จำได้ว่าสมัยผมเรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ ปี 2541 ประเทศของเรากำลังประสบวิกฤต IMF บัณฑิตตกงานกันแทบทั้งประเทศ เพื่อนๆ ของผมที่จบมารุ่นราวคราวเดียวกัน ถ้าไม่มีเส้นสาย หรือไปเปิดธุรกิจส่วนตัว ก็แทบจะไม่มีโอกาสทำมาหากินกันเลยทีเดียว ตอนนั้นจำได้ว่าผมกลุ้มใจหางานไม่ได้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่เช้าวันหนึ่งขณะที่คิดจะออกไปสมัครงานใหม่ พ่อก็เรียกผมเข้าไปพบ และเริ่มต้นบทสนทนาที่จะเปลี่ยนชีวิตผมไปตลอดกาล
พ่อถามผมเรียบๆ ว่าวันนี้จะไปไหนหรือเปล่า ผมบอกว่าจะออกไปหางานทำ พ่อก็เลยบอกว่าถ้าไม่ได้นัดใครเป็นพิเศษ อยากจะให้ไปพบเพื่อนพ่อคนหนึ่ง ผมถามกลับไปว่าเพื่อนพ่อเป็นใคร พ่อตอบว่า “เพื่อนพ่อชื่อสนธิ” พร้อมกับเล่าสรรพคุณว่าเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยความซื่อตามประสาเด็กๆ ผมก็ไม่คาดคิดว่าพ่อจะพาไป “ฝากงาน”
พอไปถึงผมก็พบว่า เพื่อนพ่อคนที่เพิ่งได้ยินชื่อเมื่อเช้าคือ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล แห่งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ พ่อพูดคุยกับคุณสนธิแบบคนคุ้นเคยกันมานาน คุณสนธิเป็นคนพูดเสียงดังหนักแน่น พูดจามีความรู้ดูน่าเชื่อถือ นาทีนั้นผมก็เพิ่งมารู้ทีหลังว่า คุณพ่อกับคุณสนธิเป็นเพื่อนนักเรียนไทยในอเมริกา เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเดียวกัน แถมยังเป็นรูมเมทกันอีกด้วย เมื่อ “พ่อ” กับ “อา” เจรจาต้าอ่วยกันสนุก เด็กอย่างเราก็นั่งนิ่งๆ เงียบๆ ไว้ก่อน จนกระทั่ง…
“จบอะไรมาล่ะเราน่ะ” คุณสนธิเอ่ยถามบัณฑิตหนุ่มใหม่หมาดที่นั่งทำหน้างงงงอยู่
“นิเทศศาสตร์ วิทยุโทรทัศน์ครับ” ผมตอบยิ้มๆ
“อยากทำอะไรล่ะ” แกย้อนถาม
“ดีเจครับ ผมชอบดนตรี อยากเปิดเพลง” (ตอบได้ซื่อมาก กำลังคุยกับเจ้าของหนังสือพิมพ์ เสือกบอกอยากเป็นดีเจ)
“อืมม ผมก็เพิ่งซื้อคลื่นวิทยุมาเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่รายการเพลงนะ เอาอย่างนี้ ไปเป็นนักข่าวก่อนก็แล้วกัน”
สิ้นเสียงนั้น ผมมารู้ตัวอีกทีก็ถูกแผนกบุคคลพามากรอกใบสมัคร เริ่มต้นอาชีพ “นักข่าวบันเทิง” แล้ว
ช่วงปี 2541 – 2546 เป็นช่วงที่ผมเรียนรู้อะไรเยอะมาก เทคนิคการคิด และเขียนข่าว, การจับประเด็น, การบิดและพลิกประเด็น, การทำข่าวเชิงสืบสวน, การสร้างสายสัมพันธ์กับแหล่งข่าว แต่สิ่งที่ผมคิดว่าผมได้เรียนรู้มากที่สุดเลยก็คือ “วิธีคิดแบบคนข่าว” ซึ่งผมไม่เคยคิดเลยครับว่าวันหนึ่งผมจะสามารถเอาวิธีคิดเหล่านี้มาใช้ประกอบอาชีพนักการตลาดดิจิทัลได้
จากจุดนี้เองมันทำให้ผมเห็นอะไรบางอย่าง ที่เป็นทั้ง “ข่าวร้าย” และ “ข่าวดี” ของอาชีพ “นักข่าว”
ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายจากเทคโนโลยีดิจิทัล ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนตัวเองสู่โลกออนไลน์ ก็ต้องรีบขยายไปสู่สื่อโทรทัศน์ เพราะเม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่ก็อยู่ตรงนั้น “ข่าวร้าย” ของอาชีพนักข่าวคือ ถ้าคุณไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองจากคนที่คิดและเขียนเพื่อนำเสนอข่าวสารบนกระดาษอย่างเดียว ไปสู่การคิด เขียน ทำคลิป และสนทนากับผู้อ่านบนโลกออนไลน์ได้ อาชีพคุณก็จะอยู่ในข่ายอันตราย เพราะผู้บริโภคยุคนี้มีทางเลือกในการเสพข่าวสารจากสื่อออนไลน์อื่นๆ มากมาย
แต่ในขณะเดียวกัน “ข่าวดี” ของอาชีพนักข่าวนักเขียนก็คือ คุณจะกลายเป็นคนที่มีความเป็น “นักเล่าเรื่อง” สูง คุณรู้อยู่แล้วว่าการคิด เขียน วางประเด็นอย่างไรที่จะนำเสนอให้จับใจคน ทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนด้วยภาพและเสียง เพียงแต่คุณคิดว่าคุณอาจจะไม่ได้ทำงานให้กับองค์กรสื่อแล้วเท่านั้นเอง ลองคิดดูว่าคุณยังคงได้คิด ได้เขียน ได้ทำ Content แบบที่คุณชอบ เพียงแต่คุณอาจจะหันไปทำงานให้กับองค์กรต่างๆ ที่ต้องการคนที่มีทักษะด้านการผลิต Content ไปใส่ใน Blog, เว็บไซต์, Social Media, หนังสือประจำปี, เอกสารชี้ชวนต่างๆ ตลอดจนสัมมนาขององค์กร ทั้งหมดนี้กลายมาเป็นหนึ่งในรูปแบบการตลาดที่เรียกกันว่า “Brand journalism”
ทำไมถึงต้องทำอย่างนั้น? นั่นเป็นเพราะการตลาดสมัยนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการซื้อสื่อ คิดทำหนัง “โฆษณา” ขายของ แต่มันยังมีมิติของการคิดทำ Content ที่มีคุณค่าต่อผู้คน ทำ Content อย่างไรให้คนยุคใหม่ที่กำลังมองหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการด้วยตัวเองมาค้นเจอได้ง่ายๆ ทำอย่างไรที่เราจะทำ Content ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน และหันกลับมามองแบรนด์ในด้านที่ดี ซึ่งท้ายที่สุดมันก็มีผลดีกับธุรกิจได้ด้วย
พูดง่ายๆ คนที่มีทักษะแบบอาชีพนักข่าวนั้น สามารถกลายมาเป็นนักการตลาดที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Brand journalism ได้ไม่ยากเลยครับ เพียงแต่คุณต้องอาศัยการฝึกฝนเพิ่มเติมมุมมองบางอย่างที่นักการตลาด หรือคนจบ MBA มา ถ้าทำได้ คุณจะมีโอกาสทางหน้าที่การงานที่กว้างมากขึ้นครับ ผมเคยเขียนเรื่องนี้เอาไว้ในบทความ การเลือกเส้นทางอาชีพสำหรับคนรักการเขียน เอาไว้ อ่านประกอบกันได้เลยครับ
เกี่ยวกับคอลัมน์: “หมายเหตุดิจิทัล” คอลัมน์รายสะดวกส่วนตัวของ จักรพงษ์ คงมาลัย หนึ่งในกองบรรณาธิการ thumbsup ที่จะเขียนถึงภาพใหญ่ ภาพรวมในเชิงโครงสร้างของวงการธุรกิจดิจิทัล รวมถึงความเป็นไปในวงการธุรกิจดิจิทัลทั้งไทยและเทศที่เราคุ้นเคย