หากยังจำกันได้กับคำกล่าวของผู้ชายคนนี้ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” รักษาการ Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า คู่แข่งของธนาคารในอนาคตไม่ใช่ธนาคารด้วยกันเองอีกต่อไปแล้ว แต่อาจหมายถึง “บริษัทเทคโนโลยี?” ที่จะก้าวขึ้นมาแข่งด้วยแทน แถมยังมาแข่งในเรื่องของ “บริการรับชำระเงิน” ที่เคยเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของ “ธนาคาร” และได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคมาโดยตลอดเสียด้วย
ดังนั้น ในช่วงต้นสัปดาห์ที่สองยักษ์ใหญ่อย่างธนาคารไทยพาณิชย์เปิดตัว SCB Easy 3.0 ก่อนจะตามมาด้วยธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ส่งแอปพลิเคชัน KMA มาให้ได้ยลโฉมกันพร้อมแถลงเกี่ยวกับ “Krungsri Digitalization and Innovation Roadmap” จึงนำไปสู่สถานการณ์ที่หลาย ๆ คนให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งเราขอพาไปชมกันอีกทีว่าแต่ละแอปพลิเคชันนั้นมีคุณสมบัติเด่นอย่างไรบ้าง
SCB Easy 3.0 สู่ Lifestyle Banking
โดยรวม SCB Easy 3.0 ชูความเป็นไลฟ์สไตล์แบงก์กิ้งที่ต้องการเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคปัจจุบันที่มีพฤติกรรมส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน จึงได้ยกระดับด้วยการลงทุนสร้างแพลตฟอร์มให้เข้มแข็งกว่า 4,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกันก็ยืดหยุ่นพร้อมสำหรับการเชื่อมต่อ API กับพาร์ทเนอร์อื่น ๆ ในอนาคต
คุณสมบัติหลักที่ได้รับการพูดถึงก็คือ
- Cardless ATM ที่สามารถกดเงินได้โดยไม่ต้องมีบัตร เพียงทำรายการผ่านแอปพลิเคชันแล้วนำรหัส 6 หลักที่ได้รับไปกดที่ตู้ ATM ก็จะถอนเงินออกมาได้ทันที เหมาะสำหรับคนที่ลืมกระเป๋าสตางค์ หรือคนในครอบครัวที่อาจต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนๅ
- Request Money เป็นบริการใบแจ้งหนี้ เพื่อเก็บเงินปลายทางกรณีไปรับประทานอาหารกันแล้วค่อยมาแชร์ค่าอาหารภายหลัง
- QR Scan Payment เป็นการจ่ายเงินด้วยการสแกน QR Code ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอยู่แล้วในการส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้เงินสด หันมาสู่ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์มากยิ่งขึ้น
- มีบริการปรนเปรอลูกค้า (คุณธนาแกว่าเช่นนั้น) ระดับที่ธนาคารไม่เคยให้กับลูกค้าออมทรัพย์มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นตั๋วหนังฟรี โดนัทฟรี และอื่น ๆ อีกมากมาย
- มีบริการรับประกันความเสียหายจากการทำธุรกรรมบนแอปพลิเคชันเอาไว้ที่วงเงิน 100,000 บาท ซึ่งก็ถือว่าสูงมากทีเดียว
KMA (Krungsri Mobile Application)
ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) คุณฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มาในคอนเซ็ปต์ “เรื่องเงินเรื่องง่าย” ด้วยการปรับโฉม Krungsri Mobile Application (KMA) แพลตฟอร์มโมบายแบงก์กิ้งที่ใช้งานง่ายขึ้น เร็วขึ้น และครบทุกผลิตภัณฑ์ พร้อมรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน อาทิ AI, Robo Advisor, Digital Lending และ Mobile Payment ที่จะทยอยนำเสนอภายในสิ้นปี 2560 นี้
โดยคุณสมบัติเด่นของ KMA ได้แก่
- การนำเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning มาประยุกต์ใช้ในลักษณะ chatbot ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวนี้จะสามารถช่วยตอบคำถามผู้ใช้งานทั้งในแบบข้อความและเสียง (Voice Response) ในอนาคต
