Charles Darwin ได้เคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “It’s not the strongest of the species that survive, nor the most intelligent, but the one that is most responsive to change.” หรือก็คือ ผู้ที่อยู่รอดนั้น ไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด หรือแข็งแกร่งที่สุด หากแต่เป็นผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด ซึ่งวันนี้ ไม่เฉพาะมนุษย์ที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ธุรกิจเองก็เช่นกัน เพราะโลกได้เดินมาสู่ยุค Disruptive Innovation แล้วนั่นเอง
โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่าง Ford Motor ก็ได้เคยออกมาสร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศตัวว่า บริษัทคือ Tech Company ไม่ใช่ Auto Company อีกต่อไป เช่นเดียวกันกับ Ananda Development หรือ ANAN ที่วันนี้ออกมาปฏิวัติวงการอสังหาริมทรัพย์ด้วยการประกาศตัวเป็น Tech Company รายแรกของไทย พร้อมเปิดตัว “Ananda UrbanTech” ในฐานะแหล่งรวมโซลูชัน นวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนเมือง รวมถึงสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
คุณชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Ananda Development จำกัด (มหาชน) เผยว่า ที่ผ่านมา Ananda เป็นบริษัทมีการเติบโตอย่างรวดเร็วตลอด 17 ปี แต่สถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป และการมาถึงของยุคแห่งการ Disruptive Innovation จะมีผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มากมาย บริษัทที่ไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้อาจต้องล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว
ในจุดนี้ คุณชานนท์มองว่า Ananda ซึ่งวางตัวเองเป็น Startup มาโดยตลอดอยู่ในจุดที่ได้เปรียบ เพราะคุณสมบัติพื้นฐานของ Startup จะสามารถปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ดีกว่า และมีความพร้อมที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา
สอดคล้องกับผลการศึกษาที่พบว่า บริษัททุกวันนี้มีอายุเฉลี่ยน้อยลงทุกที จากผลสำรวจทางสถิติในปี พ.ศ. 2478 พบว่า 500 บริษัทในสหรัฐอเมริกามีอายุเฉลี่ย 90 ปี แต่เมื่อสำรวจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2548 พบว่าอายุเฉลี่ยของบริษัทใน Fortune 500 ลดลงเหลือเพียง 15 ปี และมีแนวโน้มว่าจะลดต่ำลงกว่า 10 ปีนับจากนี้ด้วย (อ้างอิง: Professor Charles A. O’Reilly III, Stanford Business School YPO 2016)
เพื่อปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง Ananda จึงมีการปรับโครงสร้างการบริหาร พร้อมแต่งตั้งคณะผู้บริหารขึ้นมารับหน้าที่เป็นการเฉพาะ ได้แก่ ดร. เชษฐ์ ยง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรม (Chief Innovation Officer) มีหน้าที่ความรับผิดชอบครอบคลุมการเป็น ‘Think Tank’ หรือ ศูนย์รวมทางความคิดเพื่อเสริมเข้ากับนวัตกรรมทั้งหมด และ ดร. จอห์น มิลลาร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ เป็นผู้มีบทบาทอันหลากหลายและเป็นผู้วางแผนกลยุทธ์นวัตกรรมใหม่ของบริษัท
อีกทั้งยังแจ้งเกิด “Ananda UrbanTech” ในฐานะเป็นแหล่งรวมเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาผสมผสานกับการพัฒนาโครงการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในโลกยุคดิจิทัล โดยประเดิมก้าวแรกด้วยเทคโนโลยีใหม่เพื่อความสะดวกสบาย ได้แก่ การจับมือกับ Haupcar Co, ผู้ให้บริการ ฮอปคาร์ (Haupcar) ซึ่งเป็นการให้บริการแบบ car-sharing (การใช้รถร่วมกัน) ผ่านทางสมาร์ทโฟน (อนุญาตให้ผู้ใช้บริการสามารถขับรถหรือ แบ่งปันรถยนต์ใช้ระหว่างกันได้ตลอดเวลา)
