ในทุก ๆ ปัญหามีโอกาสซ่อนอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นด้าน HealthTech, FinTech และ InsurTech ที่สำหรับประเทศไทยแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ยังไม่มีใครออกมาสร้างโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก นั่นจึงทำให้โครงการ “Allianz Ayudhaya Activator” กลายเป็นจุดพลิกทางการตลาดที่น่าสนใจของบริษัทประกันภัยอย่าง “อลิอันซ์ อยุธยา” ในการดึงสตาร์ทอัปด้าน HealthTech, FinTech และ InsurTech มาเข้ากระบวนการบ่มเพาะเพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง
แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ เมื่อเจาะลึกลงไปถึง 14 ทีมที่ผ่านเข้ารอบโครงการ Allianz Ayudhaya Activator แล้ว ก็พบว่า ทีมสตาร์ทอัปผู้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ต่างมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่ไม่ธรรรมดาเลยทีเดียว
เริ่มจากกลุ่มของ HealthTech ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีทีมผ่านเข้ารอบเป็นจำนวนมากที่สุดถึง 8 ทีม ได้แก่ Diamate, Remote-Care, HealthSmile, Vitaboost Wellness, Doctor A to Z, Medisee, Medibook24 และ BIWHOMEBOND เราพบว่า มีการมองปัญหาของ HealthTech แบบเจาะลึกในหลายทีม อีกทั้งยังนำไปสู่การพัฒนาแนวคิดทางการตลาดที่น่าสนใจออกมาอีกมากมายด้วย
ดังจะเห็นได้จากทีม Diamate ที่ชื่อทีมบ่งบอกตัวตนชัดเจนว่าเป็นสตาร์ทอัปด้านเบาหวาน แต่ความท้าทายที่ทีม Diamate ต้องเข้าไปแก้ไขคือการปรับพฤติกรรมผู้ป่วย ที่ต้องดูแลด้านอาหารการกิน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ในจุดนี้ คุณพงษ์ชัย เพชรสังหาร ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชัน Diamate เผยถึงที่มาว่า ครอบครัวมีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานถึงสามท่าน ซึ่งทำให้คุณพงษ์ชัยได้เห็นว่าแท้จริงแล้ว การดูแลผู้ป่วยเบาหวานมีความซับซ้อนไม่น้อย อีกทั้งเมื่อศึกษาข้อมูลก็พบว่า จำนวนผู้ป่วยเบาหวานในไทยมีสูงมากเกือบ 5 ล้านคน และเติบโตเกือบร้อยละ 8 ต่อปีทุกปีต่อเนื่องมากกว่าอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยทั่วโลก โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานราว 422 ล้านคน การรักษาเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง หรือตาบอดหรือแผลเบาหวานที่เท้าจนต้องตัดเท้า
แต่การรักษาเบาหวานในไทยยังไม่ค่อยได้ผล สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ถึง 40% บางพื้นที่ควบคุมได้ไม่ถึง 10% จึงมองว่า หากมีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานดูแลสุขภาพตัวเองที่บ้านได้ก็น่าจะค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากในการดูแลผู้ป่วยลง และนำไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชัน Diamate ที่ผู้ป่วยหรือผู้เสี่ยงจะเป็นโรคเบาหวานสามารถใช้ดูแลตัวเองที่บ้านได้ เพียงส่งค่าระดับน้ำตาลในเลือดเข้ามาในระบบ แอปพลิเคชันจะแจ้งเตือนในกรณีที่ระดับน้ำตาลผิดปกติ รวมถึงส่งสถิติเหล่านี้ไปให้แพทย์ในการรักษาต่อไป นอกจากนั้น ยังสามารถบันทึกและวิเคราะห์พฤติกรรมการรับประทานอาหารได้ด้วย หรือหากต้องการปรึกษากับทีมสุขภาพของโรงพยาบาลก็มีระบบแชทให้ใช้งานเช่นกัน
สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักคือโรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเวอร์ชันแรกก็เตรียมนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานกับโรงพยาบาลเทพธารินทร์ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะขยายไปโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่, ขอนแก่น, นครราชสีมา, อุดรธานี, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, ระยอง, สงขลา และภูเก็ต พร้อมตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้ใช้บริการราว 10,000 คนในปี 2561
ทีมต่อมาคือ HealthSmile แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำ และต้องการการตรวจสุขภาพที่เหมาะกับความเสี่ยงของร่างกายอย่างแท้จริง ซึ่งคุณหมอประสิทธิ วิริยะกิจไพบูลย์ ผู้ร่วมก่อตั้งให้มุมมองว่า ที่ผ่านมา แพกเกจตรวจสุขภาพที่ทางโรงพยาบาลออกแบบมานั้น อาจไม่ได้เหมาะกับความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไข้แต่ละรายอย่างแท้จริง
“ทุกวันนี้คนอายุมากก็ตรวจมาก อายุน้อยก็ตรวจน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่า คนอายุน้อยจะแข็งแรงเสมอไป บางทีไปตรวจก็อาจไม่ได้ตรงกับความเสี่ยงสุขภาพที่เราเป็น ส่วนในคนอายุเยอะ แต่ถ้าสุขภาพโดยรวมแข็งแรงดี ความเสี่ยงต่ำ การตรวจแบบเหมารวมเป็นแพ็กเกจใหญ่ ๆ ก็อาจมากเกินไปเช่นกัน“
ในจุดนี้ healthsmile จึงนำ Algorithm เข้ามาช่วยประเมินความเสี่ยงสุขภาพของผู้ใช้งานแต่ละราย ผ่านการกรอกข้อมูลบนเว็บไซต์ และเลือกแพกเกจตรวจสุขภาพที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งในแง่ของวงการประกัน แพลตฟอร์มนี้สามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้บริษัทประกันได้รับรู้ข้อมูลสุขภาพที่แท้จริงของผู้เอาประกันด้วย
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ HealthSmile คือกลุ่มฟรีแลนซ์ หรือกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม โดยเมื่อคำนวณแล้ว ค่าบริการโดยรวมจะประหยัดกว่าการตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลเอกชนระดับบนประมาณ 50% เนื่องจากสามารถตัด Fix Cost เช่น ค่าสถานที่ ค่าบริการโรงพยาบาล ค่าแพทย์ ฯลฯ ออกไปได้ทั้งหมด รวมถึงประหยัดค่าตรวจที่ไม่จำเป็นออกไปด้วย ทำให้ได้ตรวจเฉพาะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการมากที่สุด ส่วนพื้นที่การให้บริการนั้น ปัจจุบันเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ แล้ว 20 เขต โดยมีการร่วมมือกับพยาบาล 68 ท่านที่ให้บริการไปตรวจที่บ้าน ส่วนนอกกรุงเทพฯ ก็มีนครปฐม, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร และขอนแก่น ที่ทางทีมมีคอนเน็คชัน
