แม้ว่า 60% ของบริษัทสตาร์ทอัปจะ “อยู่รอด” ในช่วง 3 ปีขึ้นไป แต่จะมีเพียง 35% เท่านั้นที่อยู่รอดถึงปีที่ 10 ขณะที่ 90% ของบริษัทอินเทอร์เน็ตเกิดใหม่มีอายุเพียง 4 เดือนเท่านั้น เพราะจำใจปิดตัวลงในช่วง 120 วันแรก
ธุรกิจ E-Commerce จัดได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลการสำรวจพบว่าในแต่ละไตรมาสพบว่ามีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ในสหรัฐฯ มากถึง 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะสามารถทำสถิติเพิ่มสูงขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 334,400 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2017 โดยตั้งแต่ปี 2007-2013 ธุรกิจออนไลน์มีการเติบโตอยู่ที่ 10.4% และคาดว่าในอนาคตจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 8.8% ต่อปีไปจนถึงปี 2017
มูลค่าแวดวงออนไลน์ที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล บวกกับการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ทั้งหมดนี้ทำให้บริษัทออนไลน์น้อยใหญ่ผุดขึ้นใหม่เป็นดอกเห็ดในช่วงระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา จุดนี้มีการประเมินว่าธุรกิจออนไลน์หน้าใหม่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากผู้ประกอบการ 52,969 รายเป็น 61,000 รายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้
แต่การดำเนินธุรกิจก็ไม่ได้มีแต่ด้านบวกหรือด้านที่สวยงามเพียงอย่างเดียว เว็บไซต์ Chargeback.com อ้างอิงข้อมูลจากผลสำรวจของ “สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐอเมริกา” (The U.S. Bureau of Labor Statistics) พบว่า ธุรกิจหน้าใหม่ (Start-ups) ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯสามารถอยู่รอดภายในระยะ 3 ปีคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 60% และมีเพียง 35% เท่านั้นที่สามารถอยู่รอดต่อจนถึง 10 ปี และยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า ธุรกิจเกิดใหม่บนโลกออนไลน์กว่า 90% มีแนวโน้มที่ต้องเผชิญกับความล้มเหลวในการทำธุรกิจภายในระยะเวลาเพียงแค่ 120 วันเท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจ E-Commerce ส่วนใหญ่ล้มเหลว คือการประเมินการทำธุรกิจ E-Commerce ต่ำเกินไปโดยเฉพาะขั้นตอนในการดำเนินการและต้นทุน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่การขาดการวางแผนในการดำเนินธุรกิจที่รัดกุมและชัดเจน, ขาดการเอาใจใส่และละเลยในการทำการตลาด รวมถึงการให้บริการ และที่สำคัญ คือ เว็บไซต์มีรูปแบบการใช้งานที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ
รูปแบบการใช้งานของเว็บไซต์ที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ หมายถึง เว็บไซต์มีขั้นตอนการใช้งานที่ยุ่งยาก, ซับซ้อน, มีรูปภาพขนาดใหญ่ และมีข้อมูลมากเกินไปทำให้เสียเวลาโหลดข้อมูล โดยผลการสำรวจพบว่าเว็บไซต์สำหรับธุรกิจ E-Commerce ในปัจจุบันมีอัตราการเกิดความล้มเหลวในการใช้งานมากถึง 45% (Task Failure Rate) เนื่องจากเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน ส่งผลทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หนีไปหาแบรนด์อื่นที่มีเว็บไซต์เอื้อต่อการใช้งานมากกว่า
ที่มา: Chargeback