เทรนด์ของ Proptech กำลังเป็นกระแสในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่เว้นแม้แต่ อารียา พรอพเพอร์ตี้ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2543 ที่ไม่ได้มองว่าต้องรีบตอบรับเทคโนโลยีไปเสียทุกอย่าง แต่ก็ต้องไม่ตกขบวน เป็นเพราะผ่านร้อนผ่านหนาว และเจ็บตัวกับเทคโนโลยีมาเยอะ จนต้องเลือกและรอจังหวะที่เหมาะสมก่อนควักเงินลงทุน
นายวิศิษฎ์ เลาหพูนรังษี ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า การเดินหน้าด้านดิจิทัลของเราจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การพัฒนาทำเองในองค์กร (In-House) กับการจ้างทีมงานจากภายนอก (Outsource) ซึ่งบริษัทเข้าใจว่า อินโนเวชั่นสำคัญในธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้ และการปรับตัวของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันกระแสได้ตลอดแบบไม่ตกยุค และยอมรับว่า จากประสบการณ์ในอดีต เคยเจ็บตัวกับเรื่องเทคโนโลยีมาบ้าง ทำให้การเดินหน้าทุกอย่างต้องดูจังหวะที่เหมาะสมทุกครั้ง
หากเล่าถึงกรณีเก่าที่เคยประสบมา คือ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ทางโครงการได้มีการทำแคมเปญ แจกทีวีจอแบน 29 นิ้ว ซึ่งลูกค้าก็ให้ความสนใจดี ผ่านมาจนถึงวันที่ผมสร้างเสร็จตึกสุดท้าย โรงงานผู้ผลิตทีวีจอแบนบอกให้สั่งจำนวนที่ต้องการและจ่ายเงินเลย เพราะจะเป็นโปรดักชั่นสุดท้าย ล็อตสุดท้ายที่โรงงานจะผลิตแล้ว
ตอนนั้น ผมก็ลังเลว่า เราโฆษณาแจกทีวีจอแบน 29 นิ้วไปแล้ว จะแจกดีไหมเพราะเมื่อเทียบกับรุ่นใหม่ ขนาด 21-23 นิ้ว ที่มีราคาใกล้เคียงกันแต่ขนาดเล็กกว่านวัตกรรมภาพดีกว่า และยังเปลี่ยนจากจอแบนตู้สี่เหลี่ยมมาเป็นจอแบนแบบบาง ซึ่งทันสมัยกว่า ก็ยอมรับว่าขณะนั้น เราไม่กล้าเปลี่ยนสเปคเพราะตกลงกับลูกค้าไว้แล้ว ก็เลยต้องส่งต่อไปทั้งอย่างนั้น กลายเป็นว่าไม่นานทีวีจอแบนที่เราแจกไป ลูกบ้านเอามาวางขายในราคาถูก เพราะสินค้ามันตกยุคแล้ว
ดังนั้น สิ่งที่ผมเล่าคือจะบอกว่าเมื่อเทคโนโลยีมันเปลี่ยน โครงการใหม่ๆ ที่ทำ ก็จะ Concern เรื่องนี้ และจะป้องกันไม่ให้ปัญหาแบบนี้ซ้ำขึ้นมาอีก ถ้าทำได้เราอยากจะส่งมอบห้อง ที่แม้จะจองมาล่วงหน้า 2-3 ปีแล้ว แต่คุณต้องได้เทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุดในขณะนั้น
ทุกวันนี้ ทุกคนแห่สนใจในเรื่องของ Proptech จนลืมมองไปว่า เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยนั้น สามารถนำไปใช้งานได้อย่างเต็มความสามารถหรือไม่ จับต้องได้มากน้อยแค่ไหน เร่งด่วนไหมที่จะต้องทำ เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่อารียามองคือเรื่องความรู้สึกของลูกค้าและเทคโนโลยีต้องตอบโจทย์ความต้องการใช้งานได้จริง รวมทั้งยกระดับมาตรฐานให้ชีวิตลูกบ้านดีกว่าเดิม
อย่างการพัฒนาแอพพลิเคชั่นครั้งนี้ อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งของช่องทางการสื่อสาร ตรวจสอบความผิดพลาดและช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที แต่ทุกสิ่งอย่างลูกบ้านจะพึงพอใจเรื่องของแอพพลิเคชั่นมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ทีมบริการหลังการขาย ทีมช่าง สามารถเข้าไปช่วยเหลือและตอบสนองลูกบ้านได้ตรงตามที่รับปากไว้หรือเปล่า
การพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า อารียะเมินเฉยต่อการใช้เทคโนโลยี แต่จะเป็นการเลือกลงทุนสิ่งที่เหมาะสมเพื่อมาใช้ด้านนี้โดยเฉพาะ อย่างการนำที่จอดรถที่มาตรฐานของญี่ปุ่น ที่หลายคนเคยมองว่าการใช้ที่จอดรถอัตโนมัติจะเสียค่าใช้จ่ายสูง มีปัญหาเยอะแยะ แต่พอเราได้ฟังรายละเอียด อย่างเช่น การคำนวณระยะเวลาในการใช้งานเพื่อให้ลูกค้าสะดวกสบาย ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่น่าลงทุน
ลองจินตนาการถ้าคุณอยู่คอนโดมิเนียมสักแห่ง ถ้าต้องเดินออกจากห้อง ลงลิฟต์เพื่อไปลานจอดรถ ขึ้นลิฟต์และเดินไปยังตำแหน่งที่รถคุณจอด ขับวนลงมา คำนวนเวลากว้างๆ อาจมี 10-15 นาที แต่ลิฟต์ที่เรานำมาให้ลูกบ้านใช้งาน แค่คุณเดินลงมาจากห้อง คุณใช้แอพหรือการ์ด แตะไปที่ระบบลิฟต์ ส่วนคุณก็นั่งรออยู่เฉยๆ ที่ล็อบบี้ เพียง 3 นาทีรถก็มาจอดอยู่ที่หน้าตึก คิดว่าอย่างไหนที่เรียกว่าการใช้ชีวิตแบบมีสไตล์