ทีมที่เราอยากพูดถึงเป็นทีมต่อไปคือ HealthRecord ซึ่งแนวคิดของ HealthRecord น่าสนใจตรงที่การมุ่งพัฒนา Electronic Health Record สำหรับบันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ใช้งานแบบรายบุคคลให้สามารถนำติดตัวไปได้ทุกที่ เผื่อในกรณีที่เกิดเจ็บป่วยอยู่ต่างประเทศ จะได้สามารถนำข้อมูลในแอปพลิเคชันแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของประเทศนั้น ๆ ได้ อีกทั้งแพลตฟอร์มเป็น Multi-Language สามารถปรับข้อมูลสุขภาพให้แสดงผลเป็นภาษาของประเทศนั้น ๆ ได้เลยทันที ทำให้การรักษาอาการสามารถทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ HealthRecord คือกลุ่มที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ซึ่งในประเทศไทยมีประมาณ 6 – 8 ล้านคน ซึ่งทางทีมตั้งเป้าว่าจะขอส่วนแบ่ง 10% จากตัวเลขนี้ภายใน 1 – 2 ปีแรก หรือ 600,000 คนที่หันมาใช้แพลตฟอร์ม HealthRecord
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อข้อมูลบนแพลตฟอร์มนี้มีมากเพียงพอ เราก็จะได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นของข้อมูลสุขภาพ จากเดิมที่เราอาจมีแค่ข้อมูลเบื้องต้นว่า คนอายุ 40 ปีมีแนวโน้มจะป่วยด้วยโรค x มากขึ้น ฯลฯ แต่การมีข้อมูลจริง ๆ ของผู้ใช้งาน 600,000 ราย จะทำให้เห็นเทรนด์ของสุขภาพในประเทศไทย และสามารถหามาตรการป้องกันได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
โมเดลธุรกิจที่น่าสนใจของ HealthRecord อีกข้อคือการพัฒนาข้อมูลเหล่านี้ไปสู่การเป็นมาร์เก็ตเพลสด้านสุขภาพ และเป็นแหล่งรวมของสินค้า-บริการด้านสุขภาพทุกชนิด โดยใช้อัลกอริธึมในการจับคู่ข้อมูลสุขภาพกับสินค้าบนแพลตฟอร์มว่าผู้ใช้งานรายใดควรจะเห็นสินค้าชนิดนี้ หรือจากเทรนด์ด้านสุขภาพที่พบจากใน BigData อาจชี้ได้ว่า เมื่อถึงวัยนี้ควรจะดูแลสุขภาพอย่างไรเพื่อไม่ให้ป่วย แต่สำหรับผู้ที่กังวลปัญหาด้านความปลอดภัยก็มีสิทธิที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลกับแพลตฟอร์มได้ โดยในตอนนี้ทางทีมอยู่ระหว่างการเปลี่ยนชื่อโครงการเพื่อให้ตรงกับเป้าหมายมากขึ้น
โครงการที่ 4 ที่ขอพูดถึงก็คือ BIWHOMEBOND ในฐานะผู้พัฒนาอุปกรณ์ IoT อย่างกระจก Health pass the mirror ที่พัฒนากระจกให้สามารถวัดค่าสุขภาพต่าง ๆ ผ่านเซนเซอร์ และได้มีการนำ AI เข้ามาวิเคราะห์สุขภาพของผู้ใช้งานโดยทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นระบบการแจ้งเตือนสุขภาพในบ้าน เพื่อผู้ใช้งานจะได้ดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม และใช้งานง่ายแม้เป็นผู้สูงอายุ
โดยทีมงานเผยว่า เหตุที่พัฒนาโครงการนี้เนื่องจากมองว่าเทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะนั้นเป็นเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต ประกอบกับประเทศไทยมีความจริงข้อหนึ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือ เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นประเทศแรก ๆ ของโลก จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านการดูแลสุขภาพที่ใช้ได้จริงด้วย
คุณสิริชัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง BIWHOMEBOND กล่าวว่า “เรามองว่า SmartHome Technology นั้นเกิดได้แน่นอน แต่การแข่งขันจะไม่ใช่เรื่องของบริษัทเล็ก ๆ ทำกันเองอีกต่อไป คนที่จะทำได้นั้น ต้อง Think Global ด้วย เราจึงมีโรงงานที่พร้อมผลิตอยู่ในประเทศจีน ตลอดจนสมาชิกในทีมที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ประกอบกับเรื่องที่เรากำลังทำอยู่ มันเป็นเรื่องของการช่วยเหลือคนด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยตอนนี้กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มันจึงเป็นเหตุผลที่ดีมากที่เราได้มีโอกาสเริ่มต้นในประเทศที่มีปัจจัยครบ และเป็นประเทศบ้านเกิดของเราเอง”
จากอุปกรณ์ Smart IoT ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาสู่สตาร์ทอัปด้านวิตามินกันบ้าง นั่นคือ Vitaboost ที่มาพร้อมโมเดลการเป็นธุรกิจดูแลสุขภาพแบบส่งตรงถึงบ้าน โดยมี AI มาช่วยคำนวณปริมาณ และชนิดของอาหารเสริมที่เหมาะกับร่างกายของผู้ใช้งานแต่ละคน
โดยทีมงานพบว่า ที่ผ่านมา มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ขาดวิตามินในระดับที่เป็นอันตราย หรือมีวิตามินบางตัวสะสมในร่างกายมากเกินไป Vitaboost จึงจะเข้ามาช่วยในจุดนี้ด้วยการปรุงวิตามินสูตรเฉพาะสำหรับร่างกายของแต่ละคนให้ ซึ่งที่ผ่านมา Vitaboost มีการเจาะตลาดทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไป ลูกค้าองค์กร หรือผู้บริหารระดับสูง รวมถึงกลุ่มชาวต่างชาติด้วย
จุดเด่นอีกข้อของ Vitaboost คือการแพกเกจให้เลือกค่อนข้างเยอะ ยกตัวอย่างเช่น Anti-Aging Total Solution ซึ่งเป็นโปรแกรมชะลอวัยฟื้นฟูร่างกายจากภายในแบบองค์รวม, โปรแกรมชื่อ Liver Care ที่เป็นวิตามินและอาหารเสริมบำรุงตับโดยเฉพาะ หรือโปรแกรม SleepWell ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์คนที่มีปัญหาในการนอนหลับโดยเฉพาะ เป็นต้น ทำให้เห็นได้ว่า Vitaboost ค่อนข้างเข้าถึงใจของผู้บริโภคยุค 4.0 ที่มีต่อเรื่องสุขภาพมากทีเดียว
อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่น่าสนใจเป็นของ Remote-Care กับการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมอุปกรณ์ Wearable IoT สำหรับมอนิเตอร์สุขภาพผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านตามลำพัง ให้สามารถแจ้งเตือนได้เมื่อมีอุบัติเหตุ หรือปัญหาสุขภาพแบบปัจจุบันทันด่วน
โดยโมเดลธุรกิจของ Remote-Care เน้นที่การขายไลเซนต์ให้กับธุรกิจได้นำเอาแพลตฟอร์มไปปรับใช้ ซึ่งในตอนนี้ขายได้แล้ว 200 ไลเซนต์ ในตลาดไทยและเวียดนาม และทีมอยู่ระหว่างการขยายไปยังตลาดอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น วงการของการออกกำลังกายที่มี Fitness Tracker หรือกลุ่มพ่อแม่ที่ต้องการดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของลูกเพิ่มเติมด้วยการเชื่อมกับ GPS Watch ด้วยเช่นกัน
ธุรกิจต่อไปคือ Doctor A to Z แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์คนไข้ชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามารักษาในประเทศไทย รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะ ซึ่งระบบของ Doctor A to Z จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการจัดหาแพทย์ โรงพยาบาล ตลอดจนจัดการเรื่องการเดินทาง โรงแรมที่พักให้กับชาวต่างชาติได้อย่างความยืดหยุ่น และ Affordable มากขึ้น จากเดิมที่ต้องติดต่อกับเอเจนซีเป็นหลัก และอาจไม่ทราบค่ารักษาที่แท้จริง
