Site icon Thumbsup

เปิดข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคจีน ที่นักการตลาดไทยไม่ควรพลาด

คุณชฎากร ธนสุวรรณเกษม

“ปี 2016 มีคนจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 8.8 ล้านคน และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่มาด้วยตัวเอง” คำกล่าวข้างต้นนี้เป็นของคุณชฎากร ธนสุวรรณเกษม อดีตผู้บริหาร Baidu คนแรกของประเทศไทย และปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท AVG Thailand จำกัด ในฐานะบริษัทผู้ให้บริการด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่เน้นการทำตลาดในประเทศจีนโดยเฉพาะ เผยออกมา ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ท้าทายศักยภาพของธุรกิจไทยทั้งเล็กและใหญ่ไม่น้อย

เหตุที่กล่าวว่าเป็นความท้าทายนั้น นอกจากจะเป็นเพราะรูปแบบการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เปลี่ยนไปจากการซื้อทัวร์เป็นการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้นแล้ว พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยก็ยังเปลี่ยนไปด้วยตามกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วย โดยพบว่า นักท่องเที่ยวในเมือง Tier 1 ซึ่งเป็นเมืองที่มีรายได้ต่อหัวสูง เช่น ปักกิ่ง เสินเจิ้น กวางโจว นั้นมีอัตราการเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง (โดยพบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น)

ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาไทยมากที่สุดตอนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากเมืองในกลุ่ม Tier 2 เช่น คุนหมิง (เพิ่มขึ้น 69%) ฉงชิ่ง (เพิ่มขึ้น 45%) และเทียนเจิ้น (เพิ่มขึ้น 44%) ซึ่งรูปแบบการซื้อสินค้าและบริการก็จะต่างกันไปด้วย ด้วยเหตุนี้ หากไม่มีข้อมูล Insight มากพอ อาจทำให้เกิดการซื้อโฆษณาที่ผิดพลาดได้ เช่น โฆษณาไปแสดงผลในเมืองที่คนสนใจเดินทางมาไทยน้อย หรือเป็นสินค้าที่คนในเมืองดังกล่าวไม่สนใจได้นั่นเอง

“การทำตลาดกับคนกลุ่ม Tier 2 สื่อดิจิทัลจะจำเป็นมาก ส่วน Influencer ช่วยได้แต่ไม่มาก เพราะถึงแม้จะรู้ว่า Influencer นั้น ๆ อยู่ในเมืองอะไร แต่เราก็ไม่รู้ว่าคนที่มาตาม Influencer นั้นมาจากที่ไหนอยู่ดี” คุณชฎากรกล่าว

ความท้าทายประการที่สองคือ การสร้าง Awareness จากในอดีตนักท่องเที่ยวมักมากับทัวร์ แบรนด์อาจฝากสินค้าไปกับไกด์ทัวร์ให้ช่วยแนะนำได้ แต่ในยุคที่คนจีนเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้นนั้น การตลาดดิจิทัลกลายเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเหนือกว่า เพราะชาวจีนจะหันหน้าเข้าสู่เสิร์ชเอนจินแทน การสร้าง Awareness ให้สินค้าในตลาดจีนจึงมีความสำคัญ ในจุดนี้คุณชฎากรเล่าว่า “เพื่อนคนหนึ่งยืนอยู่หน้าชั้นวางสินค้าในไทย กำลังดูสินค้าสองอย่างเปรียบเทียบกัน และสุดท้ายเขาก็หยิบตัวที่คนไทยไม่นิยมซื้อ เราก็บอกว่า ทำไมล่ะ คนไทยชอบใช้อีกยี่ห้อมากกว่านะ แต่เขาบอกว่า เขารู้จักสินค้าตัวนั้น เคยได้ยินชื่อตั้งแต่อยู่เมืองจีน ก็เลยตัดสินใจซื้อ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำไมการตลาดดิจิทัลจึงควรเริ่มตั้งแต่ผู้บริโภคยังอยู่ในประเทศจีน” คุณชฎากรเล่าให้เห็นภาพ

