นวัตกรรม คือ “หัวใจหลัก” ที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จและเกิดความมั่นคงที่ยั่งยืน เกิดการค้นพบสินค้าและบริการใหม่ที่ตลาดต้องการ หรือพบวิธีการทำงานแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม รวมไปถึงรูปแบบใหม่ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา นวัตกรรมจะช่วยสร้างทั้งคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้นให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภค รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ส่งผลดีต่อองค์กร ต่อสังคม และเศรษฐกิจของประเทศ
ความหมายของ “นวัตกรรม (Innovation)” โดยทั่วไปหมายถึง “การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ หรือการปรับปรุงจากสิ่งเดิม ที่เกิดจากการนำความรู้ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไปพัฒนาให้เกิดคุณค่าต่อลูกค้า ต่อองค์กร ต่อสังคมและประเทศชาติ” หรือ หมายถึง “การทำสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม” ทั้งนี้การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่จำเป็นต้องขจัดสิ่งที่มีอยู่เดิมออกไปทั้งหมด แต่อาจเป็นการต่อยอดจากสิ่งเดิมที่มีอยู่มาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับโอกาสและสภาวการณ์ เพื่อให้ได้ สินค้าใหม่ การบริการใหม่ กระบวนการทำงานใหม่ หรือรูปแบบของธุรกิจใหม่ ที่สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นได้
คนทั่วไปมักเข้าใจว่า “นวัตกรรม” คือสิ่งใหม่ที่คนไม่เคยคาดคิดมาก่อนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความใหม่เป็นแค่หนึ่งในองค์ประกอบ โดยเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมเท่านั้น เพราะ “นวัตกรรม” จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีทั้งเหตุและทั้งผลลัพธ์ด้วย ซึ่ง “เหตุ” หมายถึง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Initiative) บวกกับ ความเพียรพยายาม (Effort)
ในส่วนของความคิดสร้างสรรค์นั้น อาจจะเกิดขึ้นได้จากเหตุบังเอิญ (ฟลุ๊ค) หรือเกิดจากการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ต่อยอดให้เกิดการค้นพบ (Discovery) แล้วนำสิ่งที่ค้นพบ หรือความคิดริเริ่มเหล่านั้นมาใส่ความเพียรพยายาม หรือ Effort จนเกิดเป็นผลงานนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ ถ้ามีแต่ความคิดริเริ่มแล้วไม่มีความเพียรพยายาม ก็จะไม่สามารถสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้เลย
ขึ้นชื่อว่า “นวัตกรรม” แล้วแทบไม่มีใครทำครั้งเดียวแล้วสำเร็จ นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ล้วนผ่านความล้มเหลวมามากมาย ตัวอย่างเช่น สองพี่น้องตระกูลไรต์ที่ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องบิน ในช่วงแรกผู้คนต่างมองว่าเป็นเรื่องตลกที่คนเราอยากจะบินได้เหมือนนก แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพียรพยายามลองผิดลองถูกโดยไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอยของสองพี่น้องตระกูลไรต์จึงทำให้มนุษยชาติสามารถก้าวขึ้นสู่ยุคแห่งการจราจรทางอากาศ ย่อโลกทั้งใบให้สามารถเดินทางหากันได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
การเรียนรู้ บ่อยครั้งเกิดขึ้นจาก “ความเจ็บปวด”
ความเจ็บปวด บางครั้งก็เกิดจาก “ความกล้า ทั้งที่ไม่รู้จริง”
แต่ประเด็นสำคัญคือ “เจ็บแล้วต้องจำ และต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา”
การเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการอ่านตำรา คนที่อ่านตำราอย่างเดียวทำนวัตกรรมไม่ได้ เพราะนวัตกรรมจะเป็นจริงได้ ต้องลงมือทำ และเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น จะต้องเรียนรู้ว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร แล้วลองผิดลองถูกต่อไปเพื่อค้นหาว่าสิ่งที่ใช่เป็นอย่างไร เปรียบดังโลกของการทำงาน เด็กจบใหม่แทบทุกคนมักผ่านกระบวนการเรียนรู้จากความผิดพลาดและการลองผิดลองถูกตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานวันแรก แต่หลังจากที่ได้ผ่านการเรียนรู้มากขึ้น ก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ
“นวัตกรรม” จะยิ่งใหญ่และยั่งยืนได้ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และรวมไปถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้นจะมองเพียงผลที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองผลกระทบให้ครบทุกด้าน ตัวอย่างเช่น ต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบในทางลบกับสังคม ศีลธรรม กฎหมาย หรือ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของแต่ละพื้นที่ เป็นต้น
กระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับ SMEs ไทย
องค์กรนวัตกรรม ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับโลก ต่างก็ต้องพยายามค้นหาเคล็ดลับของกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เหมาะสมกับสภาวการณ์และบริบทขององค์กรตนเอง ซึ่งมักจะแตกต่างกันไป แทบทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น
3M มีนโยบายใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลกับกระบวนการวิจัยและพัฒนา และนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการค้นพบใหม่ๆ มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยมุ่งเน้นใน 5 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มพลังงานและไฟฟ้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ (Health Care) กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม กลุ่มความปลอดภัยและป้ายสัญญาณต่างๆ
Google ใช้การออกแบบสถานที่ทำงานที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ตลอดเวลา (Innovative Workplace) ช่วยให้พนักงานมีอิสรเสรีในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีบรรยากาศของการทำงานเป็นทีม รวมถึงสร้างวัฒนธรรมการยอมรับกับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในการสร้างสรรค์ใหม่ๆ กระตุ้นให้คนของ Google กล้าคิดและกล้าที่จะสร้างสิ่งประดิษฐ์ บริการใหม่ๆ ในเชิงนวัตกรรมได้มากมายยิ่งขึ้นทุกปี
Apple ใช้หลักความเรียบง่ายในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม นำเสนอประสบการณ์การใช้งานที่เป็นมิตร เน้นหลักการทำงานน้อยๆ ให้ได้ผลงานมากๆ เช่น เพียงปุ่มเดียวหรือหน้าจอเดียวก็สามารถทำงานได้หลายหน้าที่ เช่น ปุ่ม Home หรือ หน้าจอ Touch Screen หน้าจอเดียวสามารถเข้าถึงโปรแกรมได้จำนวนมาก ทั้งยังเน้นการให้บริการที่ยอดเยี่ยมให้กับลูกค้าผ่านร้าน iStudio ของ Apple ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของ Apple ประสบความสำเร็จได้อย่างมากมายในตลาดทั่วโลก
ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างของสามบริษัทระดับโลก ที่ถือว่าเป็นองค์กรนวัตกรรมชั้นนำ ซึ่งล้วนมีเคล็ดลับการสร้างผลงานนวัตกรรมในแนวทางของตนเอง สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ก็ต้องพยายามค้นหาเคล็ดลับของกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กรตนเองเช่นกัน กล่าวคือ ต้องหาหนทางในการสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า สินค้าหรือบริการที่จะนำออกสู่ตลาด สามารถสร้างคุณค่าและคุณประโยชน์ที่มากกว่าให้กับผู้บริโภคและผู้อื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างแท้จริง รวมทั้งมีความคิดในเชิงสร้างสรรค์ที่โดดเด่นและยากต่อการลอกเลียนแบบ มีมาตรฐาน และคุณภาพที่ดี มีความใหม่หรือทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และมีช่องทางหรือตลาดใหญ่เพียงพอสำหรับขยายผลในเชิงพาณิชย์ ซึ่งประเด็นหลังนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศไทย เพราะบ่อยครั้งที่ผู้ประกอบการ SMEs มีสินค้าหรือบริการที่ดี แต่ขาดช่องทางในการเข้าถึงตลาดหรือผู้บริโภคจำนวนมาก ผลงานนั้นก็ไม่สามารถขยายผลเชิงพาณิชย์ไปสู่ผลงานนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จได้
ดังนั้นผู้ประกอบการ SMEs ไทย ควรต้องมองหากลยุทธ์ในการเข้าถึงตลาดหรือผู้บริโภคจำนวนมาก ที่ใช้การลงทุนน้อยแต่ได้ผลเยอะ นั่นคือ การใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายแบบ B2B (Business to Business) ซึ่งแม้แต่องค์กรนวัตกรรมระดับโลกอย่าง Apple ก็ยังต้องนำกลยุทธ์นี้มาใช้ กรณีตัวอย่าง คือการที่ Apple จับมือกับค่ายผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก อย่าง Ferrari, Honda, Hyudai, Jaguar, Mercedes-Benz และ Volvo เพื่อร่วมกันออกแบบเครื่องเล่น Carplay สำหรับติดตั้งในรถยนต์สุดหรู สามารถสั่งการด้วยเสียงพูด และเชื่อมต่อ การใช้งานกับผลิตภัณฑ์ของ Apple อย่าง iPhone และ iPad ได้
