เวลาชมภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ เรามักพบการจำลองเมืองในอนาคตที่เต็มไปด้วยวิทยาการลำ้หน้ามากมาย ทั้งยานยนต์อัจฉริยะ เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย และการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ อย่างล้ำยุค จนหลายคนอดฝันไม่ได้ว่าอยากใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่สะดวกสบายเหล่านั้นบ้าง
แต่ความฝันนั้นกำลังจะกลายเป็นจริง เมื่อมีความเป็นไปได้ว่า บริษัทแม่ของกูเกิลอย่าง Alphabet นั้น มีแผนจะสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” ขึ้นมา สำหรับไว้ใช้ทดสอบสิ่งประดิษฐ์ที่ทางบริษัทพัฒนาขึ้น เช่น รถอัจฉริยะไร้คนขับ หรือบริการเครือข่ายไวไฟความเร็วสูง
โดยแม่งานที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าจะรับผิดชอบโปรเจ็คนี้ก็คือ ไซด์วอล์กแล็ป (Sidewalk Lab) หนึ่งในบริษัทลูกของอัลฟาเบ็ทที่ควบกิจการมาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะถูกพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะนี้ก็คือพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองเดนเวอร์ ในรัฐโคโรลาโด และเมืองดีทรอยด์ ในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา นั่นเอง
สำหรับเหตุผลที่ทั้งสองเมืองนี้ถูกหยิบขึ้นมาเป็นตัวเลือกแรก ๆ นั้น อาจเป็นเพราะพื้นที่ส่วนหนึ่งของทั้งสองเมืองนี้ ปัจจุบันถูกใช้เป็นสถานที่ทดสอบการขับเคลื่อนยานยนต์อัจฉริยะ รวมถึงใช้เป็นพื้นที่ทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ระดับในการพัฒนาครั้งนี้ของอัลฟาเบ็ทยิ่งใหญ่ และอาจส่งผลต่อรูปแบบวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองดังกล่าวได้เลย เนื่องจากจะมีการขนเทคโนโลยีจำนวนมากลงไปทดสอบในพื้นที่แห่งนั้นนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น เราอาจได้พบหุ่นยนต์เดินทางไปมาภายในเมือง คอยทำหน้าที่รับส่งสิ่งของ สัญญาณไฟจราจรที่ควบคุมโดยระบบอัจฉริยะจากศูนย์กลาง เป็นต้น
การพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เมืองดังกล่าวเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจพุ่งทะยาน ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับย่านเบย์แอเรียมาแล้วนั่นเอง