ทั้งนี้ อารียา ยังได้ประกาศเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 4 ด้าน เพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ประกอบด้วย
1. งานออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นมาพร้อมกับคุณภาพ (Aesthetic Design & Premium Quality) ตอกย้ำผู้นำด้านนวัตกรรมและระบบก่อสร้าง เพื่อสิ่งที่ดีสำหรับลูกค้า เห็นได้จากผลงานคุณภาพในปีที่ผ่านมา อาทิ โครงการ Chalermnit Art de Maison และ The AVA Residences รวมถึงโครงการ The Color ซึ่งได้นำระบบ Aluminum Framework มาใช้ ทั้งนี้ อารียาฯ ได้คำนึงถึงการเป็นผู้นำในการใช้ระบบจอดรถอัจฉริยะ (Mechanical Parking) โดยนำระบบฯ ของบริษัท IHI Asia Pacific (Thailand) Co., Ltd. บริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น เข้ามาใช้เป็นรายแรก ซึ่งมีบริการดูแลหลังการขายที่ดีเยี่ยมตามมาตรฐานสากลของประเทศญี่ปุ่น
2. ความสุขและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Happiness) ทั้งหมด 6 สุข ด้วยนวัตกรรมสร้างความสุข ได้แก่ 1. สุขคนสร้าง 2. สุขเจ้าบ้าน 3. สุขลูกบ้าน 4. สุขเพื่อนบ้าน 5. สุขสิ่งแวดล้อม 6. สุขสังคม
3. นวัตกรรมที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ทุกรูปแบบ (Innovative Living) แอปพลิเคชั่นของลูกบ้าน ที่จะสามารถแจ้งปัญหาด้วยตนเอง โดยถ่ายภาพจุดที่เป็นปัญหา อัพโหลด เลือกวันเวลาในการแจ้งซ่อมและรอรับ Confirmation เพื่อเข้าซ่อม ลูกบ้านจะทราบชื่อและหน้าตาของเจ้าหน้าที่ได้ทันที ช่วยให้การรับแจ้งเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยปีนี้จะเพิ่มเรื่องพรีวิลเลจให้ลูกค้าก่อน และปี 2562 จะช่วยอำนวยความสะดวกในการจ่ายค่างวดบ้านได้ด้วย
4. การให้บริการดูแลลูกบ้านตั้งแต่เริ่มและหลังการขายอย่างสุดความสามารถ (Best in class after sales service) ผ่าน 4 แนวทาง คือ 1. ให้บริการอย่างรวดเร็ว 2. ด้วยคุณภาพการบริการ 3. บริการด้วยมาตรฐาน และการจัดอบรม 4. การเข้าถึงบริการด้วยคำสั่งจากปลายนิ้ว ผ่านทางแอปพลิเคชั่น AREEYA Family
ทางด้านของรายได้และผลประกอบการในปี 2560 นั้น วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี ประธานกรรมการอาวุโส บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการปีที่ผ่านมาโตขึ้นจากปี 2559 ที่ 39% จาก 8,004 ล้านบาท เป็น 11,125 ล้านบาท ทำให้ในปี 2561 บริษัทเชื่อมั่นว่าจะมีตัวเลขการเติบโตเพิ่มขึ้น 30% มูลค่ายอดขายรวม 14,370 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 8,366 ล้านบาท และแนวสูง 6,004 ล้านบาท
ทางด้านของผลประกอบการในปี 2560 ที่ผ่านมานั้น มียอดยกเลิกเทียบยอดขาย 29% ยอดโอนปิดที่ 4,958 ล้านบาท และยอดขายคอนโดที่ยังสร้างไม่เสร็จ ยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนการโอนได้ที่ 3,096 ล้านบาท รวมถึงโครงการสร้างใหม่ปี 2560 รวมทั้งสิ้น 7 โครงการ มูลค่า 11,000 ล้านบาท ทำให้ในปีนี้ บริษัทวางแผนเปิดตัวโครงการใหม่รวม 11 โครงการ แนวราบ 10 โครงการและแนวสูง 1 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 7,920 ล้านบาท
นอกจากนี้ โครงการที่จะเปิดใหม่ปีนี้ จะมีบ้าน ราคาตั้งแต่ 2-5 ล้าน และยังมีทาวเฮ้าส์และคอนโด ทำให้รวมแล้วจะมีเปิดใหม่อีก 20 กว่าโครงการ และยังมีนิวโปรเจคของคอนโด ที่ยังอยู่ในช่วงซื้อที่ดิน มูลค่าลงทุนกว่า 2,450 ล้านบาท ย่านชานเมืองที่มีดีมานด์สูง แต่ไม่ใช่ระดับลักชัวรี่
ต้องยอมรับว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีบ้านแนวราบเยอะ ทำให้ตลอด 5 ปี มีทั้งขึ้นๆลงๆ ตอนนี้บ้านแนวแมสมีความเสี่ยงสูง ทำให้ต้องเอาบ้านและคอนโดราคาระดับกลาง ไปขายให้ลูกค้าต่างประเทศที่มาอยู่ไทยแทน เพราะดีมานด์ยังมีอยู่ในทิศทางที่ดี เชื่อว่าในปีนี้เศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้น จากชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในไทยมากขึ้น