ภาพของเอไอเอสในปี 2019 นี้ ในงานแถลงข่าว เห็นได้ชัดว่ามีความพร้อมในการเดินหน้าเรื่องนวัตกรรมที่รองรับ 5G ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์ Robotic ที่นำมาใช้งานจริงในสาขาที่ภูเก็ตในรูปแบบของ The Unmaned Store ซึ่งเป็นสาขาที่จะไม่มีคนอย่างแท้จริง และยังมีเรื่องการเตรียมข้อมูลบิ๊กดาต้าสำหรับทุกอุตสาหกรรมและเตรียมเปิดให้ธุรกิจอื่นๆ มาใช้งานร่วมกัน งานนี้เรียกได้ว่า AIS พร้อมจะเดินหน้าเรื่องการเตรียมความพร้อมเรื่องนวัตกรรมและ 5G ก่อนใคร
เร่งเอกชนลงทุน R&D เพิ่ม เพื่ออนาคต
นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่สี่ด้านอุตสาหกรรมตัวหลักคือเรื่องของดิจิทัล ปีนี้บริษัทจะเดินหน้าเรื่องนวัตกรรมและการเตรียมพร้อม 5G เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ เรื่องของนวัตกรรมกับธุรกิจของไทยยังมีน้อย แต่จากตัวเลขล่าสุดพบว่า ธุรกิจไทยมีการลงทุนด้าน R&D เพิ่มขึ้นเป็น 0.95% แล้วถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ แต่ตัวเลขที่เกิดขึ้นนี้ก็ยังมาจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่า หากธุรกิจขนาด SME ไม่เตรียมพร้อมและปรับตัวให้ทันยุค อาจกระทบกับรายได้ในอนาคตได้
ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับธุรกิจที่มีการลงทุนด้าน R&D สูงสุด อย่างเช่น Samsung มีการใช้งบวิจัยและพัฒนามากที่สุดในโลกจากอันดับที่ 3 มาเป็นอันดับที่ 1 หรืออย่าง Huawei ก็ลงทุนสูงจากอันดับที่ 8 มาเป็นอันดับที่ 5 นั่นหมายความว่ามีการเตรียมความพร้อมแล้ว
สำหรับประเทศไทย ยังเป็นเรื่องของการใช้งานเครือข่ายในมุมของ Consumer สูงมาก แต่เรื่องของการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจยังเป็นตัวเลขที่ไม่สูง แม้ว่าไทยจะมีค่าบริการใช้งานเครือข่ายที่ถูกเป็นอันดับที่ 3 ของโลกก็ตาม ดังนั้น AIS จึงอยากผลักดันให้ภาคเอกชนรายย่อยใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาธุรกิจมากขึ้น
ปีแห่งการเปลี่ยนพฤติกรรม
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เพื่อให้การแข่งขัน 5G สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว AIS คาดหวังการผลักดันจากภาครัฐ ในการเปิดให้ใช้งานคลื่นความถี่เร็วขึ้น เพราะ 5G ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในหลายประเทศและต้องทดสอบจนมั่นใจได้ว่าสามารถนำไปใช้งานเชิงธุรกิจได้
ในต่างประเทศอย่าง จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นประเทศผู้นำด้านนวัตกรรม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐเปิดให้ใช้งานคลื่นฟรี เพื่อทดลองนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรม หรือบางประเทศที่มีการจัดประมูลก็ใช้เม็ดเงินเพียงหลักร้อยล้านบาทไทยเท่านั้น เพราะมองเห็นถึงการนำไปใช้พัฒนาประเทศมากกว่าเรื่องของเงินรายได้เชิงธุรกิจ
ทั้งนี้ ปี 2018 เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค โดยค่าเฉลี่ยการใช้โมบายอินเทอร์เน็ตของคนไทยเพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยปี 2017 คนไทยใช้โมบายอินเทอร์เนต 7.3 กิกะไบต์/คน/เดือน พอมาปี 2018 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 11.6กิกะไบต์/คน/เดือนเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่ใช้งานกันในปี 2018 ก็เฉลี่ยถึง 6 ชั่วโมง/คน/วัน เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 3ชั่วโมง/คน/วัน ในปี 2015
นอกจากนี้ พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ยังบอกให้รู้อีกว่า คนไทยนิยมดูหนังออนไลน์มากถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน การใช้งบโฆษณาบนโลกออนไลน์สูงถึง 18,000 ล้านบาท และคนไทยใช้โมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนแล้ว
ทั้งนี้ เม็ดเงินในการใช้จ่ายบนช่องทางอีคอมเมิร์ซในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกยังมากถึง 3.06 ล้านล้านบาท และนักช้อปทั้งหลายก็ใช้จ่ายในรูปแบบของโมบายเพย์เมนท์เพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคนแล้ว เรียกว่าการผลักดันเรื่องพร้อมเพย์ ไม่มีค่าธรรมเนียม และโปรโมชั่นกระตุ้นการตลาด ช่วยให้คนไทยหันมาใช้จ่ายออนไลน์มากขึ้น
ดังนั้น บริษัทจะพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มกลางออกมาเพื่อเป็นตัวกลางในการทำธุรกิจร่วมกับทุกอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าว่า “ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย” ย่อมดึงดูดให้ภาคธุรกิจสามารถเข้ามาใช้งานเทคโนโลยีกันสะดวกขึ้น พร้อมทั้งจะช่วยสร้างสรรสังคมให้แข็งแรง และช่วยผลักดันให้สังคมไทยเติบโตสมกับการเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลอย่างแท้จริง
#AISVISION2019 #AISDIGITALINTELLIGENTNATION2019