ไม่รู้ว่าเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯกำลังตกเป็นเป้าโจมตีของใครหรือเปล่า เพราะหลังจาก Google เกิดเหตุล่ม 5 นาทีไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด Amazon.com ก็เกิดเหตุเว็บไซต์ล่มจนชาวออนไลน์ไม่สามารถใช้งานได้นานนับ 40 นาที เบื้องต้นคาด Amazon จะได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์นี้ราว 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 160 ล้านบาท
รายงานจาก VentureBeat ระบุว่า เว็บไซต์ Amazon.com นั้นไม่สามารถงานได้ตั้งแต่ 1 p.m. (Pacific time) หรือ 13.00 น. ของวันที่ 19 สิงหาคมตามเวลาในสหรัฐฯ ซึ่งเทียบเท่า 03.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยพบว่า Amazon.com ไม่สามารถใช้งานได้นาน 45 นาทีแบบไม่ทราบสาเหตุ
จากการสำรวจเบื้องต้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบและไม่สามารถใช้งานเว็บไซต์หลักของ Amazon ได้คือผู้อาศัยในสหรัฐฯและแคนาดาทั้งหมด โดย VentureBeat ยืนยันว่าผู้ใช้ Amazon.com พบปัญหาไม่ต่ำกว่า 20 นาที ขณะที่สื่อมวลชนอเมริกันรายงานไม่ตรงกันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกินเวลา 15 นาที, 25 นาที, 40 นาที หรือ 45 นาที
หากประเมินว่า Amazon.com ไม่สามารถทำงานได้นาน 40 นาที ข้อมูลจากวารสาร Puget Sound Business Journal ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่วิกฤตินี้จะทำให้ Amazon สูญเสียรายได้จากการขายสินค้ามากกว่า 4.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจาก Amazon มีสถิติยอดจำหน่ายสินค้าเฉลี่ย 117,882 เหรียญสหรัฐฯ ต่อนาที (ราว 3.7 ล้านบาท) ในปี 2012 ที่ผ่านมา
จุดนี้สื่อมวลชนอเมริกันบางรายเชื่อว่า ความเสียหายของ Amazon อาจจะสูงกว่าอัตรายอดขายเฉลี่ยที่มีการประเมินไว้ เนื่องจากวิกฤติ Amazon ล่มนี้เกิดขึ้นในช่วงบ่ายวันจันทร์ของฤดูร้อน ซึ่งถือเป็นเวลาทองในการสั่งซื้อสินค้าของวัน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ชาวอเมริกันจะไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าพิเศษในช่วงซัมเมอร์ เช่น อุปกรณ์ปิ้งย่างบาร์บีคิว เสื้อเชิร์ตฮาวาย กล่องหรืออุปกรณ์สำหรับการปิกนิค หรือแม้แต่นิยายที่ชาว Amazon จะนำไปอ่านบน Kindle ของตัวเอง
นอกจากนี้ เว็บไซต์ Gigaom ระบุด้วยว่าเว็บไซต์ในเครือ Amazon ที่ให้บริการในประเทศแถบคาบสมุทรแปซิฟิกนั้นไม่สามารถใช้งานได้บางส่วน ได้แก่ Zappos.com และ Diapers.com ทั้งหมดนี้ นักสังเกตการณ์ระบุว่าเหตุการณ์ Amazon.com นั้นเกิดขึ้นน้อยมาก แม้ในช่วงปีที่ผ่านมา บริการคลาวด์เซอร์วิสของ Amazon อย่าง Elastic Compute Cloud (EC2) จะพบวิกฤติล่มถึง 2 ครั้ง จนทำให้บริการอย่าง Netflix, Instagram และ Reddit ไม่สามารถใช้งานได้ แต่ Amazon.com ก็ยังทำงานได้ตามปกติ
ที่มา: VentureBeat