เปิดธุรกิจ 3 กลุ่มสนใจบุกตลาดจีน

นอกจากความท้าทายข้างต้นแล้ว ทาง AVG Thailand ยังเผยถึงแนวโน้มของการทำตลาดดิจิทัลเพื่อบุกตลาดจีนที่พบว่ามีการเติบโตในสามกลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ Target นักท่องเที่ยวจีน, กลุ่มส่งออก และกลุ่มนักลงทุน

โดยธุรกิจที่มีศักยภาพในกลุ่มสินค้าหมวดแรกแบ่งออกเป็นกลุ่มสินค้า กับกลุ่มบริการ (โรงแรมที่พัก) ซึ่งพบว่ากลุ่มสินค้าแบรนด์เช่น สาหร่ายเถ้าแก่น้อย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ได้รับการตอบรับดีจากชาวจีน รองลงมาคือเครื่องสำอาง และยารักษาโรคของไทย

“เครื่องสำอางไทยปีนี้คาดว่าจะโตเร็วมาก เพราะคนจีนชอบซื้อเครื่องสำอางเกาหลี แต่ปีนี้จีนกับเกาหลีมีปัญหากัน ไทยก็เลยน่าจะได้อานิสงค์ โดยกลุ่มที่ชาวจีนสนใจคือเครื่องสำอางแบรนด์ไทย และสินค้ากลุ่มสุดท้ายคือยา พวกแผ่นปิดบรรเทาปวด (กอเอี๊ยะ) ยาหม่อง ยานวด ยาอมแก้ไอตราตะขาบ ส่วนยาที่เป็นแบรนด์ต่างชาติอย่าง ฮีรูดอยด์ และเคาท์เตอร์เพน คนจีนก็นิยมซื้อเช่นกัน เพราะ เป็นแบรนด์ต่างชาติก็จริง แต่มีโรงงานผลิตในไทย ทำให้ราคาขายถูกกว่าในต่างประเทศ” คุณชฎากรกล่าว

สินค้าไทยบนเว็บไซต์จีน

ในหมวดที่สองซึ่งเป็นกลุ่มส่งออกนั้น AVG Thailand พบว่า ที่ผ่านมา คนจีนมีค่านิยมใช้ของเมืองนอกสูงก็จริง แต่สินค้าที่จะส่งออกไปจีนได้ต้องมีทีมเยอะมาก แต่ในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยี และอีคอมเมิร์ซเข้าช่วยทำให้หลายอย่างสะดวกมากขึ้น ซึ่งถ้ามีการส่งเสริมให้สินค้าไทยไปอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์มาก

“ตอนนี้บนเถาเป่า มีสินค้าไทยขายอยู่มากก็จริง แต่น้อยมากที่จะเป็นเจ้าของคนไทยไปเปิดเอง ส่วนมากเป็นคนจีนซื้อสินค้าไทยไปขาย ซึ่งการซื้อของไทยไปขาย ก็หิ้วเข้าไป หรือให้เพื่อนในไทยส่งไปให้”

กลุ่มสุดท้าย กลุ่มนักลงทุนที่มาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกรณีนี้มีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างแสนสิริ จึงทำให้มีแบรนด์อื่น ๆ ต้องการรุกตลาดจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คำแนะนำจากคุณชฎากรคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยที่สนใจควรไปลงทุนโฮสต์ติ้งในจีนหรือฮ่องกงจะดีกว่า เนื่องจากชาวจีนติดขัดด้านการเข้าเว็บไซต์จากต่างประเทศตามนโยบายของรัฐบาลจีนนั่นเอง

“พฤติกรรมของคนจีนจะชอบแชท และต้องมีคนตอบเดี๋ยวนั้นด้วย ทำให้นอกจากจะต้องลงทุนด้านโฮสต์ติ้งแล้ว ยังอาจต้องมีทีมขาย หรือทีมงานประจำในประเทศจีนเลย ซึ่งในจุดนี้หากแบรนด์ไม่สามารถทำได้ ทาง AVG Thailand เองมีทีมงานในจีนให้บริการกว่า 50 รายเช่นกัน”

ทั้งนี้ จากเทรนด์ดังที่กล่าวมาแล้ว ทาง AVG Thailand คาดการณ์ว่า ในปีหน้า เม็ดเงินด้านการลงทุนในการตลาดประเทศจีนมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้น และจะมีธุรกิจ หรือสินค้าจากไทยสามารถบุกตลาดในจีนได้มากขึ้นด้วย