ภาครัฐผนึกภาคอุตสาหกรรมเปิดมหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในงาน “Bangkok International Digital Content Festival 2019” หรือ BIDC 2019 ครั้งที่ 6 ภายใต้แนวคิด Digital Co-Creation เป็นการผนึกพลังความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ส่วนกับครีเอเตอร์ 3 ราย เผยรายละเอียดที่น่าสนใจอย่าง Switch Panda แนะสร้างคาแรกเตอร์ให้แข็งแรงแล้วจะต่อยอดไปในช่องทางอื่นได้ ส่วน Kuro & Friends มองเรื่องฃการสร้างสินค้า-ขายไลเซนส์เป็นช่องทางสร้างรายได้ที่น่าสนใจ และ Quan (Thailand) เชื่อตลาดครีเอเตอร์โตได้อีก เพราะมูลค่าตลาดคิดเป็น 5-10 เปอร์เซ็นต์ของตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น
ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมร่วมมือกันจัดงาน Bangkok International Digital Content Festival 2019 หรือ BIDC 2019 ครั้งที่ 6 โดยมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ร่วมกับภาคเอกชน LINE CREATORS MARKET โดย LINE ประเทศไทย และ 5 สมาคมจากภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ประกอบด้วย สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมอีเลิร์นนิ่งแห่งประเทศไทย (e-LAT) และสมาคมธุรกิจบางกอก เอซีเอ็มซิกกราฟ (BASA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA)
ผู้จัดงานระบุว่าการจัดงาน BIDC 2019 เพื่อแสดงศักยภาพความพร้อมของอุตสาหกรรม สนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งของเศรษฐกิจประเทศ และสร้างโอกาสในธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ทั้งด้าน Animation, Game, Character, E-Learning, Computer Graphics, Visual Effect รวมถึงเทคโนโลยีใหม่และการศึกษาให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งได้ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลคอนเทนต์ในภูมิภาคเอเชีย
คาดตลาดปีนี้โตเกือบ 3 หมื่นล้าน
อารดา เฟื่องทอง นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ข้อมูลผลสำรวจแนวโน้มการเติบโตมูลค่าดิจิทัลคอนเทนต์ในไทยปี 2561 จาก depa คาดว่าจะแตะระดับกว่า 27,005 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2562 มีมูลค่ากว่า 29,358 ล้านบาท
โดยสาขาอุตสาหกรรมแอนิเมชันมีคาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 9% ในปี 2562 และยังคงการเติบโตเป็น 9% ในปี 2562 ขณะที่สาขาเกมคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 9% ในปี 2561 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 9% ในปี 2562
สำหรับสาขาคาแรคเตอร์คาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 12% ในปี 2561 และ 11% ในปี 2562 ซึ่งจากตัวเลขการเติบโตแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมดังกล่าวที่ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลคอนเทนต์ในภูมิภาคเอเชีย
“แต่เมื่อไรที่จะต้องไปทำการค้าหรือทำธุรกิจระหว่างประเทศ เรื่องนี้กลุ่มครีเอเตอร์จะไม่เก่ง เนื่องจากของมันไม่ได้เป็นชิ้น ๆ แต่มันเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ การขายไอเดียต้องทำอย่างไร และต้องช่วยหา Business Model ไหนที่เหมาะสมมากที่สุดสำหรับเขา รวมถึงต้องไปดูว่าทำอย่างไรให้ Product ไปสร้าง Value ทางเศรษฐกิจได้ต่อไป” อารดา กล่าว
ทางด้านนพ ธรรมวานิช ผู้แทนสมาคมจากภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ในฐานะผู้แทนภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับบทบาทสำคัญของกลุ่มสมาคมได้ดำเนินการสนับสนุน ช่วยเหลือด้านธุรกิจการค้าและการพัฒนาสินค้าแก่สมาชิก รวมถึงสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
