กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์หลังจากเพจ Au Bon Pain (Thailand) เปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นชื่อ “อุบลพรรณ by au bon pain” ที่เรียกทั้งเสียงฮือฮาและเสียงหัวเราะให้กับโลกออนไลน์
จากชื่อร้าน โอ บอง แปง (Au Bon Pain) แบรนด์สัญชาติอเมริกัน จนเกิดแคมเปญชื่อ ‘อุบลพรรณ’ เนื่องจากลูกค้ามักอ่านผิด จนกลายเป็นกระแสได้ใจทั้งลูกค้าเก่าและใหม่
ทีมงาน Thumbsup ขอพามารู้จัก ‘มัดแมน’ เจ้าของลิขสิทธิ์แบรนด์ โอ บอง แปง รวมถึงเปิดกลยุทธ์การตลาดยุคใหม่แบบเรียลไทม์ที่สร้างความสนุกด้วยคอนเทนต์ออนไลน์
วันนี้ได้รับเกียรติจากคุณลภาพร เตียสกุล CEO บริษัท มัดแมน จำกัด มหาชน และ คุณชนินทร์ นาคะรัตนากร Marketing Director แบรนด์ Au Bon Pain
ทำความรู้จัก “มัดแมน” เจ้าของแบรนด์ au bon pain
คุณลภาพร : บริษัทมัดแมนโดยภาพรวมแล้ว มีแบรนด์ในเครือกลุ่มแรกคือแบรนด์ที่ได้ลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ซึ่งก็มี au bon pain, Baskin Robbins, Dunkin’ Donuts ในส่วนของแบรนด์ที่มัดแมนเป็นเจ้าของเองคือ GREYHOUND Cafe, GREYHOUND Fashion, another hound, กินเฮ (Kin Hey) และ Gaihound ทีนี้ในการที่เราจะสามารถทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักหรือเติบโตได้ เราต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราต้องปรับสินค้าหรือรูปแบบการบริการให้สอดคล้องกับประเทศนั้นๆ ในหลายๆ เทรนต์ที่เกิดขึ้นเราก็จะต้องปรับให้สอดคล้องกับความต้องการลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพ
จาก Au-bon-pain สู่แคมเปญ “นางสาวอุบลพรรณ”
คุณชนินทร์ : แบรนด์ au bon pain อยู่ในประเทศไทยมาแล้ว 23 ปี เพราะฉะนั้นกลุ่มลูกค้าของ au bon pain ตอนนี้ปัจจุบันคือ กลุ่มลูกค้าที่โตมาด้วยตั้งแต่วันแรก ส่วนกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จะค่อนข้างเข้าถึงน้อย เพราะว่าจากที่ลองทำรีเสิร์ชกลุ่มลูกค้าก็จะเป็นวัยทำงานขึ้นไปซะส่วนใหญ่ ส่วนเด็กๆ หรือวัยรุ่นจะเป็นกลุ่มที่พ่อแม่พามาทานอาหารที่ร้าน au bon pain
จากนั้นรีเสิร์ชต่อว่าอะไรคือปัญหาของลูกค้าในการไม่เลือกเข้าร้าน au bon pain บ้าง จุดแรกที่เราสามารถค้นพบเลยก็คือ ลูกค้ายังเรียกชื่อร้านไม่ถูกด้วยซ้ำ ถ้าเราไปถามบางคนอาจจะไม่รู้จักคำว่า au bon pain แต่ในอีกมุมหนึ่งถามว่ารู้จักร้านอุบลพรรณรึป่าว ก็มีหลายคนตอบมาว่า “อ่อ รู้จักร้านอุบลพรรณที่ขายเบเกอรี่กับกาแฟไง”
เลยจับจุดได้ว่าคำว่า “อุบลพรรณ” นี่แหละมาเป็นคีย์การสื่อสารระหว่างลูกค้าเก่าและการดึงลูกค้าใหม่เข้ามาด้วย หลังจากนั้นเราก็มานั่งคิดกับทีมว่าแล้วถ้าเราจะเปลี่ยนให้อุบลพรรณมันดูวัยรุ่นขึ้น ดูสนุกขึ้น ควรทำยังไงดี ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเกิดนางสาวอุบลพรรณยังเปลี่ยนไม่พอ เพราะโลกปัจจุบันเราสามารถติดต่อสื่อสารหรือว่าเห็นข่าวจากต่างประเทศได้เยอะ ทำยังไงให้รู้สึกว่าใหม่ขึ้น อินเตอร์ขึ้น สมาร์ทขึ้น เราก็เลยเกิดคำว่า เฌอแปงขึ้นมา บทสรุปมันก็คือชื่อนางสาวอุบลพรรณ ชื่อเล่นว่าเฌอแปง
เปลี่ยนอย่างไรให้สนุก คนอยากติดตาม
คุณชนินทร์ : หลักที่วางไว้คือจะเปลี่ยน แต่ว่าราจะเปลี่ยนคาแรกเตอร์ในโลกโซเชียลมีเดีย หรือเปลี่ยนคาแรกเตอร์ของร้าน มันต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ลูกค้ารู้ว่าเราเปลี่ยนจริงๆ ไม่งั้นอยู่ดีๆ เรามาพูดว่าต่อไปนี้เราชื่อนางสาวอุบลพรรณ ชื่อเล่นชื่อเฌอแปงนะ ลูกค้าไม่รู้ว่าเราทำแบบนี้เพื่ออะไร ก็เลยเกิดแคมเปญ RIP ในโลกออนไลน์ RIP ของเราคือ RENEW IDENTITY and PERSONALITY ลูกค้าก็จะรู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะใจจดใจจ่อแล้วว่าพรุ่งนี้จะมีอะไร ทำให้กระแสพุ่งขึ้นไปอีกรอบ นี่ก็เป็นไทม์ไลน์ที่เราวางเอาไว้ เรียกว่า Revamp ไม่ถึงกับ Rebranding เพื่อให้รู้สึกสดใสขึ้น
ออนไลน์แฮปปี้ หน้าร้านลูกค้าเพิ่ม
คุณลภาพร : พอเปิดตัวออกมาแล้วทางฝ่ายขายก็แจ้งมาว่าดีมากเลยพี่ ลูกค้าใหม่เข้ามาเยอะ แฮปปี้มาก ดูออกเลยว่าอันนี้ลูกค้าประจำเขา หรือลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่ตามมาจากมือถือเข้ามาสั่งซื้อ
คุณชนินทร์ : สำหรับกระแสในโลกโซเชียลมีเดียถือว่าฟีดแบ็กดีมากคือเราตั้งใจที่จะเปลี่ยนจาก one-way communication จากที่แบรนด์สื่อสารโดยเฟซบุ๊ก ไปให้ผู้บริโภคได้รับรู้ แต่ว่าเราจะเปลี่ยนเป็นว่าผู้บริโภคก็สามารถฟีดแบ็กกับตัวน้องเฌอแปงกลับมาให้กับทางแบรนด์ได้ด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดการมีส่วนร่วมที่มากขึ้นระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคผ่านตัวกลางคือน้องเฌอแปง
การตลาดยุคใหม่ คอนเทนต์ต้องปรับตัว?
คุณชนินทร์ : การตลาดปัจจุบันเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ สมมุติสมัยก่อนเราอาจจะวางแผนไว้ 30 วันล่วงหน้า แล้วการทำการตลาดที่ถูกต้องสมัยก่อนก็คือถ้าสามารถทำงานตามแผนได้ 100% คือความสำเร็จ
แต่ในปัจจุบันสิ่งที่เราคิดว่าแบบ 30 วันข้างหน้าเราจะโพสต์แบบนี้ พอถึงเวลาจริงๆ แผนนี้ถูกคิดมาเมื่อ 15 วันที่แล้ว เพราะฉะนั้นแผนนี้อาจจะเก่าไปแล้วด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าการทำออนไลน์ต่างๆ อาจจะมีวางแผนเพื่อเป็นหลักมันเฉยๆ แต่ว่าในการโพสต์แต่ละวันเราต้องมอนิเตอร์วันต่อวันว่าแผนเรามันหมดอายุไปรึยัง
ทำการตลาดให้สนุก ผ่านเรียลไทม์คอนเทนต์
คุณชนินทร์ : ไม่ว่าจะเกิดกระแสในโลกออนไลน์ ลูกค้าก็จะรอแล้วว่าแบบสองแบรนด์นี้ (au bon pain, Baskin Robbins)เดียวเค้าต้องทำอะไรสักอย่าง แล้วพอเรากระโจนลงไปในกระแสนั้นอย่างเช่น au bon pain เปลี่ยนโลโก้ ทุกคนจะนั่งจ้องแล้วว่าเดียว Baskin Robbins น่าจะทำอะไรสักอย่าง แล้วพอเปลี่ยนเป็นบักขิ่น ทุกคนก็จะคิดว่า Baskin Robbins เป็นจอมขโมยซีนนะ
เราก็เลยรู้สึกว่า ลูกค้ารอเราครีเอทหรือสร้างสรรค์ความสนุกในโลกออนไลน์ให้เขา ในอีกช่องทางหนึ่งที่ไม่ใช่หน้าร้านที่เราให้ความสุขผ่านสินค้า แต่อีกโลกหนึ่งเขาก็ต้องการคอนเทนต์ดีๆ เพื่อให้เขารู้สึกอารมณ์ดี เพื่อให้เขาสามารถคุยกับเพื่อนได้ว่าแบบ เห็นไหม Baskin Robbins ทำแล้ว au bon pain ทำแล้ว กลายเป็นเรื่องสนุกในโลกออนไลน์เสียมากกว่า