โดยจุดเด่นของการรักษาพยาบาลในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาตินั้น จากการเปิดเผยของทีม Medisee คือค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ อีกทั้งแพทย์ยังมีฝีมือที่เป็นที่ประจักษ์ทั่วไป จึงทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศยอดนิยมที่ชาวต่างชาติมักเดินทางเข้ามารับการรักษา ซึ่งการมีแพลตฟอร์มนี้จะทำให้ชาวต่างชาติสะดวกในการจัดการเลือกแพทย์ โรงพยาบาล แพกเกจต่าง ๆ มากขึ้น
สำหรับที่มาของรายได้ของ Doctor A To Z อยู่ในส่วนของการบริการที่แพลตฟอร์มเสนอให้กับชาวต่างชาติ ทั้งเรื่องการให้คำปรึกษา การจัดหาโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล ที่พัก การเดินทาง ซึ่งทางทีมมองว่าธุรกิจประกันภัยยังสามารถนำแพลตฟอร์มนี้ไปให้บริการกับผู้เอาประกันชาวต่างชาติได้อีกต่อในฐานะบริการเสริม
สุดท้ายของทีมในกลุ่ม HealthTech คือทีม Medisee ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของคนไข้ ข้อมูลแพทย์ และข้อมูลคลินิกเข้าด้วยกันเพื่อให้การนัดหมายทำได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น และเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลผู้บริโภคยุค 4.0 ด้วย
ภายในแอปพลิเคชันจึงมีทั้งการค้นหาคลินิก การนัดหมาย การแจ้งเตือนกินยา การเชื่อมต่อผลตรวจเลือด ขณะที่ในส่วนของ Doctor Profile บนแพลตฟอร์มก็จะช่วยให้คุณหมอทำงานร่วมกับคลินิกได้ง่ายขึ้น (ในกรณีที่คุณหมอทำงานหลายคลินิกในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน) หรือในส่วนของ Customer Profile ที่จะเป็นแหล่งรวบรวมผลการรักษา ข้อมูลสุขภาพ สถิติต่าง ๆ ของผู้ใช้บริการ ซึ่งสามารถเรียกดูได้โดยง่าย และผลพลอยได้ในส่วนนี้จะนำไปสู่การสร้างมาร์เก็ตเพลสด้านสุขภาพได้ด้วย
เปลี่ยนจาก HealthTech มาสู่ InsurTech กันบ้าง ทีมที่ผ่านเข้ารอบในส่วนของ InsurTech นั้นมีทั้งสิ้น 2 ทีม ประกอบด้วย Sharmble และ Carpool ขับดีมีเงินคืน
สำหรับทีม Sharmble นั้นได้พัฒนาออกมาเป็น Healthcare API Platform ที่เรียกได้ว่าครบเครื่องมาก ๆ ตัวหนึ่งเลยทีเดียว โดยการเชื่อมต่อของ Sharmble จะมีอยู่สองส่วนคือ Electronic prescription กับส่วนที่เชื่อมต่อกับธุรกรรมทางการเงิน เช่น การเบิกเคลม หรือการเรียกข้อมูลต่าง ๆ เช่น ใบเสร็จจากร้านขายยา หรือข้อมูลจาก Medical Devices
โมเดลธุรกิจของ Sharmble ในส่วนของ Electronic Prescription คือการช่วยร้านขายยาในการบริหารจัดการสต็อกยา บริหาร CashFlow ในร้าน และรวบรวมร้านขายยาในระบบที่มีจำนวนมากนี้ไปต่อรองกับซัพพลายเออร์ยา เพื่อให้สามารถจัดซื้อยาได้ในราคาที่ถูกลง ตลอดจนการบริการเติมยาให้กับร้านยาในระบบแบบอัตโนมัติ ขณะเดียวกันในฝั่งของผู้ป่วยที่มาซื้อยาผ่านแพลตฟอร์มนี้ก็จะได้รับยาในราคาถูกมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องเสียเวลารอนาน เพราะสามารถส่งใบสั่งยาเข้ามาในระบบแล้วให้ทาง Sharmble ส่งต่อให้กับร้านขายยา จากนั้นก็มีบริการนำยามาจัดส่งให้ได้เลย
