Site icon Thumbsup

สรุปสิ่งที่น่าสนใจของมหกรรมช้อปปิ้งระดับโลก 11.11 ของอาลีบาบา 2020

เป็นธรรมเนียมไปแล้วสำหรับการประกาศตัวเลขซื้อขายสินค้าในช่วงมหกรรมช้อปปิ้ง 11.11 ของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบา ที่แม้ว่าจะช่วยปลุกกระแสการใช้จ่ายให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยยุค New normal  ยังคงเป็นปัจจัยในการช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายออนไลน์ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ประเทศจีนจะถือว่าเป็นประเทศแรกที่เกิดการระบาดของโควิด-19 แต่ก็เป็นประเทศแรกที่ฟื้นตัวทางเศรฐกิจได้เร็วเช่นเดียวกัน ด้วยข้อจำกัดในการเดินทาง ทำให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศและการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ จึงเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลานี้

ภาพรวมของมหกรรม 11.11 ยิ่งใหญ่ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

เจียง ฟาน ประธานบริหารของเถาเป่าและทีมอลล์ เปิดเผยตัวเลขในมหกรรมช้อปปิ้งระดับโลก 11.11 ว่า ในปี 2563 ที่มีการจัดงานยาวถึง 11 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม – 11 พฤศจิกายน 2563 นั้น มียอดขายรวมทั้งสิ้นกว่า 498,200 ล้านหยวน หรือราว 2,278,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่รวบรวมจากยอดขายออนไลน์ทุกช่องทาง (GMV)

เมื่อเทียบกับสถิติตัวเลขในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ตั้งแต่ปี 2559 – 2563 นั้น มีรายได้ค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกันทุกปี (อ่านบทความเก่า) แต่ในปี 2563 กลับมีตัวเลขที่พุ่งขึ้นแบบเท่าตัว คือจาก 2.684 แสนล้านหยวน ในปี 2562  เพิ่มขึ้น 26% หรือ 4.982 แสนล้านหยวนในปี 2563 ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคพร้อมจ่าย หากว่ามีสินค้าตรงกับความต้องการและครอบคลุมกับทุกมิติการบริการ

ด้วยจำนวนแบรนด์ที่เข้าร่วมมหกรรมกว่า 250,000 แบรนด์ แบรนด์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นกว่า 31,000 แบรนด์ รวมถึงแบรนด์ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Prada, Catier, Montblanc, Balenciaga, Chloe’ โดยมีแบรนด์ใหม่กว่า 94 แบรนด์ที่ทำยอดขายเติบโตมากกว่า 1,000% และมีแบรนด์มากกว่า 470 แบรนด์ ที่ทำยอดขายจากทุกช่องทางได้เกิน 100 ล้านหยวน

อีกตัวเลขที่น่าสนใจคือ จำนวนรายการสั่งซื้อต่อวินาทีสูงสุด ผ่านช่องทางของเถาเป่าและทีมอลล์ อยู่ที่ 583,000 ออเดอร์ต่อ 1 วินาที ซึ่งต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแรง จึงจะสามารถรับยอดการสั่งซื้อโดยที่ระบบไม่เกิดการขัดข้องเลย (zero downtime)

นอกจากนี้ ไช่เหนียว เครือข่ายขนส่งของอาลีบาบาได้จัดส่งสินค้าไปแล้วกว่า 2,320 ล้านชิ้นในช่วง 11 วันของการจัดงาน รวมทั้งยอดโอนบนเถาเป่าไลฟ์เพิ่มขึ้น 400% โดยใน 10 นาทีแรกมียอดโอนกว่า 5 หมื่นล้านหยวนหรือประมาณ 232,082 ล้านบาท

 

ทุกกลุ่มสินค้าล้วนมีโอกาสในการเพิ่มยอดขาย

สินค้าคงคลังยอดนิยม ยังคงเป็น 3 กลุ่มหลักคือ สกินแคร์ สินค้าสำหรับเด็กอ่อนและของใช้ภายในบ้าน ซึ่งสกินแคร์สำหรับผู้ชายมีการเติบโตขึ้น 3,000% สินค้าอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น 200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่น่าสนใจอย่างที่อยู่อาศัยมีการเข้าร่วมมหกรรมกว่า 8 แสนยูนิต เพื่อนำเสนอส่วนลดกว่า 1 ล้านหยวนหรือ 4.63 ล้านบาท

แม้การท่องเที่ยวจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่เครือโรงแรมระดับโลกอย่าง Marriott และ Accor สามารถทำยอดขายในมหกรรม 11.11 ได้เกิน 1,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 4,600 ล้านบาท เป็นครั้งแรก

ส่วนโรงแรมในเครือ Hyatt กว่า 80 แห่งสามารถขายคูปองลดราคาสำหรับดีลห้องพัก 2 คืน ได้มากกว่า 28,000 ใบ โรงแรมในเครือ Hilton ทั่วประเทศจีน สามารถขายได้มากกว่า 25,000 ดีล

หรือแม้แต่ แพ็คเกจดิสนีย์ รีสอร์ท เซี่ยงไฮ้มูลค่า 1,499 หยวนหรือประมาณ 6,900 บาท และแพ็คเกจโรงแรม InterContinental One Thousand Island Lake Resort มูลค่า 999 หยวนหรือ ประมาณ 4,600 บาท ขายหมดตั้งแต่งานเริ่มต้นขึ้น

นอกจากนี้ ยังมียอดการสั่งซื้อส่วนประกอบจากอาหารและไวน์ระดับโลก เช่น ไก่และข้าวกล้องจากประเทศไทยหรือวิสกี้ชั้นยอดสัญชาติญี่ปุ่นที่มีมูลค่า 1 ล้านหยวน และมีร้านค้ากว่า 2.33 ล้านแห่งเข้าร่วมโครงการ “สินค้าแห่งความดี” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม โดยผู้บริโภคที่ส่ังซื้อสินค้าผ่านโครงการนี้จะได้มีโอกาสบริจาคเงินไปพร้อมกันด้วย

อีโคซิสเท็มแข็งแกร่งเสริมโอกาสทางการขาย

ทางด้านบริษัทในเครืออาลีบาบา ไม่ว่าจะเป็น ลาซาด้า ไช่เหนียว ทีมอลล์และเถาเป่า มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงมหกรรม เพราะอีโคซิสเต็มส์ทุกอย่างช่วยส่งเสริมโอกาสทางการขายไปยังทั่วโลก

ลาซาด้า

ไช่เหนียว

ทีมอลล์

ตัวเลขและข้อมูลที่น่าสนใจของอาลีบาบากรุ๊ป สะท้อนให้เห็นโอกาสของแบรนด์และการเติบโตของธุรกิจในการใช้อีคอมเมิร์ซ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายสินค้าหรือประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ว่าแบรนด์หรือธุรกิจ จะปรับตัวและกลยุทธ์ได้ทันกระแสการปรับเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน เพราะเทคโนโลยีและพฤติกรรมของคนพร้อมปรับตัวรับสิ่งเหล่านี้แล้ว