เพราะแถบออสเตรเลียตะวันตกนั้นเป็นพื้นที่ที่มีการรายงาน การโจมตีของฉลามสายพันธุ์ต่างๆ มากที่สุดในโลก เพื่อระวังภัยให้ประชาชน นอกจากการตรวจตรากลุ่มฉลามโดยเฮลิคอปเตอร์แล้ว ล่าสุดกรมประมง ออสเตรเลียได้วางแผนใช้การเตือนภัยแบบใหม่ที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น
โดยการใช้งาน Shark Monitoring Network ที่กรมประมงได้ติดเครื่องมือติดตามที่ครีบของฉลาม เพื่อรับสัญญาณแจ้งที่ตั้ง ขนาด และสายพันธุ์ เมื่อใดก็ตามที่ฉลามที่ติดอุปกรณ์ ว่ายน้ำเข้ามายังอาณาบริเวณต่างๆ ที่ติดตั้งเครื่องมอนิเตอร์ไว้ ข้อมูลของฉลาดตัวนี้จะถูกทวีตขึ้น Twitter เพื่อเตือนภัยประชาชนในทันที
เพื่อช่วยประหยัดเวลา และทำให้การเตือนภัยการโจมตีของฉลามนั้นมีความรวดเร็วมากขึ้น การใช้งาน Shark Monitoring Network จะเข้ามามีบทบาทในการเตือนภัยควบคู่ไปกับการใช้เฮลิคอปเตอร์ หรือการเตือนภัยจากผู้พบเห็น ซึ่งในปัจจุบันกรมประมงได้ติดตั้งเครื่องมอนิเตอร์แล้ว 19 จุด พร้อมติดตามฉลามทั้งหมด 338 ตัว โดยทั้งหมดนั้นเป็นฉลามขาว, ฉลามเสือ และ ฉลามหัวบาตร
แต่อย่างไรก็ตามการเตือนภัยจาก Shark Monitoring Network นั้นไม่สามารถติดตามฉลามในทะเลได้ทุกตัว อีกทั้งมีการติดอุปกีณ์มอนิเตอร์ไว้ได้เพียงแค่บางจุดเท่านั้น ดังนั้นการระวังภัยจากประชาชนจึงยังคงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
แม้ประเทศไทยจะไม่มีฉลาม แต่แนวคิดการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อเตือนภัย หรือสื่อสารกับประชาชนโดยองค์กรรัฐนั้นยังคงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และผู้แปลเองอยากให้องค์กรต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการสื่อสารทางนี้มากขึ้น
ที่มา : Gizmag