สรุปผลการเข้าร่วมขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz มีผู้เข้ารับการจัดสรรคลื่นจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (True Move), บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (dtac Trinet) โดยการจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ครั้งนี้ ไม่มีผู้ขอรับการจัดสรรคลื่นฯ เลือกชุดคลื่นความถี่ซ้ำกัน ผลที่ได้มีดังนี้
- True Move ได้รับคลื่นความถี่ชุดที่ 1 ช่วงความถี่ 703-713 MHz คู่กับ 758-768 MHz ราคาคลื่น 17,584 ล้านบาท ชำระจริง 18,814.898 ล้านบาท
- dtac Trinet ได้รับคลื่นความถี่ชุดที่ 2 ช่วงความถี่ 713-723 MHz คู่กับ 768-778 MHz ราคาคลื่น 17,584 ล้านบาท ชำระจริง 18,814.898 ล้านบาท
- AWN ได้รับคลื่นความถี่ชุดที่ 3 ช่วงความถี่ 723-733 MHz คู่กับ 778-788 MHz ราคาคลื่น 17,584 ล้านบาท ชำระจริง 18,814.898 ล้านบาท
โดยมีราคาการอนุญาตรวมทั้งสิ้น 52,752 ล้านบาท และมีรายได้จากการจัดสรรฯ เข้ารัฐรวมภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 56,444.64 ล้านบาท ซึ่งผู้มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรรคลื่นฯ ต้องนำเงินงวดแรกพร้อมหลักประกันมาชำระให้แก่ สำนักงาน กสทช. ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 15 วัน
และสำนักงาน กสทช. จะมีหนังสือแจ้งวันเริ่มต้นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน
AIS มองว่าคุ้ม เพราะเมื่อใช้กับ 5G จะทำให้ครอบคลุมได้ไกล
ข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เปิดเผยว่าว่า นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า “ในวันที่ 19 มิถุนายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ดำเนินการจัดสรรใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 700MHz และได้ประกาศให้ AWN เป็นผู้มีสิทธิในการได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 700MHz ชุดที่ 3 ช่วงความถี่วิทยุ 723-733MHz คู่กับ 778-788MHz (ความกว้าง 2 x 10MHz) ระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
โดยมีระยะเวลาเริ่มต้นการอนุญาตในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 หรือจนกว่า กสทช. จะกำหนดเป็นอย่างอื่น ด้วยราคารวมทั้งสิ้น 17,584 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงวดการชำระเงินสิบงวดเท่าๆ กัน
นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลังจากที่บริษัทฯ ได้มีการศึกษาร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก เกี่ยวกับประโยชน์และความเหมาะสมในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 700 MHz แล้ว พบว่า ตามมาตรฐานของเทคโนโลยี 5G การผสมผสานคลื่นความถี่ระหว่างย่านความถี่สูง (สูงกว่า 6 GHz) ย่านความถี่กลาง (ระหว่าง 2-6 GHz) และย่านความถี่ต่ำ (ต่ำกว่า 2 GHz) จะช่วยให้การให้บริการ 5G มีประสิทธิภาพและเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุน โดยคลื่นความถี่ 700 MHz ถือเป็นคลื่นความถี่มาตรฐานของเทคโนโลยี 5G ในย่านความถี่ต่ำที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในด้านความครอบคลุม (Coverage)
การได้คลื่นความถี่ 700 MHz มาในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความพร้อมสำหรับการให้บริการ 5G ที่จะเกิดขึ้นภายใน 2-3 ปีข้างหน้า รวมถึงความพร้อมทั้งในเชิงอุปกรณ์โครงข่ายและเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมถึงบริการที่รองรับคลื่นความถี่ 700MHz ที่จะมีมากขึ้น โดยตัวอย่างบริการ 5G ที่อาจนำมาให้บริการจริง (commercial) ได้แก่ บริการเสมือนจริงต่างๆ (Virtual Reality/Augmented Reality) เช่น การเพิ่มประสบการณ์รับชมคอนเสิร์ตและกีฬา การเล่นเกม การให้บริการด้าน IoT (Internet of Things) รวมไปถึงการให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านแบบไร้สาย (Fixed Wireless Access) และเครือข่ายเฉพาะสำหรับลูกค้าองค์กร เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ที่สำคัญในธุรกิจโทรคมนาคม