“ประเทศเราน่าจะเป็นประเทศที่มีการเรียนด้านดิจิทัลคอนเทนต์มากที่สุด ปีหนึ่งจบมาประมาณ 3,000 คน จากเกือบ ๆ 30 หลักสูตรที่สอน ขนาดงานวิจัยของมาเลเซียยังบอกเลยว่า 1 ในจุดแข็งของเราคือเราสามารถหาบุคลากรใหม่ ๆ ได้ ซึ่งน่าจะนำประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน” นพ กล่าว
ซึ่งภายในงาน BIDC 2019 ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ งานแสดงผลงานด้านดิจิทัลคอนเทนต์ (Showcase) จากผู้ประกอบการไทยกว่า 40 บริษัท เพื่อเผยแพร่ผลงานให้เป็นที่รู้จักและนำไปสู่การต่อยอดทางธุรกิจให้ภาคอุตสาหกรรม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 สิงหาคม และพิธีมอบรางวัลประจำปีด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ในสาขาต่างๆ “BIDC Awards 2019” ให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่มีผลงานโดดเด่นในรอบปี รวม 25 รางวัลจาก 5 กลุ่มอุตสาหกรรมอีกด้วย
หลากมุมมองเหล่าครีเอเตอร์: คาแรกเตอร์ต้องชัดแล้วจะต่อยอดไปช่องทางอื่นได้
เริ่มที่ พิทยะ วีระศักดิ์วงศ์ CEO สำนักพิมพ์ไก่3 เล่าว่าตนเองเริ่มจากการทำร้านขายเสื้อยืดมาก่อน หลังจากนั้นก็ขยายออกมาทำเสื้อยืดต่อ ซึ่งตอนนี้ก็จะเน้นไปที่คาแรคเตอร์ Switch Panda เป็นหลัก โดยมองว่า Art toy หรือสินค้าที่เป็นของเล่นจากคาแรคเตอร์จะเป็นอนาคตของตลาดนี้
“ตอนนี้ตลาดครีเอเตอร์ไปได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์ไลน์ หรือว่า Art toy มันก็อยู่ที่ว่าถ้าคาแรคเตอร์แข็งแรงมันจะพาตัวเองไปยังช่องทางต่าง ๆ ที่มันสามารถไปได้ รวมถึงไปทำสินค้าอย่างอื่นก็ได้อีกเช่นกัน และหลังจากนั้นโอกาสมันก็วิ่งมาหาเราด้วย ซึ่งเราก็ต้องวิ่งไปหาเช่นกัน” พิทยะ กล่าว
ส่วน อลิศรา ชวาลเวชกุล Managing Director ของบริษัท Sweet Summer ผู้ผลิตคาแรคเตอร์ Kuro & Friends ระบุว่าตอนนี้เน้นไปทางการสร้างรายได้ผ่านการผลิตสินค้าออกมาขาย และการขาย License โดยตอนนี้สามารถขายออกไปให้กับตัวแทน (Agent) ของเกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวันได้แล้ว
“เราพยายามสร้างการรู้จักคาแรคเตอร์ของเราให้มากขึ้น โดยเริ่มเน้นการสร้างสินค้าจำพวกเครื่องเขียน และอยากให้เพื่อนในวงการครีเอเตอร์สู้กันต่อในสนามนี้ต่อไป” อลิศรา กล่าว
ทางด้าน ชินโตะ โอคุกาว่า กรรมการผู้จัดการ Quan (Thailand) ระบุว่าโมเดลของเราจะเป็นการแตกบริษัทแม่จากประเทศญี่ปุ่นออกมาประเทศกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการขยายตลาด เนื่องจากเห็นว่ายอดดาวน์โหลดแอป Lounge ที่เคยพัฒนาในอดีตนั้นมีคนไทยดาวน์โหลด และประสบความสำเร็จโดสร้างคาแรคเตอร์แบบกวน ๆ พร้อมกับปล่อยคอนเทนต์การ์ตูนตลก-เสียดสีจนเกิดเป็น Viral ในที่สุด
ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ร่วมมือกับ Facebook, LINE, KakaoTalk เพื่อลงสติกเกอร์ไปแล้ว และเตรียมมีสติกเกอร์บน WhatsApp เร็ว ๆ นี้ โดยเริ่มมองถึงการขาย License หรือ Licensing Model มากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเหล่าครีเอเตอร์หลายรายในไทยก็สามารถขาย License หรือมีการโคร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น
“ตลาดครีเอเตอร์ของไทยกำลังเติบโตครับ ถ้าเทียบกับตลาดครีเอเตอร์ญี่ปุ่น จะพบว่าของไทยคิดเป็น 5-10 เปอร์เซ็นต์ของตลาดญี่ปุ่นที่มีมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะการเติบโตในไทยน่าจะเกิดได้อีกมากขึ้นในอนาคต” ชินโตะ กล่าวทิ้งท้าย