มาช้าดีกว่าไม่มา(?) ในที่สุด Apple ตัดสินใจเปิดตัวสองบริการ ได้แก่ Apple Arcade และ Apple TV+ อย่างเป็นทางการ แต่ความน่าสนใจของบริการคราวนี้ อยู่ที่ Apple TV+ แพลตฟอร์มที่ใครหลาย ๆ คนมองว่ากำลังท้าชนกับ Netflix จริงหรือเปล่า?
บริการแรกที่เปิดตัว คือ Apple Arcade จะเป็นแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเหมือน Netflix ที่โหลดเกมมาเล่นได้ทั้งบน iOS, iPadOS และ macOS ได้แบบไม่จำกัด ซึ่งต่างจากหลาย ๆ แพลตฟอร์มเกม เช่น Steam ที่เราต้องซื้อขาดแต่ละเกมเพื่อมาเล่น
บริการดังกล่าวเตรียมเปิดให้บริการวันที่ 19 ก.ย. 62 ใน 150+ ประเทศ ส่วนราคา 4.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เปิดให้ทดลองใช้ฟรี 1 เดือนแรก
แต่บริการอีกอันที่ Apple เปิดตัวก็คือ Apple TV+ ซึ่งเป็น Video Streaming Platform ที่จะมีคอนเทนต์ที่ผลิตเอง (Apple Original) มาลงให้ชมผ่านแพลตฟอร์มนี้
โดยเริ่มเปิดให้บริการวันแรก 1 พ.ย. 62 โดยจะมีเรื่องใหม่ ๆ ให้ดูทุกเดือน Apple TV+ จะมีค่าบริการอยู่ที่ 4.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน พร้อมใช้ได้สูงสุด 6 เครื่อง นอกจากนี้ใครที่ซื้อ เครื่องใหม่ก็จะได้ใช้ Apple TV+ ฟรี 1 ปีอีกด้วย
ซึ่งวันนี้เราจะมาวิเคราะห์ถึง Apple TV+ กัน เพราะมันเป็นบริการรูปแบบเดียวกับ Netflix
หลังการเปิดตัวของ Apple TV+ หุ้นของ Netflix, Roku และ Disney ตกลงอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม หุ้น Apple ไต่ขึ้นแดนบวกสลับกับแดนลบ ไม่ได้พุ่งขึ้นจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในงาน Apple Special Event มากเท่าที่ควรก็ตาม
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นบริการ Apple TV+ ที่จะเปิดให้ใช้ในแต่ละประเทศจะมีราคาไม่เท่ากัน โดยค่าบริการรายเดือน Apple TV+ แต่ละประเทศจะเป็นดังนี้
- สหราชอาณาจักร – 4.99 ยูโร (ประมาณ 190 บาท)
- แคนาดา – 5.99 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 180 บาท)
- ออสเตรเรีย – 7.99 ดอลลาร์ออสเตรเรีย (ประมาณ 170 บาท)
- ญี่ปุ่น – 600 เยน (ประมาณ 170 บาท)
- สหรัฐอเมริกา – 4.99 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 150 บาท)
- ไทย – 99 บาท
- อินเดีย – 99 รูปี (ประมาณ 40 บาท)
ส่วนคอนเทนต์ที่ Apple ชูว่าเป็นจุดขายของ Apple TV+ ได้แก่ The Morning Show (นำแสดงโดย Jennifer Aniston, Reese Witherspoon และ Steve Carrell), SEE (นำแสดงโดย Jason Momoa) และอื่น ๆ
และเมื่อเทียบราคาค่าบริการรายเดือนกับ Video Streaming Service เจ้าอื่น ๆ ที่ให้บริการในสหรัฐฯ จะเป็นดังนี้
- HBO – 14.99 ดอลลาร์สหรัฐ
- Amazon Prime Video – 12.99 ดอลลาร์สหรัฐ
- Netflix (แพ็คเกจยอดนิยม) – 12.99 ดอลลาร์สหรัฐ
- Hulu (แบบไม่มีโฆษณา) – 11.99 ดอลลาร์สหรัฐ
- Showtime – 10.99 ดอลลาร์สหรัฐ
- Starz – 8.99 ดอลลาร์สหรัฐ
- Disney+ – 6.99 ดอลลาร์สหรัฐ
- CBS All Access – 5.99 ดอลลาร์สหรัฐ
- Hulu w/ ads – 5.99 ดอลลาร์สหรัฐ
- ESPN+ – 4.99 ดอลลาร์สหรัฐ
- Apple TV+ – 4.99 ดอลลาร์สหรัฐ
Apple คิดอะไรอยู่จึงขยายอาณาจักร Service ที่มีอยู่?
หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่า Apple มีหลาย Service อย่าง iCloud, Music,
แต่โปรโมชันไม้ตายที่หลายคนไม่คิดว่าจะออกมาจาก Apple นั่นคือการแถม Apple TV+ ฟรี 1 ปีกับผู้ที่ซื้ออุปกรณ์ iPhone, iPad, Mac ใหม่ เป็นไปได้ว่าคงหนีไม่พ้นการเพิ่มยอดขายอุปกรณ์ของ Apple ทั้งหมด
จึงไม่แปลกที่ Apple TV+ จะกลายมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญ เพื่อทำให้รายได้ของ Apple ดีขึ้น
เนื่องจากผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2019 ยอดขายจาก iPhone ลดลง แต่รายได้จากบริการ (Service) เพิ่มขึ้นมากกว่า 19%
โดยรายได้ของ Apple ในไตรมาสล่าสุดอยู่ที่ 58 พันล้านเหรียญ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันเมื่อปี 2018 ที่ 61.1 พันล้านเหรียญ ส่วนกำไรอยู่ที่ 11.6 พันล้านเหรียญ
เมื่อแยกรายได้ตามสินค้า ยอดขาย iPhone อยู่ที่ 31.05 พันล้านเหรียญ แม้จะลดลงแต่ก็เป็นส่วนแบ่งถึง 54 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งบริษัท ในขณะที่รายได้จาก Mac ลดลงเล็กน้อย
ประกอบกับข้อมูลของบริษัทวิจัย IHS Markit ระบุว่า ไตรมาสที่ 2 ปี 2019 นั้น อันดับ 1 คือ Samsung ทำยอดขายได้ 75.1 ล้านเครื่อง (คิดเป็น 23%), อันดับ 2 คือ Huawei ขายได้ 58.7 ล้านเครื่อง (คิดเป็น 18%), อันดับ 3 คือ Oppo ขายได้ 36.2 ล้านเครื่อง (คิดเป็น 11%)
ซึ่ง Apple ร่วงมาอยู่ที่ 4 ทำยอดขาย iPhone ได้ 35.3 ล้านเครื่อง คิดเป็น 11% เท่ากับ Oppo เสียแล้ว
เห็นได้ชัดเลยว่ายอดขายของ iPhone เป็นกล่องดวงใจที่สำคัญของ Apple แต่ยอดขายก็ทำได้ไม่ดีเท่าแต่ก่อน ส่วนแนวโน้มการสร้างรายได้จาก Service ต่างๆ ของ Apple ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ
ประการต่อมา Apple TV+ จงใจตั้งราคาให้ถูกกว่า Netflix อาจจะเพราะยังมีคลังคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มที่ไม่มากพอ เพราะเน้นการพาร์ทเนอร์กับผู้ผลิตคอนเทนต์ แล้วให้ฉายแค่บน Apple TV+ เท่านั้น
แต่เหตุผลจริง ๆ ที่เป็นไปได้ก็คือ สงครามดั๊มพ์ราคาให้ต่ำลงเพื่อแข่งกับ Netflix ที่เป็นเจ้าตลาดที่มีคอนเทนต์เป็นจำนวนมาก แต่คิดค่าบริการแพง นั่นเอง รวมถึงต้องการดึงดูดให้ผู้ใช้เปลี่ยนใจมาใช้ Video Streaming Service ที่มีราคาถูกลงแทนนั่นเอง
รวมทั้งเป็นการปูทางให้ Apple สามารถมียอดผู้ใช้ Apple TV+ มากขึ้น และกลายเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งขนาดใหญ่ต่อไป ซึ่งจริงๆ Apple Ecosystem ก็อาจจะมีความพร้อมอยู่แล้วในฝั่ง Device และ Hardware ขาดแค่การ bulid content services เท่านั้นเอง
ในอีกมุมหนึ่งอาจมองได้ว่า Apple ไม่ได้แข่งกับ Netflix แต่กำลังแข่งกับตัวเอง เพื่อให้ Content Service อันใหม่อย่าง Apple TV+ สามารถทำเงินให้กับ Apple ได้
คู่แข่งของ Apple TV+ คือเวลาในแต่ละวันของเรา
Dan Rayburn หัวหน้านักวิเคราะห์ของบริษัทที่ทำด้านการวิเคราะห์ข้อมูล Frost and Sullivan ให้ความคิดเห็นได้อย่างน่าสนใจว่า “Apple ไม่ได้แข่งกับ Netflix, Hulu และคนอื่น ๆ แต่กำลังแข่งกับจำนวนเวลาที่อยู่อย่างจำกัด ซึ่งพวกเราต้องมีเวลาในการบริโภคคอนเทนต์”
นอกจากนี้ Dan ยังมองในแง่บวกว่า Apple มีไม้เด็ดคือ ความสามารถในการเพิ่ม Content Services และแพ็คเกจเพื่อให้ครอบคลุมในทุกแพลตฟอร์มของ Apple ซึ่ง Apple เองก็มี Ecosystem ที่พร้อมแล้ว ไม่ว่าจะมี Hardware, Device, ระบบปฏิบัติการ (OS), บราวเซอร์อย่าง Safari, Store ทั้งออนไลน์-ออฟไลน์
เหลือเพียงเพิ่มคอนเทนต์อื่น ๆ เข้าไป ซึ่งตอนนี้ก็ใส่ Apple Music และ Apple News เข้ามาแล้ว ล่าสุดก็เพิ่มบริการ Video Streaming อย่าง Apple TV+ เข้ามาอีก
น่าจับตาว่าตลาด Video Streaming ที่มีผู้เล่นมากราย ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Netflix, Amazon Prime Video, Hulu, Roku, Disney+, HBO Max และอื่นๆ อีกมากมายหลังจากนี้จะต้องปรับตัวและออกกลยุทธ์มาสู้ศึกครั้งนี้ในรูปแบบไหนกันต่อไป
ที่มา: TechCrunch, CNBC (1) (2) และ Fortune