มาทางฝั่งของ Electronic Claim กันบ้าง ทีม Sharmble เผยว่า สามารถลดภาระงานของการเบิกเคลมลงได้ รวมถึงอาจทำให้บางแผนกหายไปได้เลย เพราะหากใช้ Electronic Claim จะทำให้ลดเวลาในการเบิกเคลมเหลือไม่ประมาณ 10 นาที และมีค่าใช้จ่าย 0 บาท (จากเดิมที่เคยต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงและมีค่าใช้จ่ายหลายสิบบาทจากการแฟกซ์)
ขณะที่ Carpool ขับดีมีเงินคืน นั้น ทางทีมเผยว่ามาจากการศึกษาความต้องการของทั้งฝั่งผู้บริโภคเองที่ต้องการได้เบี้ยประกันถูก ๆ เพราะบางคนก็ขับดี ไม่มีเรื่องเสียหาย ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงไม่ต่างกับเงินที่ต้องจ่ายทิ้งไปเปล่า ๆ ทุกปี ส่วนในมุมของบริษัทประกัน ก็พบเช่นกันว่า บริษัทเองก็ต้องการลูกค้าดีที่เคลมน้อย ซึ่งทาง Carpool ขับดีมีเงินคืน จึงจับความต้องการสองฝั่งนี้มาเจอกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้โมเดล และแพลตฟอร์มที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยได้มากกว่าโมเดลจากต่างประเทศ
สุดท้ายกับกลุ่ม Other ที่ผ่านเข้ารอบในโครงการนี้ถึง 4 ทีม กับ WeChef Thailand, Googreen, Loops และ The Red Box ซึ่งต้องบอกว่าแม้จะเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่ทั้ง InsurTech, HealthTech และ FinTech แต่แนวคิดและแผนการตลาดของทั้ง 4 ทีมนี้ก็ถือว่าโดดเด่นไม่เป็นรองใคร
เริ่มจาก WeChef Thailand ที่คุณวินิจ ลิ่มเจริญ ผู้ร่วมก่อตั้งออกมาเผยว่าความแตกต่างของ WeChef Thailand จากแพลตฟอร์ม Food Delivery อื่น ๆ ก็คือการนำครัวที่บ้านมาสร้างเป็นแหล่งรายได้ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะเป็นการสร้างธุรกิจโดยคนธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้เกษียณอายุ คนชรา หรือกลุ่มแม่บ้านทั้งไทยและเทศที่มีใจรักการทำอาหาร รวมถึงคนที่เป็นเชฟจริง ๆ ให้สามารถสร้างรายได้ด้วยการเป็นเชฟบนแพลตฟอร์มของ WeChef Thailand โดยปัจจุบันแพลตฟอร์มดังกล่าวมีผู้สมัครเข้ามาเป็นเชฟแล้วประมาณ 100 กว่ารายแล้วทั้งที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน
ส่วนหนึ่งที่มีคนสนใจสูง และบางคนก็เป็นเจ้าของร้านอาหารมาก่อน อาจเป็นเพราะส่วนแบ่งรายได้ที่ทาง WeChef Thailand จะเก็บจากเชฟบนแพลตฟอร์มนั้นอยู่ที่ 15% ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่อาจจัดเก็บส่วนแบ่งรายได้มากถึง 30% รวมถึงมีการจัดอบรมความรู้ให้กับเชฟเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการด้วย นอกจากธุรกิจนี้ยังมองไปถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยการจับมือกับธุรกิจประกันภัยในการดูแลความเสียหาย กรณีลูกค้าเจ็บป่วยจากการรับประทานอาหารให้ได้รับความคุ้มครองด้านค่ารักษาบริการด้วย