นอกจากนี้ คลื่นความถี่ 700MHz หากนำมาผสมผสานในโครงข่ายปัจจุบัน ยังมีประโยชน์ในการขยายความจุ (Network Capacity) และความครอบคลุมของโครงข่ายที่มีอยู่ ซึ่งช่วยให้สามารถตอบสนองการใช้งานของลูกค้าที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประหยัดเงินลงทุนที่ต้องใช้สำหรับการขยายสถานีฐานเพิ่มเติม ทำให้โครงข่ายโดยรวมมีประสิทธิภาพและช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานภายในอาคาร
ดังนั้น บริษัทจึงประเมินแล้วว่า เงื่อนไขของการจัดสรรคลื่นความถี่ 700MHz ก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางการเงิน และช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้นำในตลาดโทรคมนาคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระหว่างนี้จนกว่าจะสามารถใช้งานคลื่นความถี่ 700MHz ได้ บริษัทจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงกสทช.ในการวิจัยและพัฒนาการให้บริการ 5G เพื่อวางแผนการลงทุนอย่างเหมาะสมต่อไป”
dtac ระบุขอรับคลื่น 700 MHz เพื่อให้บริการได้ครอบคลุมทั่วไป
ข่าวประชาสัมพันธ์ดีแทค (dtac) เปิดเผยว่า dtac พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตสู่อนาคต เสริมคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz สู่ชุดคลื่นความถี่ (Spectrum portfolio) เพื่อให้บริการลูกค้าครอบคลุมทั่วไทยด้วยสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น คลื่นใหม่ยังพร้อมต่อยอดสู่ 5G ทั้งนี้ ดีแทคได้เป็นผู้ให้บริการที่มีแบนด์วิดท์สำหรับดาวน์ลิงก์จำนวน 80 MHz ที่กว้างที่สุดในประเทศไทยจากคลื่นที่มีให้บริการทั้งหมด 130 MHz (รวมคลื่น 2300 MHz โรมมิ่งบนคลื่นทีโอที)
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “เราจะไม่หยุดพัฒนาเพื่อลูกค้าของเรา ทั้งนี้ จากการที่ดีแทคได้รับการจัดสรรคลื่นย่าน 700 MHz จำนวน 2×10 MHz ซึ่งเป็นคลื่นย่านความถี่ต่ำ (low band) จากสำนักงาน กสทช. ดีแทคจะได้ขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพื้นที่การครอบคลุมสัญญาณ และเพิ่มความจุของโครงข่าย ขณะนี้โครงข่ายของดีแทคสามารถครอบคลุม 94 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ และคลื่นความถี่ต่ำย่าน 700 MHz จะมาเสริมความแกร่งให้ดีแทคให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
True
ข่าวประชาสัมพันธ์กลุ่มทรู (True) เปิดเผยว่า นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร และ ดร.กิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น นำทัพคณะผู้บริหารและพนักงานกลุ่มทรู เข้ารับการจัดสรรชุดคลื่นความถี่ย่าน 700MHz. จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz ช่วงความถี่วิทยุ 703-713 MHz คู่กับ 758-768 MHz
พร้อมกันนี้ กลุ่มทรูประกาศมั่นใจเป็นผู้นำ “True 5G” ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยจะนำคลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม พร้อมร่วมมือกับเหล่าพันธมิตรชั้นนำในการพัฒนา Use Case ควบคู่กับการสร้างระบบนิเวศ 5G เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้าและภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เสริมสร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