นอกจากนี้ ระบบนิเวศน์ หรือ Ecosystem ที่ดีก็จำเป็นสำหรับการเติบโตของ Startup เช่นกัน โดย Ananda ได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับแถวหน้าอย่าง Hubba Thailand ในการสร้าง Ecosystem ที่ดีที่สุดให้แก่สตาร์ทอัพไทย และให้การสนับสนุน Startup, Incubator (โครงการที่ช่วยบ่มเพาะ Startup ตั้งแต่เริ่มต้นมีไอเดียจนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาด) และ Accelerators (โครงการที่ช่วยผลักดันให้ Startup ที่มีผลิตภัณฑ์สามารถเติบโตขยายธุรกิจออกไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น) ต่าง ๆ รวมไปถึงกิจกรรมอย่างการจัด Hackathon, Tech Meet-up, Techsauce summit ด้วย
Ananda ยังให้การสนับสนุน Digital Ventures หนึ่งในพันธมิตรเพื่อประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและพนักงานของบริษัท และเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น งานเปิดตัว LINE Finance, การประชุมและฝึกอบรมร่วมกับ Seedstars และให้การสนับสนุนการเดินทางร่วมกับทีมบริหารระดับสูงของ Ananda เพื่อเดินทางไปศึกษาอบรมที่ Silicon Valley’s Singularity University นำมาซึ่งกลยุทธ์ในการสนับสนุนและผลักดันให้เหล่า Startupได้สามารถเข้าถึงเครือข่าย เทคโนโลยี และ Know-How ต่างๆ เพื่อเป็น UrbanTech Startup ที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ล่าสุด Ananda ยังได้จับมือกับศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการ แห่งศศินทร์ (Sasin Center for Entrepreneurship) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการร่วมมือกันเพื่อดำเนินงานวิจัยระบบนิเวศน์นวัตกรรมท้องถิ่น เพื่อความร่วมมือที่ดีขึ้นของชุมชนอีกด้วย
นอกจากลงไปคลุกคลีกับกลุ่ม Startup ต่าง ๆ แล้ว Ananda ยังมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในกองทุนต่างๆ ทั่วโลก ในด้านนวัตกรรม และการลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึง การบริหารกิจการร่วมทุน (Corporate Venture Capital) หรือก็คือ การร่วมลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพและมีเทคโนโลยีที่สามารถนำมาเสริมธุรกิจขององค์กรในอนาคตได้
โดยคุณชานนท์ได้เปรียบการขับเคลื่อนครั้งนี้ของ Ananda ว่าไม่ต่างจากที่ Jack Welch ซีอีโอชื่อก้องได้เคยกล่าวไว้เลย นั่นก็คือ “Look, Anyone can manage for the short-term–just keep squeezing the lemon. And anyone can manage for the long–just keep dreaming. You were made a leader because someone thought you could squeeze and dream at the same time…Performing balancing acts every day is leadership”
(โลกของซีอีโอทุกวันนี้ คือการที่มือหนึ่งก็ต้องคั้นน้ำเลมอนให้มีประสิทธิภาพที่สุด – หรือก็คือดูแลธุรกิจเดิมให้สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ขณะที่อีกมือหนึ่งก็ต้องควานหาโอกาสใหม่ ๆ ในอนาคตให้องค์กรให้ได้ องค์กรจึงจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน)
คุณชานนท์ยังได้ปิดท้ายอย่างน่าสนใจ ด้วยการเน้นย้ำให้เห็นถึงคุณค่าของการแบ่งปันด้วยว่า
“การแชร์เป็นสิ่งสำคัญ การแข่งขันในยุคต่อไป จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่การที่คนไทยจะมาแข่งกันเอง แต่การแข่งขันที่แท้จริงกำลังรอคนไทยอยู่ในตลาดโลก และคนไทยต้องจับมือกันเพื่อขึ้นไปแข่งกับหลาย ๆ ประเทศที่รอเราอยู่บนนั้น จึงอยากฝากว่า การมีจิตวิญญาณของการแบ่งปัน และการช่วยเหลือกันจะเป็นตัวพาคนไทยขึ้นไปสู่การแข่งขันระดับโลกได้ในที่สุด”