“เรามองว่าอาหารกับชีวิตคือเรื่องเดียวกัน และ WeChef ให้ความสำคัญอย่างมากคือเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าเราได้ทาง Allianz มาเป็นพันธมิตร ก็จะทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคตรงนี้แข็งแกร่งขึ้น” ไม่เพียงเท่านั้น คุณวินิจยังเผยด้วยว่า การมีแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมเชฟมีฝีมือยังทำให้ทีมงานสามารถนำไปพัฒนาต่อเป็นอีเวนท์อื่น ๆ ได้อีกมากด้วย
ต่อมาเป็นทีมของ Googreen ที่มีหญิงแกร่งอย่างคุณปุ๊ – ฉัตรศนัน มาสว่างไพโรจน์ เป็นผู้ก่อตั้ง โดย Googreen เป็นแพลตฟอร์มจัดเก็บและคัดแยกขยะที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนความคิดของกลุ่มพนักงานออฟฟิศตาม Office Building หรือองค์กรใหญ่ ๆ ตลอดจนแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ในเมืองให้มองขยะเป็นสินทรัพย์ เพราะ Googreen บอกว่าสามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นเงินได้
โดยสิ่งที่ทีม Googreen พบจากการทำงานด้าน Social Enterprise ในโครงการธนาคารขยะก่อนหน้านี้คือถังขยะที่มีอยู่ทุกวันนี้ แม้จะแยกสีแยกประเภทแต่ก็ไม่สามารถโน้มน้าวใจให้คนทิ้งขยะเลือกทิ้งขยะตามประเภทของถังได้ เราจึงยังเห็นการทิ้งขยะรวมกันในถังขยะประเภทต่าง ๆ ปรากฏอยู่ทั่วไป นอกจากนั้นกลุ่มหลักอย่างพนักงานออฟฟิศ ซึ่งเป้ากลุ่มเป้าหมายของแอปพลิเคชันนี้ก็ยังเป็นกลุ่มที่มีการทิ้งขยะโดยที่ไม่มีการคัดแยกสูงมาก โดยคุณฉัตรศนันเผยว่า หากเปรียบเทียบการทิ้งขยะ 100% จะสามารถจัดเก็บขยะมาคัดแยกได้เพียง 20% เท่านั้น
หน้าที่ของ Googreen จึงเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันสะสมแต้มให้กับสมาชิกที่นำขยะรีไซเคิลมาแลกที่จุด Kiosk ซึ่งเมื่อแต้มสะสมไปจนถึงจุดหนึ่งก็สามารถนำไปแลกเป็นสิ่งของ หรือ Voucher ที่ต้องการได้ ขณะเดียวกันขยะเหล่านี้ก็จะได้รับการจัดเก็บและคัดแยกประเภทอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่เป็นปัญหาของสิ่งแวดล้อมต่อไปด้วย
อันดับต่อมาเป็นเรื่องของทีม Loops ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันร่วมเดินทางที่เน้นเจาะกลุ่มผู้ปกครองและโรงเรียน โดยทางทีมได้มองเห็นนปัญหานี้จากโรงเรียนราชวินิต บางแก้ว ว่าในทุกเช้า – เย็น เด็ก ๆ ต้องเผชิญกับปัญหารถติดในซอย เนื่องจากพ่อแม่ขับรถมารับมาส่ง อีกทั้งในซอยก็มีสถานที่ราชการกระจุกตัวกันเป็นจำนวนมาก จึงมองว่าถ้านำแอปพลิเคชัน Loops ไปปรับใช้กับนักเรียนและผู้ปกครองในการทำ Carpool ได้ก็จะเป็นเรื่องดี (ที่ผ่านมา ผู้ปกครองและนักเรียนบางคนก็มีการทำ Carpool กันเองอยู่แล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายมากนักเนื่องจากติดขัดเรื่องปัญหาความปลอดภัย ฯลฯ จึงมองว่า หากนำเครื่องมืออย่างแอปพลิเคชันมาปรับใช้ก็จะทำให้การ Carpool ได้รับความสนใจมากขึ้น)
สำหรับการใช้บริการของ Loops นั้นจะแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งผู้นั่ง และฝั่งผู้ขับ ซึ่งต่างฝ่ายต่างต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน และต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในฐานข้อมูลของโรงเรียน บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้ามาใช้งานแอปพลิเคชันได้ ซึ่งในจุดนี้ จะช่วยในเรื่องความมั่นใจได้ระดับหนึ่ง ส่วนการโดยสารนั้น ในระยะเริ่มต้น ผู้นั่งสามารถเลือกจุดหมายได้แค่บ้านและโรงเรียน โดยจะมีการคิดค่าใช้จ่ายตามระยะทาง แต่จะไม่ใช่อัตราที่แพงเหมือนบริการ Ride-Sharing ข้ามชาติ และในอนาคต อาจพัฒนาให้ฝั่งของผู้นั่งสามารถเลือกเดินทางไปยังจุดหมายอื่น ๆ นอกจากบ้านและโรงเรียนได้ด้วย