- นำ Robo Advisor ซึ่งเป็นบริการให้คำแนะนำด้านการเงินที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้าด้านการลงทุน และการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนได้อย่างเหมาะสม ทำให้การทำงานของพนักงานที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- เทคโนโลยี Digital Lending ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 4 ของปีนี้ โดย KMA จะอำนวยความสะดวกในการเป็นช่องทางดิจิทัลที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการสินเชื่อของกรุงศรีแบบครบวงจร (end-to-end digital lending) เริ่มตั้งแต่การสมัครสินเชื่อ ติดตามผล และรับเงิน หรือ Virtual Card ดู statement แบบเรียลไทม์ผ่าน KMA แพลตฟอร์มได้อีกด้วย
- รองรับการชำระเงินด้วย QR Code ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ซึ่งปัจจุบัน QR Scan เป็นส่วนหนึ่งในเมนูการใช้งานหลักของ KMA เรียบร้อยแล้ว และธนาคารกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับร้านค้าให้สามารถรองรับการจ่าย-โอนเงินผ่าน QR Code ที่เป็นมาตรฐานเดียว พร้อมทั้งมีฟังก์ชั่นการใช้งานเพิ่มเติมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของร้านค้า
- Request To Pay ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ที่ KMA ก็รองรับเช่นกัน
เรียกว่าเป็นการเปิดตัวที่กินกันไม่ลง และต่างฝ่ายต่างก็มีจุดแข็งของตัวเอง รวมถึงมีเสน่ห์ในความเป็นตัวเองกันทั้งคู่
อย่างไรก็ดี คู่แข่งตัวจริงอาจนั่งเงียบ ๆ และกำลังทยอยเก็บลูกค้าไปเรื่อย ๆ อยู่ก็ได้ ซึ่งคู่แข่งที่ว่านี้ก็คือ Facebook Messenger แพลตฟอร์มส่งข้อความที่คนไทยคุ้นเคยนั่นเอง
เพราะท่ามกลางความร้อนแรงของธุรกิจสถาบันการเงินที่เปิดตัวแอปพลิเคชันเวอร์ใหม่กันให้มากมายนั้น เจ้าพ่อ Social Media อย่าง Facebook เองออกมาประกาศว่า จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมของการชำระเงินค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิต – เดบิตผ่านทาง “Facebook Messenger” ของเพจร้านค้าบนระบบนานถึง 3 เดือนเต็ม ๆ (ตั้งแต่ 15 สิงหาคม – 15 พฤศจิกายน)
ซึ่งก็ถือว่าใช้จุดแข็งอย่างได้ผล เพราะในวันที่ร้านค้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม Social Media กันมากขึ้นนี้ การมีบริการชำระเงินอยู่บนแพลตฟอร์มเลยก็ช่วยอำนวยความสะดวกได้ไม่น้อย ไม่ต้องออกไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นเพื่อหาช่องทางการชำระเงิน แถมพอลดค่าธรรมเนียม ยิ่งดูดีเข้าไปใหญ่เลย
ที่สำคัญ ระบบของ Facebook Messenger เองก็ส่งใบแจ้งหนี้ได้เช่นกัน
ส่วนใครที่อาจพลาดไปไม่ทราบว่าสามารถจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตและเดบิตบน Messenger ได้แล้ว ก็ลองเข้ามาทำตามขั้นตอนนี้ได้เลยค่ะ โดยในการเริ่มต้นใช้งาน คุณควรสร้างส่วนร้านค้าเอาไว้เรียบร้อยก่อนแล้ว ให้เข้ามาเลือก “ส่งข้อความเพื่อสั่งซื้อ” เป็นวิธีการชำระเงิน และเลือกสกุลเงินเป็น “บาท” จากนั้นไปที่ “การตั้งค่า” จากหน้าเพจ และคลิก “การชำระเงิน”
- คลิก “ตั้งค่าการชำระเงิน” เพื่อสร้างบัญชีชำระเงินกับ 2C2P
- ปฏิบัติตามขั้นตอนเพื่อ “เชื่อมโยงบัญชีธนาคาร” เพื่อให้คุณสามารถเรียกเก็บเงินได้
- ยืนยันรายละเอียดบัญชีโดยไปที่ส่วนการตั้งค่าบนพอร์ทัลของ QWIK และสามารถเพิ่มวงเงินการทำธุรกรรมและยอดเงินจากการขายที่จะได้รับโอนเข้าบัญชีได้อีกด้วย
หมายเหตุ :สามารถตั้งค่าการรับชำระเงินได้จากคอมพิวเตอร์เท่านั้น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://fb.me/commercepayment