ด้วยกลยุทธ์แบบ B2B นี้ ทำให้บริษัท Apple สามารถประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขยายฐานลูกค้า อีกทั้งยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ใหม่ไปสู่ตลาดผู้ใช้รถยนต์ทั่วโลกได้ในระยะเวลาอันสั้น ในขณะเดียวกันผู้ผลิตรถยนต์เองก็ได้นวัตกรรมจากค่ายของ Apple เข้าไปเป็นอุปกรณ์เสริมในรถยนต์ที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันของเจ้าของรถผู้ใช้งานได้อีกด้วย เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้ง Apple บริษัทผลิตรถยนต์ และผู้บริโภค
“B 2 B” จึงถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญ และเป็นเคล็ดลับของกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทย ควรศึกษาแล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กรตนเอง
ปัจจุบันประเทศไทยได้มีโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนหลายโครงการ ที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทย ให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ และหนึ่งในโครงการความร่วมมือที่จะขอกล่าวถึง ณ ที่นี้คือ โครงการประกวดรางวัล “สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards (เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์)” ซึ่งเกิดขึ้น จาก “โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ” โดยความร่วมมือระหว่าง 6 องค์กรที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถนำผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่คิดค้นได้มาทำการทดสอบกับกลุ่มลูกค้า หรือผู้บริโภคในตลาดจริง ผ่านทางช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีอยู่หลากหลายช่องทางของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยผู้ที่ชนะการประกวด จะได้รับเงินรางวัล พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณ รวมถึงโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจที่สูงขึ้น ผ่านทางช่องทางการจัดจำหน่ายของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งรวมไปถึงร้าน 7 Eleven ที่มีจำนวนมากกว่า 7,500 สาขาทั่วประเทศ (คล้ายกับกลยุทธ์ B2B ซึ่ง B ตัวแรก คือ SMEs ส่วน B ตัวหลัง คือ ซีพี ออลล์)
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
สำหรับการประกวดสุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards ในปี 2557 มีจำนวนผลงานเข้าร่วมการประกวดรวม 81 ผลงานและมีจำนวนผลงานที่ได้รับรางวัล 19 ผลงาน แบ่งเป็นผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม จำนวน 5 ผลงาน และผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจำนวน 14 ผลงาน โดยมีการประกาศผลและมอบรางวัลฯ ไปแล้วเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 ณ หอประชุมปัญญาภิวัฒน์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถ.แจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี โดยได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากท่านอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมตัดสินรางวัล โดยมีท่านกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัล สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards ด้านสังคม และท่านปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานมอบรางวัล สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards ด้านเศรษฐกิจ
สำหรับผู้ประกอบการที่มีความสนใจจะเข้าร่วมการประกวด “สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards (เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์)” สามารถติดต่อและดูรายละเอียดได้ที่ www.7innovationawards.com
ขอบคุณภาพจาก
DigitalTrends
Apple-Singapore
editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษ (ที่เราเรียกว่า Guest Post) ดย คุณพูลสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์ Innovation Center Director บริษัท CP All Public Company Limited บทความนี้ผู้เขียนส่งมาให้ กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ชาว thumbsup โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนเขียน ไม่สะท้อนแนวคิดของกองบรรณาธิการ thumbsup เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน
บทความนี้ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เขียน ซึ่งมี thumbsup เป็นผู้เผยแพร่เดียวที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ หากต้องการนำบทความไปใช้กรุณาให้เกียรติด้วยการอ้างอิงชื่อผู้เขียนและลิงก์ กลับมายังบทความต้นฉบับ