สำหรับรูปแบบการใช้บริการนั้น คุณอิทธิกรมองว่า ในฝั่งผู้นั่งอาจอยู่ในรูปของการสำรองที่นั่งล่วงหน้า โดยผู้ที่สำรองที่นั่งก็คือตัวเด็กเอง เนื่องจากเด็กจะทราบว่าตนเองมีกิจกรรมต้องทำหลังเลิกเรียนหรือไม่ จะได้เลือกเวลากลับบ้านได้เหมาะสมกว่านั่นเอง ซึ่งหากพิจารณาจากคุณสมบัติที่วางโครงสร้างเอาไว้ก็ถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ครบเครื่องอีกแนวคิดหนึ่งเลยทีเดียว ส่วนการปรับใช้จะได้ผลอย่างไร ทีมของ Loops บอกว่าปีการศึกษาหน้าจะได้ทราบกันแล้ว
สำหรับทีมสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงก็คือ The Red Box กับแนวคิดผู้ให้บริการโซลูชันด้าน Digital Assets ครบวงจร เพื่อให้สามารถโอนถ่ายไปยังลูกหลายได้ในวันที่เจ้าของข้อมูลเหล่านั้นได้จากไปแล้ว ส่วนแรงจูงใจในการพัฒนานั้น คุณคามิน บัวอาบแสงแห่ง The Red Box เผยว่ามาจากการเสียชีวิตของคุณแม่ที่ลูก ๆ ต้องจัดการกับข้อมูลต่าง ๆ มากมาย ซึ่งข้อมูลของคุณแม่ยังอยู่ในรูปของเอกสารที่สามารถค้นเจอได้ แต่สำหรับคนรุ่นต่อไปที่ข้อมูลเป็นดิจิทัลมากขึ้นนั้น การตระเตรียมระบบการจัดการในเรื่องของ Digital Assets ให้เรียบร้อยก่อนจากไปเป็นสิ่งที่ควรตระหนักให้มากขึ้น
โดย Product ในระยะแรกของ The Red Box คือการเป็นกล่องแห่งกาลเวลาที่สามารถเก็บข้อมูลได้ตามที่ต้องการ และสามารถกำหนดได้ว่าจะเปิดกล่องเมื่อไร เช่น กรณีที่เจ้าของข้อมูลเสียชีวิต มันจะส่งกล่องที่เตรียมไว้นั้นไปยังผู้รับที่กำหนดเอาไว้ หรืออาจเรียกว่าเป็นการโอนให้แบบมรดก (Inheritance) ซึ่งแตกต่างจากบริการคลาวด์ทั่วไปที่ยังไม่มีในจุดนี้
แต่ The Red Box ไม่จบแค่นี้ เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า คุณคามินเผยว่า The Red Box จะเติบโตขึ้นเพื่อเป็น The (Smart) Personal Cloud Storage บนเทคโนโลยีบล็อกเชน เนื่องจากมองว่าในยุคนั้น การใช้งานอุปกรณ์ IoT จะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องมีพื้นที่จัดเก็บแบบออนไลน์ความปลอดภัยสูงเข้ามาช่วยแบ็คอัปข้อมูลและเมื่อวันหนึ่งที่ต้องจากโลกนี้ไป มันก็จะทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์ส่งต่อข้อมูลมีค่าเหล่านั้นไปให้คนที่รักได้เก็บรักษาต่อไปด้วย
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ ต้องบอกว่า เราได้เห็นทั้งความตั้งใจของ 14 ทีมว่าต่างเป็นทีมที่ตระหนักได้ถึงจุดที่ขาดหายไปของบริการทางด้านสุขภาพและธุรกิจประกันภัย รวมถึงความตั้งใจในด้านอื่น ๆ ที่จะทำให้สังคมไทยและโลกแข็งแรงขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุด เราเชื่อว่าความแข็งแรงของสังคมนั้นจะย้อนกลับมาซัพพอร์ตความตั้งใจของทีมงานทั้งหลายไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอน