สุดท้ายการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดหวังว่าจะมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมเข้ามาช่วงชิงคลื่นถี่ก็จบลงแบบ Bad Ending หลัง 3 ค่ายโทรคมนาคมตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูล แล้วเหตุผลของแต่ละค่ายเป็นอย่างไรบ้าง ทีมงาน ThumpsUp ได้รวบรวมไว้ให้แล้ว
AIS มองหลักเกณฑ์ไม่เหมาะสม มั่นใจคลื่นเพียงพอ
พี่ใหญ่ของวงการโทรคมนาคมอย่าง AIS ที่มีผู้ใช้งานในระบบกว่า 40 ล้านเลขหมายเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 MHz เพราะมองว่าหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่นี้ไม่เหมาะสมนัก (ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท และใช้รูปแบบ N-1 ในการประมูล) จึงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์กับบริษัท
นอกจากนี้ AIS ยังมีคลื่นความถี่ในมือถึง 55 MHz ผ่านคลื่น 900, 1800 และ 2100 MHz ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการให้บริการกับลูกค้าในช่วงเวลานี้ และรองรับการเพิ่มขึ้นของลูกค้าในอนาคตได้อีกด้วย แต่ถึงจะไม่ลงทุนประมูลคลื่นดังกล่าว บริษัทก็ยังพร้อมลงทุนพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการบริการให้กับลูกค้าในระบบ
True เชื่อแค่คลื่นความถี่ที่มี ก็ได้เปรียบในตลาดแล้ว
ฟากเบอร์ 2 ในแง่จำนวนลูกค้าของตลาดโทรคมนาคมตอนนี้อย่าง True ก็ออกมายืนยันเช่นกันว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว เพราะมองว่าคลื่นที่ตัวเองมีถึง 55 MHz ก็เพียงพอต่อการให้บริการลูกค้าทั้งในปัจจุบัน และเพียงพอต่อลูกค้าในอนาคตที่อาจเติบโตขึ้นเท่าตัวจากตอนนี้ ที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบคลื่นความถี่ของบริษัท กับคู่แข่งรายอื่นก็ยังมีความได้เปรียบทางด้านการแข่งขันกว่าเช่นกัน
ประกอบกับเรื่องหลักเกณฑ์ และข้อกำหนดต่างๆ ก็ไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ชนะประมูลเช่นเดียวกัน ที่สำคัญทางองค์กรยังย้ำเรื่องการแข่นขันที่เสรี และเป็นธรรม ดังนั้นจะไม่เข้าประมูลเพื่อเข้าไปปั่นราคาอีกด้วย เรียกว่าเป็นองค์กรตัวอย่างก็ได้ เพราะนอกจากจะเชื่อเรื่องไม่ผูกขาดการแข่งขันแล้ว ยังคงความคิดดีทำดีเหมือนกับบริษัทแม่อย่าง “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือกลุ่มซีพีจริงๆ
dtac อยากได้คลื่นความถี่ต่ำมาใช้งานมากกว่า
ส่วน dtac ที่เป็นเบอร์ 3 ของตลาดในตอนนี้ก็ตอกย้ำเรื่องหลักเกณฑ์ และเรื่องราคาของการประมูลครั้งนี้ว่าไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกับ 2 ค่ายข้างต้น รวมถึงทางบริษัทก็มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอเช่นเดียวกัน หลังได้คลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz จากการทำความร่วมมือกับบมจ.ทีโอที ทำให้ค่ายใบพัดสีฟ้ารายนี้มีคลื่นล้นมือ เพราะแค่ 2300 MHz คลื่นเดียวก็มากกว่าคู่แข่งแล้ว ไหนจะคลื่น 850, 1800 และ 2100 MHz ในมืออีก
ขณะเดียวกัน dtac ยังมองว่า หากจะประมูลคลื่นในตอนนี้ ควรเป็นคลื่นที่ความถี่ต่ำ (คลื่นที่ต่ำกว่า 1000 MHz) เพราะคลื่นดังกล่าวยังค่อนข้างขาดการจัดสรรออกมาให้ใช้งาน ซึ่งประโยชน์ของคลื่นความถี่ต่ำนั้นจะช่วยให้ประชากรในที่พื้นที่ห่างไกลสามารถใช้งานบริการโทรคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่านการส่งคลื่นออกไปได้ไกลกว่า
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำกล่าวอ้างของทั้ง 3 ค่ายผู้ให้บริการโทรคมนาคมเท่านั้น ส่วนทางฝั่งกสทช. ตอนนี้ก็คงนั่งปวดขมับอยู่ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรดี เพราะล่าสุดก็เพิ่งออกมาบอกว่าคงต้องทิ้งช่วงการประมูลคลื่นความถี่นี้ออกไปก่อน 6-7 เดือน เพื่อให้ทางคณะกรรมการพิจารณาแผน
ผลสรุป กสทช.
ความพีคยังไม่จบแค่นั้น เมื่อช่วงเย็นของวันนี้ (15 มิ.ย.2561) ซึ่งถือว่าเป็นวันยื่นซองประมูล แต่กลับไม่มีรายใดเดินทางเข้ามา เพราะได้แจ้งไปก่อนหน้านี้แล้วว่าอาจแบกรับต้นทุนค่าคลื่นอีกไม่ไหว ทำให้ทาง dtac ที่มั่นใจว่าอาจได้รับการเยียวยา แต่ทาง กสทช. เอง ได้สวนหมัดฮุคกลับด้วยประโยคเด็ดว่าอาจจะไม่มีการเยียวยาให้ ตามที่ dtac วาดฝันไว้
“ใครที่ฝันไม่ไกล ระวังจะไปไม่ถึง บอกว่าคลื่นพอ เราจะทำให้ไม่พอเอง จะอ้างว่าราคาแพง เราก็บอกแล้วว่าลดราคาไม่ได้ เพราะมันเป็นราคาที่ AIS และ True จ่ายเงินมา 75% แล้ว กสทช.ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ แต่หากให้แก้หลักเกณฑ์เป็น 9 ใบ ตรงนี้ ทำได้” (ที่มา: Manager)
งานนี้ท่าทางจะไม่จบง่ายๆ ศึกโทรคมนาคมปีใดที่มีประมูลมักมีเรื่องเฉือนคมเสมอ ต้องรอติดตามกันค่ะ