เหรียญมี 2 ด้าน กระแสข่าวร้อน “ทุเรียนไทยขายเกลี้ยง 80,000 ลูกใน 1 นาทีบน Alibaba” ก็ส่งผล 2 แง่คือลบและบวก นาทีนี้มีทั้งคนได้และเสียประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดทั่วโลกโซเชียล ท่ามกลางคนที่สงสัยอีกนับไม่ถ้วนว่าหน้าร้อนเช่นนี้ “ทุเรียนไทยทั้ง 80,000 ลูก” นั้นถูกส่งมาจากไหน?
ต้นตอของข่าวนี้มาจากรายงานของสำนักข่าว South China Morning Post รายงานระบุว่าชาวจีนกระหน่ำสั่งซื้อทุเรียนหมอนทองมากกว่า 80,000 ลูก ในเวลา 1 นาทีที่มีการเปิดโปรโมชัน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและเอกชนจีนอย่าง Alibaba ซึ่งความร่วมมือนี้จะเน้นให้เอกชนจีนช่วยนำสินค้าท้องถิ่นของไทยไปขายบนอินเทอร์เน็ต
ข่าวบอกว่า ทุเรียนหมอนทองไทยทั้ง 80,000 ลูกคิดเป็นน้ำหนักรวมกันกว่า 200,000 กิโลกรัม โดยทุเรียนลูกใหญ่ขนาด 4.5 ถึง 5 กิโลกรัมถูกทำโปรโมชันลูกละ 199 หยวนหรือประมาณ 1,000 บาทรวมภาษีและค่าจัดส่งแล้ว เฉลี่ยแล้วราคาขายกิโลละ 200 บาทเท่านั้น
ในมุมของ Alibaba ข่าวนี้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจนำเข้าสินค้าของบริษัทอย่างเห็นได้ชัด รายงานจาก SCMP บอกว่า Alibaba โกยเงินไม่น้อยจากผู้บริโภคจีนที่ซื้อสินค้านำเข้ากว่า 7.7 ล้านล้านหยวนบนร้านออนไลน์ตลอดปี 2017 ที่ผ่านมา โดยอาหารถือเป็นสินค้าประเภทหลักในกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่แปรปรวนในไทย ฝนที่ตกหนักในเดือนเมษายน ทำให้สวนทุเรียนหลายรายเลื่อนตัดทุเรียนออกไปเพื่อควบคุมคุณภาพ ขณะเดียวกัน ความต้องการที่สูงบนจำนวนสินค้าที่ผลิตได้น้อย ย่อมทำให้ราคาทุเรียนสูงขึ้น ทำให้ Alibaba อาจขาดทุนได้ในราคาโปรโมชัน
จุดนี้มีหลายคนมองว่า Alibaba กำลังทำการตลาดในสินค้าที่ขายดีอยู่แล้ว เพราะพ่อค้าแม่ขายรู้ดีว่าชาวจีนนิยมทุเรียนมานาน และธุรกิจขายทุเรียนออนไลน์นั้นมีแนวโน้มเติบโตสดใสแม้ว่า Alibaba จะไม่ได้ทำโปรโมชัน หรือโครงการกับรัฐบาลไทยก็ตาม
อีกกลุ่มที่ก้ำกึ่งระหว่างได้และเสียจากข่าวนี้คือผู้บริโภค ข่าวไม่ระบุชัดเจนถึงรูปแบบการจัดส่งทุเรียนทั้ง 8 หมื่นลูก จุดนี้เป็นข้อสงสัยเพราะการปอกทุเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่องค์ความรู้เรื่องการรอให้ทุเรียนสุกกำลังดีนั้นมีรายละเอียดพอควร ซึ่งหากไม่เหมาะสม ทุเรียนหมอนทองไทยทั้ง 8 หมื่นลูกอาจไม่ประทับใจลูกค้าจีน
หากคิดในแง่ดี ว่าผลลัพท์ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบ ทุเรียนอร่อย และมีแนวโน้มว่าลูกค้าจะสั่งซื้อมากขึ้นอีก ผลที่อาจตามมาคือระบบคนกลางรับซื้อทุเรียนในไทยอาจถูกแทรกแซง ที่ผ่านมา คนไทยได้เห็นร้านค้าทุเรียนออนไลน์จำนวนมากบน Facebook และ Instagram แม้จะไม่มีการสำรวจชัดเจน แต่เชื่อว่าโซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อหลักที่สวนปลูกทุเรียนใช้สื่อสารกับลูกค้ารายย่อย จนทำให้เกิดการซื้อขายแบบไม่ผ่านตัวกลางแบบล็อตใหญ่มูลค่าหลายล้านบาทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ที่หนีไม่พ้นคือคนสวนและคนไทยคอทุเรียน โลกโซเชียลไทยฟันธงว่านับจากนี้ ทุเรียนไทยจะหารับประทานได้ยากขึ้น แพงขึ้น เช่นเดียวกับชาวสวนที่กำลังจะต้องรับมือกับ demand มหาศาลให้ได้ในวันที่ supply ผันผวน ล่าสุดมีข่าวดราม่าทุเรียนเน่า ซึ่งแม่ค้าลูกค้าต่างไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
ยังมีประเด็นเรื่องราคา ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีการเปิดจองทุเรียนชะนีบน Facebook ซึ่งสะท้อนถึงฟองสบู่ราคาทุเรียนไทยแบบกู่ไม่กลับเรียบร้อย.