เป็นที่แน่นอนแล้วว่าคณะกรรมการโอลิมปิกของสหรัฐอเมริกาหรือ USOC จะลงดาบไม่ให้แบรนด์ที่ไม่ใช่สปอนเซอร์หลัก โพสต์ข้อความติดแฮชแทค #Rio2016 รวมถึงแฮชแทคอื่นที่เกี่ยวข้องกับมหกรรมเกมกีฬาโลก เรียกว่าต้องการสงวนแฮชแทคเหล่านี้ไว้สำหรับแบรนด์ที่เป็นสปอนเซอร์เท่านั้น
แม้ประชาชนทั่วไปจะสามารถใช้ hashtag ในข้อความบรรยายถึงนักกีฬาคนโปรดว่า #Rio2016 ได้โดยไม่มีข้อห้าม แต่สำหรับการทวีตในนามบริษัทนั้นจะถูกฟ้องร้องแน่นอนหากมีการฝ่าฝืนสิทธิ์ที่คณะกรรมการโอลิมปิกส์มอบให้กับแบรนด์ผู้สนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นทางการ เป็นเงินมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ
สิ่งที่คณะกรรมการ United States Olympic Committee ทำนั้นไม่ต่างจากผู้จัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกรายการอื่นที่เริ่มหันมาพิทักษ์สิทธิ์ของสปอนเซอร์ด้วยการกำหนดแฮชแทคต้องห้ามโดยใช้อำนาจของกฏหมายเครื่องหมายการค้า ซึ่งนอกเหนือจากสหรัฐฯ ประเทศอื่นก็กำลังเดินตามนโยบายแฮชแทคต้องห้ามนี้
การกำหนดแฮชแทคต้องห้ามนี้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับข่าวพิลึกที่เกิดขึ้นเมื่อมหกรรมโอลิมปิกส์ครั้งที่แล้วที่ลอนดอนปี 2012 ช่วงเวลาดังกล่าว คณะกรรมการโอลิมปิกส์เคยสั่งห้ามทีมงานผู้เกี่ยวข้องกับพิธีเปิดและปิด ไม่ให้ซื้อมันฝรั่งทอดจากยี่ห้ออื่นที่ไม่ใช่ McDonalds ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักของงาน แต่ข้อห้ามนี้ถูกยกเลิกไปเพราะทนกระแสวิจารณ์ไม่ไหว และคณะกรรมการต้องการรักษาภาพลักษณ์ที่ดีงามของโอลิมปิกส์ไว้
สำหรับกฏหมายที่คณะกรรมการ USOC จะปรับใช้เพื่อให้สามารถเอาผิดแบรนด์ที่ไม่ใช่สปอนเซอร์ แต่แอบแทรกตัวเข้าไปมีส่วนร่วมในบทสนทนาโอลิมปิก นั้นเป็นกฏหมายที่ถูกเสนอครั้งแรกเมื่อปี 2013 โดยผลจากกฏหมายนี้ ทำให้คณะกรรมการมีอำนาจในการสงวนการใช้งานแฮชแทคที่จดทะเบียนแล้วหรือ registered hashtag ได้บนโลกโซเชียล
ก่อนหน้านี้ หลายคนมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะห้ามไม่ให้บทสนทนาบนโลกออนไลน์พูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ข่าวนี้สะท้อนว่าหลายอย่างเริ่มเป็นไปได้ เช่นการห้ามใช้แฮชแทคในรายการด้านล่างนี้ ที่เริ่มประเดิมแล้วในแดนเสรีภาพอย่างเมืองลุงแซม
ที่มา : BBC