโฟ) พร้อมเดินหน้าทดสอบการใช้งานเทคโนโลยี 5G Use Case ต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ เอไอเอสยังคงนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 70% ของกำไรสุทธิ และประกาศจ่ายเงินปันผล 3.78 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 3 กันยายน 2562 นี้
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “ในวันนี้ ไม่เพียงแต่เฉพาะธุรกิจโทรคมนาคมที่ต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ การสร้าง Business Transformation ในยุค Digital Disruption จึงต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ การวางแผน และความสามารถของบุคลากร ให้พร้อมรับกับแรงกระแทกจากปัจจัยรอบด้านอย่างมั่นคงและแข็งแรง โดยตลอดช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เอไอเอสยังคงมุ่งมั่นทำงานหนัก เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าทุกคน ในฐานะผู้นำ Digital Life Service Provider ได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมๆ กับการเดินหน้าสร้างโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจดิจิทัล พร้อมผนึกกำลังกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และยึดหลักดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมาโดยตลอด”
ในโตรมาส 2 ปี 2562 นี้ เอไอเอสยังคงมีรายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่อง โดยรายได้รวมเติบโตขึ้น 5.8% จากปีก่อน จากภาพรวมของการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้รายได้ต่อเลขหมาย ARPU (Average Revenue per User) สูงขึ้นเป็น 263 บาทต่อเดือน และส่งผลให้รายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโต 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบันเอไอเอสยังคงความเป็นผู้นำอย่างแข็งแกร่งโดยมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือสูงสุดในตลาดที่ 41.5 ล้านเลขหมาย ขณะที่มีสัดส่วนลูกค้าที่ใช้ 4G สูงถึง 66% และมีการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นเป็น 11.5 กิกะไบต์ต่อเดือน จาก 8.9 กิกะไบต์ต่อเดือน ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน AIS Fibre ยังคงมีรายได้เติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งด้วยอัตราการเติบโตกว่า 26% ด้วยคุณภาพโครงข่ายและงานบริการที่ดีเยี่ยม พร้อมด้วยกลยุทธ์Fixed Mobile Convergence ที่ดึงดูดใจลูกค้า จนทำให้ในปัจจุบัน AIS Fibre มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 855,400 ราย ครอบคลุมการใช้งานในพื้นที่ 57 จังหวัดทั่วประเทศ และยังคงเน้นย้ำเป้าหมายจำนวนลูกค้า 1ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ผนวกกับการควบคุมต้นทุนต่อเนื่อง ส่งผลให้ในไตรมาส 2/2562 เอไอเอสมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,234 ล้านบาท (ไม่รวมรายการพิเศษ) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ8.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา คิดเป็นกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นสี่ไตรมาสติดต่อกัน โดยยังคงคาดการณ์รายได้การให้บริการเติบโตทั้งปีที่ 4-6% และตั้งเป้าอัตรากำไร EBITDA ทั้งปีใกล้เคียงกับปีก่อนที่ประมาณ 42-44% พร้อมจัดสรรงบลงทุน 20,000 – 25,000 ล้านบาทสำหรับลงทุนทั้งในโครงข่าย 4G และไฟเบอร์
เอไอเอสได้วางรากฐานต่อยอดการเติบโตในอนาคตโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมสู่ 5G ได้แก่
- การพัฒนาขีดความสามารถของเทคโนโลยี 5G ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อร่วมศึกษาวิจัย ค้นคว้า และทดลองทดสอบ
- การรับจัดสรรคลื่นความถี่ 700MHz เพื่อก้าวสู่ 5G โดยจะสามารถเริ่มใช้งานได้ในเดือนตุลาคมปีหน้า ซึ่งคลื่นความถี่ 700MHz ถือเป็นคลื่นความถี่มาตรฐานของเทคโนโลยี 5G ในย่านความถี่ต่ำที่มีคุณสมบัติเด่นในด้านความครอบคลุม จึงถือเป็นการสร้างความพร้อมสำหรับการให้บริการ 5G ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าได้เป็นอย่างดี
- ขยายตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร จากความแข็งแกร่งของ AIS Business ผนึกเข้ากับ CSL ที่มีความเชี่ยวชาญในฐานะผู้ให้บริการ One Stop ICT Service แบบครบวงจร ภายใต้กลยุทธ์ 3Ss ประกอบด้วยSolutions, Services และ System Integration สนับสนุนการให้บริการ Data Center และ Cloud ให้แก่ธุรกิจองค์กรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- พัฒนาบริการด้าน IoT เพื่อส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจไทย โดยนำโซลูชัน NB-IoT Motor Tracker เข้ามาเสริมขีดความสามารถให้กับธุรกิจประกันภัยรถยนต์ โดยบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด เป็นครั้งแรก ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาบริการดิจิทัลที่ดีที่สุด สำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรในทุกอุตสาหกรรม
“และสิ่งที่สำคัญไปกว่าความสำเร็จในแง่ธุรกิจ เอไอเอสในฐานะภาคเอกชนของไทย ยังตระหนักถึงการได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศชาติและดูแลคุณภาพชีวิตคนไทยในสังคมยุคดิจิทัล ผ่านโครงการ อุ่นใจไซเบอร์ ภายใต้แนวคิด “ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย” เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานความรู้เท่าทันดิจิทัล ผ่านเครื่องมือแบบทดสอบ DQ รวมไปถึงได้ต่อยอด “ภารกิจคิดเผื่อ” องค์ความรู้สู่ระดับภูมิภาคในงาน AIS ACADEMY for THAIs: to the Region ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากที่จังหวัดเชียงใหม่ และเตรียมจะจัดขึ้นต่อเนื่องที่จังหวัดขอนแก่นในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น” นายสมชัยกล่าวทิ้งท้าย