การสำรวจล่าสุดพบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ในกลุ่มตัวอย่างไม่เสียดายเงินทุนและทรัพยากรในการสร้างแอปของตัวเอง เพราะส่วนใหญ่ลงทุนน้อยแต่สร้างกำไรได้มาก เรียกว่าสร้างแล้วคุ้มค่าเงินและเวลาที่จ่ายไป
จากการสำรวจของบริษัท The Manifest พบว่าบริษัทอเมริกันส่วนใหญ่ (88%) กล่าวว่าแอปพลิเคชันบนมือถือของตัวเองประสบความสำเร็จ “ทางการเงิน” และสามารถทำกำไรได้เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายด้านการพัฒนาและการเปิดตัวแอปพลิเคชัน
อย่างไรก็ตาม รายงานพบว่าการวัดผลความสามารถในการทำกำไรของแอปพลิเคชันอาจแตกต่างกัน โดยมีบริษัทบางแห่งที่ระบุว่าแอปพลิเคชันมีต้นทุนเรื่องการสร้าง brand awareness หรือการรับรู้ในแบรนด์รวมอยู่ด้วย ทำให้แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ไม่สามารถคำนวณกำไรขาดทุนจากต้นทุนการจัดการและยอดขายที่สร้างขึ้นมาได้เท่านั้น
ทุ่มงบแล้วคุ้มไหม
การสำรวจพบว่าการตลาดเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแอปพลิเคชัน โดย 35% ของบริษัทกลุ่มตัวอย่างบอกว่าได้ทุ่มเท 31-50% ของงบประมาณการพัฒนาแอปโดยรวมไปที่การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ขณะที่อีก 21% ของกลุ่มตัวอย่าง มีการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้นเป็น 51-70% ของงบพัฒนาแอปพลิเคชัน
สิ่งที่เราสามารถสรุปได้จากข่าวนี้ คือธุรกิจส่วนใหญ่ใช้งบประมาณไม่มากในการสร้างแอปพลิเคชัน โดยมีเพียง 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นใช้เงิน 50,000 ถึง 100,000 ดอลลาร์ในการพัฒนาและเปิดตัวแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่
สถิติอื่นที่น่าสนใจจากการสำรวจนี้ คือมากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง (38%) มีการอัปเดตแอปทุกเดือน ขณะที่เกือบ 45% อัปเดตแอปทุก 2-6 เดือน จุดนี้สะท้อนว่าบริษัทอเมริกันรู้ดีถึงความจำเป็นในการอัปเดทแอปพลิเคชัน เพื่อบำรุงรักษาความสามารถให้แอปใช้งานได้ดีและสามารถดึงดูดผู้ใช้ได้
Manifest ดำเนินการสำรวจครั้งนี้ผ่านผู้พัฒนาแอปพลิเคชันและนักการตลาด 301 รายจากบริษัทหลายขนาดทั่วสหรัฐฯ
ที่มา: MarketingDive